จิปาถะ เรื่องสั้น เหตุเกิดที่สารขัณฑ์ (เปลี่ยนโหมด)

วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2565

จิปาถะ เรื่องสั้น เหตุเกิดที่สารขัณฑ์ (เปลี่ยนโหมด)

เมื่อเรียนจบจากเพาะช่าง ผมก็สมัครเป็นครูโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ จากนั้นพัฒนามาเป็นอาจารย์สอนในมหาลัย จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ตลอดเวลาที่สอน ผมพบว่า วิธีสอนนั้นสำคัญมาก วิชาเดียวกัน ครูคนหนึ่งสอนแล้วสอนอีก ทำอย่างไรก็ไม่เข้าใจ แต่ครูอีกคนสอนครั้งเดียวสว่างจ้าเลย ฉะนั้นวิธีสอนจึงมีความสำคัญมาก

จากความเชื่อดังกล่าว ผมพบว่า วิธีที่ผมสอนนางแต้ม อธิการบดี ม.สารขัณฑ์นั้น ใช้ไม่ได้ การดุด่าว่ากล่าวอย่างสาดเสียเทเสียด้วยความโกรธและเกลียดชัง ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้นางแต้มพบกับความสุขความสว่างได้ ดังนั้นจึงขอเปลี่ยนมาเป็นการสอนแบบ “จิตกรุณา” เพื่อปลดปล่อยความทุกข์ของนางแต้มและเพื่อนๆที่สารขัณฑ์ ด้วยการใช้ “ปัญญา” โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้นางแต้มและทุกคนที่สารขัณฑ์มีความสุขและอิสระจากความทุกข์ให้ได้

เท็นซิน กยัคโส คือ ชื่อของ องค์ทะไลลามะองค์ที่ 14 ซึ่งมีสถานะเป็นทั้งกษัตริย์และประมุขสงฆ์ของประเทศทิเบต คำว่า ทะไล แปลว่า ทะเลหรือมหาสมุทร ลามะ แปลว่า ผู้มีปัญญา ทะไลลามะ จึงมีความหมายว่าผู้มีปัญญาดุจห้วงมหาสมุทร ท่านกล่าวว่า “ความสามารถที่จะทำให้คนอื่นมีความสุขและมีอิสระจากความทุกข์ได้ จะต้องพัฒนาจิตกรุณา (Compassion Mind ) คือการใส่ใจความสุขความทุกข์ของผู้อื่น เพราะปัญหาในชีวิตของคนเรานั้นเกิดจากการหมกหมุ่นหรือพะวงเรื่องผลประโยชน์เล็กๆน้อยๆเฉพาะตัว แต่ตรงกันข้าม หากเราดำเนินชีวิตด้วยการมีจิตกรุณา เราจะเป็นคนที่มีความสุขที่ขยายขอบเขต การที่เรามุ่งช่วยเหลือคนอื่นทำให้เรารู้สึกมีความสุขและพอใจในตนเองมากขึ้น เพราะการช่วยเหลือคนอื่นที่ได้รับความทุกข์ยังกลายเป็นการชำระความเห็นแก่ตัว และชำระการยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตนอีกด้วย”*

การมีจิตกรุณานั้นจะต้องใช้ปัญญา คือจะไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ปรารถนาให้ทุกคนมีความสุขโดยไม่เลือกว่าเป็นศัตรูคู่แค้นหรือเป็นเพื่อนซี้ ด้วยความจริงที่ว่า “พฤติกรรมของคนนั้นเปลี่ยนได้ จากคนดีกลายเป็นเลวก็มีและจากเลวกลายเป็นดีก็ได้

คำถามมีว่า อย่างกรณีนางแต้มที่ทำร้ายเราอย่างแสนสาหัส เราจะมีจิตกรุณากับนางได้อย่างไร มีแต่แค้นที่ต้องชำระเท่านั้น

ตอบว่า จิตกรุณาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของปัญญา บอกให้เรารู้ว่า ทั้งคนที่เรารักและคนที่เราเกลียดชังนั้น ต่างต้องการความสุขและไม่ต้องการความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น และทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะได้รับความกรุณาจากเราในฐานะของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

เมื่อจิตกรุณาสอนให้เรารักเพื่อนและศัตรูอย่างเท่าเทียมกัน เป็นการเปิดพื้นที่จิตใจให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ท่านเปรียบจิตกรุณาเหมือนมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ การเติมยาพิษลงไปจะเจือจางลงและไม่มีผล แต่ถ้าจิตใจคับแคบ จะเหมือนน้ำในแก้ว เพียงเติมยาพิษลงไปเพียงเล็กน้อยก็กลายเป็นน้ำพิษได้

“ปัญญากับกรุณา เป็นประดุจปีกทั้งสองข้างที่พามนุษย์โบยบินสู่อิสระภาพจากความทุกข์ทั้งปวง”*

ทวีศักดิ์ อุชุคตานนท์ และ สุวรรณา โชคประจักษ์ชัด.เพื่อนงาม 2 ทะไลลามะ.สำนักพิมพ์บ้านภายใน.2554. หน้า 20-22)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *