ราหูอมตะวัน : ภาพสะท้อนความดีงามของบรรพชน

ราหูอมตะวัน : ภาพสะท้อนความดีงามของบรรพชน

วันที่ 24 ตุลาคม 2538 ที่จะถึงนี้ จะมีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติปกติธรรมดาอย่างหนึ่ง คือ ปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่กล่าวกันว่าสำคัญและตื่นเต้นกันมากทั้งนักดาราศาสตร์และผู้ที่สนใจทั่วไปก็เพราะเป็นสุริยุปราคาที่เห็นเต็มดวงในประเทศไทย และแนวคราสจะพาดผ่านจังหวัดต่าง ๆ ถึง 11 จังหวัด ได้แก่ ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ลพบุรี อุทัยธานี พิจิตร ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสระแก้ว ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงนี้เกิดขึ้นให้เห็นในประเทศไทยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2498 และจะเกิดให้เห็นในประเทศไทยอีก หลังจากวันที่ 24 ตุลาคม 2538 ในอีก 75 ปีข้างหน้า
ปรากฏการณ์สุริยุปราคานั้น เกิดขึ้นจากดวงจันทร์โคจรรอบโลก และโลกโคจรรอบดวง อาทิตย์ ถ้าดวงอาทิตย์ โลกและดวงจันทร์โคจรมาอยู่แนวเดียวกัน กล่าวคือ ถ้าดวงจันทร์อยู่ตรงกลางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์เงาของดวงจันทร์จะทอดยาวมาบังบางส่วนของโลก ปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นในเวลากลางวัน เรียกว่า สุริยุปราคา แต่ถ้าโลกอยู่กลางแสงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลก ทำให้เกิดเงาทอดยาวไปยังดวงจันทร์ อาจบังทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ ดวงจันทร์ก็จะมืดในช่วงเวลาที่อยู่ในเงาโลก ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในเวลากลางคืน เรียกว่า จันทรุปราคา
ในอดีต ปรากฏการณ์ทั้งสองอย่างนี้ คนไทยเรียกว่า จันทรคราสและสุริยคราส และเรียกจันทรคราสจนติดปากว่า ราหูอมจันทร์ ส่วนสุริยคราส หรือราหูอมพระอาทิตย์ไม่ค่อยมีใครเรียก


ราหูนั้น ตามตำนาน ( มีหลายตำนาน ) ตำนานหนึ่งกล่าวว่า เกิดขึ้นจากพระอิศวรนำหัว ผีโขมด 12 หัว มาป่นและประพรมด้วยน้ำอมฤตเกิดเป็นราหูมีร่างกายส่วนบนเป็นมนุษย์ หน้าตาดุร้าย ร่างกายส่วนล่างเป็นงู
สาเหตุที่ราหูมีครึ่งตัวและจองเวรจองกรรมกับพระอาทิตย์และพระจันทร์นั้น มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยหนึ่งเมื่อเทวดาและอสูรเข้าร่วมพิธีกวนเกษียรสมุทรเพื่อทำน้ำอมฤต ราหูได้แปลงตัวเป็นเทวดาเข้าไปในเทพชุมนุมและได้กินน้ำอมฤตด้วย พระอาทิตย์ พระจันทร์ เห็นเข้าจึงได้ฟ้องพระนารายณ์ พระนารายณ์ทรงกริ้วขว้างด้วยจักรถูกราหูขาดเป็น 2 ท่อน อาศัยที่ราหูได้ดื่มน้ำอมฤตจึงไม่ตาย ท่อนหัวไปอยู่ในอากาศเป็นพระราหูคอยจับพระอาทิตย์และพระจันทร์กินหรืออม เพื่อเป็นการแก้แค้นอยู่เนือง ๆ หรือที่เรียกว่า จันทรคราส และสุริยคราส ปรากกให้เห็นอยู่เสมอ ๆ ส่วนท่อนหางไปเป็นดาวพระเกตุ อยู่ในอากาศเช่นกัน ( สัจจาภิรมย์ . 2507 : 59 – 61 )
“ราหูหมายถึงกิเลส ดวงจันทร์หมายถึงจิต ถ้าปล่อยให้ราหูอมคือเกิดคราส ดวงจันทร์ก็จะถูกบังจนมืดมิด เหมือนจิตมนุษย์ที่ถูกกิเลสบดบังจนมองไม่เห็นสภาวะความจริงใด ๆ ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้โบราณชนท่านจึงนิยมทำรูปราหูไว้ตรงหน้าศาสนสถานเพื่อเตือนใจผู้คนให้ล่วงรู้ ความจริงข้อนี้”  (น.ณ. ปากน้ำ. 2522 : 356)
ในทางศิลปะภาพราหูปรากฏในงานศิลปะไทย ทำเป็นรูปหน้ายักษ์แสดงทางด้านหน้า ไม่มีลำตัว มีแต่ส่วนแขนจับรูปกลมที่เป็นสัญลักษณ์แทนพระอาทิตย์แลพระจันทร์อมหรือกิน มีทั้งจิตรกรรมและประติมากรรม มักจะประดับไว้ตามซุ้มประตูทางเข้าศาสนสถาน หรือประดับหน้าบันโบสถ์ วิหารทั่วไป เช่น ภาพราหูแกะสลักด้วยไม้ ประดับหน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถ วัดหน้าพระเมรุ เป็นต้น
รูปราหูอมจันทร์ที่เก่าแก่นั้น น่าจะได้แก่รูปราหูอมจันทร์ปูนปั้นประดับซุ้มประตูกำแพงศิลาล้อมรอบบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง จ. สุโขทัย
ส่วนจิตรกรรมนั้น ปรากฏรูปราหูอมจันทร์ที่หลังตู้พระธรรม ตู้ขาหมูมีลิ้นชัก ทะเบียน กท. 207 สมัยรัตนโกสินทร์ ได้มาจากวัดใหญ่สุวรรณาราม จ. เพชรบุรี เมื่อ พ.ศ. 2466 ทำเป็นรูปราหู (ยักษ์) อมจันทร์ ภายในดวงจันทร์มีรูปกระต่าย ด้านล่างมีรูปครุฑคาบแก้ว 2 ตัว
กล่าวกันว่า รูปราหูนั้นได้แบบอย่างมาจากรูปเกียรติมุขหรือหน้ากาล เนื่องจากมีลักษณะคล้ายกัน คือ “ ภาพเกียรติมุข เป็นรูปหน้าขบหรือยักษ์คล้ายราหู มีแต่หัวไม่ขากรรไกร มีมาตามคติพราหมณ์ เรื่องเดิมมีอยู่ว่า
ครั้งหนึ่งพระอิศวร เกิดพิโรธอย่างรุนแรงจนเกิดตัวเกียรติมุข  กระโดดออกมาจากหน้าตรงระหว่างคิ้วที่ขมวดนั้น ตัวเกียรติมุขหรือตัวโกรธนี้ เมื่อบังเกิดขึ้น มันก็หิวทันที มันเริ่มกินทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเอง เมื่อไม่มีอะไรกินมันก็เริ่มกินตัวมันเอง คือ แขน ขา ลำตัว จนเหลือแต่หัว ขณะนั้นพระอิศวรทรงทอดพระเนตรดูโดยตลอด ได้เห็นโทษของความโกรธอันทำให้เกิดตัวเกียรติมุขนั้น พระองค์จึงตรัสกับตัวเกียรติมุขว่า ลูกเอ๋ยพ่อเห็นแล้วว่า ความโกรธนี้มันเผาผลาญหมดทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ตัวเอง เจ้าจงไปประดิษฐานอยู่ตรงหน้าบันหรือส่วนมุขของเทวลัยเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติมวลมนุษย์ทั่วไปให้รู้จักยับยั้งความโกรธเสีย  ตัวเกียรติมุขจึงปรากฏตามเทวสถานทั่วไปจนบัดนี้
ตัวเกียรติมุขนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หน้ากาละ หมายถึงกาลเวลาย่อมกินตัวเอง และทำลายทุกสิ่งทุกอย่างให้หมดสิ้นไป มนุษย์จึงไม่ควรประมาทเมื่อคดินี้พลัดมาสู่ชาวพุทธจึงได้คิดแปลงเป็นตัวราหู บาทีก็เป็นรูปอมจันทร์” ( น.ณ. ปากน้ำ. 2522 : 37 – 38 )
ในทางศิลปะ รูปเกียรติมุขหรือหน้ากาล “ทำเป็นรูปใบหน้าสัตว์ประหลาดชนิดหนึ่ง ลักษณะใบหน้าผสมผสานคล้ายกับมนุษย์ประเภทดุร้ายกับสัตว์ประเภทเสือ ส่วนที่เป็นจมูกมีลักษณะป้านแบน   ดวงตากลมพองถลนออกมา บางครั้งจากดวงตานี้มีเขาขนาดเล็กงอกต่อขึ้นไป ใบหน้าตอนบนช่วงหน้าผากมักทำเป็นลวดลายอย่างใบไม้ อ้าปากกว้าง ริมฝีปากบนมีฟันและเขี้ยว ไม่มีริมฝีปากล่าง   ใบหน้าสัตว์ประหลาดอย่างนี้บางครั้งตอนล่างของปากมีมือ อย่างมนุษย์หรือ    อุ้งเท้าสัตว์ปรากฏอยู่สองข้าง” (กรมศิลปากร. 2531 : 30 – 31)
รูปเกียรติมุข ปรากฏแพร่หลายมากในศิลปะขอม มักจะแกะสลักไว้ทับหลังประตูทางเข้าเทวสถานทั่วไป กล่าวกันว่าเริ่มตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 โดยได้แบบอย่างมาจากศิลปสมัย
ศรีวิชัย
“สันนิษฐานกันว่า เกียรติมุขนี้คงจะแผ่เข้ามาในประเทศไทยในสมัยทวารวดี และสมัยศรีวิชัย มีคติเชื่อกันว่า เกียรติมุขนี้เป็นยันต์เป็นเทพเจ้ารักษาธรณีประตู เป็นเครื่องป้องกันบ้านเรือน ขับไล่เสนียดจัญไร ในอินเดียถือว่าเกียรติมุขจะคอยคุ้มครองผู้นับถือพระศิวะ ที่มาของเกียรติมุขนี้บางท่านเข้าใจว่ามีกำเนิดในอินเดียก่อน บางท่านเข้าใจว่ามีกำเนิดในประเทศใดประเทศหนึ่งในทวีปเอเชียนี้ อาจจะได้มาจากธิเบตก็ได้ บางท่านว่ากำเนิดเดิมอยู่ที่ประเทศจีน ยังมีรูปเรียกว่า  ต่าวเจียว (T’ao T’ieh) เทพเจ้าผู้ตะกละ เป็นรูปทำนองเดียวกับเกียรติมุขของอินเดีย ปรากฏอยู่ในภาชนะสัมฤทธิ์จีนสมัยซางหรือหยิน ( 850 – 550 ปีก่อนพุทธกาล ) ซึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑ์กีเมต์ กรุงปารีส แล้วแผ่ไปยังอินเดียโดยทางบก ปรากฏอยู่ในศิลปะอินเดียสมัยอมราวดีและคุปตะ ที่น่าสังเกตุอีกประการหนึ่ง คือ ลายเฉพาะที่มีแต่หน้าแบบเกียรติมุขนี้ ยังพบในลายของพวกอินเดียแดงอีกด้วย สันนิษฐานว่าจะไปจากประเทศจีนครั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ (สารานุกรมไทย. 2499 – 2502 : 1557)
ในศิลปะไทย รูปเกียรติมุขที่น่าสนใจ ได้แก่รูปเกียรติมุขดินเผาสมัยเชียงแสน จากเจดีย์วัดป่าสักในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 19    และรูปเกียรติมุขสมัยสุโขทัยในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุโขทัย ราวพุทธศตวรรษที่ 19 – 20
จากการศึกษารูปเกียรติมุขและรูปราหู มีข้อสังเกตุ ดังนี้
–  รูปราหูและรูปเกียรติมุขที่ปรากฏในศิลปไทยสมัยแรก ๆ นั้น ได้รับอิทธิพลขากศิลปะขอมและศิลปะสมัยศรีวิชัย จึงมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับตัวศิลปกรรมที่พบถ้ามีสภาพสมบูรณ์ก็สามารถบอกได้โดยง่ายว่าเป็นรูปราหูหรือรูปเกียรติมุข กล่าวคือ ถ้าเป็นราหูจะมีรูปกลมอยู่ที่ปากหรือเว้นว่างไว้ สาเหตุที่เว้นว่างไว้ เข้าใจว่าคงใช้เป็นเครื่องเตือนว่า เมื่อเกิดสุริยคราสนั้นไม่ควรดูดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า แต่ถ้ามีลวดลายที่คายออกมาจากปากจะเป็นรูปเกียรติมุข แต่เนื่องจากวัตถุที่พบอยู่ในสภาพชำรุดเป็นส่วนใหญ่ จึงมักเรียกสับสนกันอยู่เสมอ ๆ   ส่วนในสมัย    รัตนโกสินทร์ รูปราหูได้คลี่คล้ายมาเป็นแบบไทยอย่างเด่นชัดแล้ว
–  ถ้าหากยอมรับว่ารุปราหูเป็นคติของชาวพุทธที่ได้รับจากรูปเกียรติมุขในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูแล้ว อาจจำแนกได้ง่ายขึ้น กล่าวคือ ถ้ารูปลักษณะดังกล่าวมาใช้ประดับตกแต่งเทวสถานจะเป็นรูปเกียรติมุขแต่ถ้าใช้ประดับตกแต่งพุทธสถานจะเป็นรูปราหู     แต่มีข้อยกเว้นเนื่องจากศาสนสถานทั้งพุทธและพราหมณ์นั้น อาจถูกปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย รวมไปถึงรูปที่ใช้ประดับตกแต่งด้วย
อย่างไรก็ตาม  ทั้งรูปราหู   และรูปเกียรติมุขนั้น        นอกจากจะใช้เพื่อประดับตกแต่ง  ศาสนสถานให้สวยงามแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงยุทธวิธีในการอบรมสั่งสอนผู้คนให้เข้าใจถึงความดีงาม โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อ       แต่ในปัจจุบัน  สื่อดังกล่าวไม่มีความหมายอีกต่อไปแล้ว การอบรม   สั่งสอนในเรื่องความดีงามนั้นปรับเปลี่ยนไปตามสื่อหลากหลายที่เกิดขึ้นมาแทนงานศิลปะ เราจึงได้รับรู้ความหยาบที่ถ่ายทอดมาสู่ตัวเราอย่างง่ายและรวดเร็ว เช่น เรื่องหม่อนลูกปลากตัญญูพิศวาส ยันตระมหาเสน่ห์ : เณรแอจอมคาถาย่างทารก หรือหอมกลิ่น  “ ขี้เรื้อน”   กลุ่ม 16 ไวรัส “หางด้าน” ฯลฯ แต่สิ่งที่ดีงามนั้นช่างหายากเสียเหลือเกิน

หนังสืออ้างอิง

น.ณ. ปากน้ำ.พจนานุกรมศิลป์.พิมพ์ครั้งที่ 2 . กรุงสยามการพิมพ์ , 2522.
สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตสถาน ( เล่ม 3 ) พิมพ์ครั้งที่ 1. รุ่งเรืองธรรม . 2499 – 2502.
สัจจาภิรมย์ , พระยา . เทวกำเนิด. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , 2507.
วิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ. ราหูอมอาทิตย์หรือจันทร์? วารสารคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา, 2438.
Jeannine Auboyer and other . Forms & Styles Asia. Benedikt Taschen Verlag GmbH , 1994.

อธิบายภาพประกอบ

–  เกียรติมุขจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุโขทัย จ.สุโขทัย ( Forms &Styles Asia. 1994 : 185 )
–  เกียรติมุขดินเผา วัดป่าสัก จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน จ.เชียงราย
( Forms &Styles Asia. 1994 : 185 )
–  หน้ากาลหิน จาก Jago Candi , in Situ ประเทศอินโดนีเซีย ( Forms &Styles Asia. 1994 : 283 )
–  เกียรติมุขหิน จาก Singasari Candi , in Situ. ประเทศอินโดนีเซีย
( Forms &Styles Asia. 1994 : 283 )
–  เกียรติมุขปูนปั้นประดับเสาซุ้มเจดีย์ วัดป่าสัก อ. เชียงแสน จ. สุโขทัย

Comments are closed.