ราหูอมอาทิตย์หรือจันทร์

ราหูอมอาทิตย์หรือจันทร์
วารสารคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา 2538 : 33 – 38

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ดวงจันทร์นั้นโคจรรอบโลกในขณะเดียวกันทั้งโลกและดวงจันทร์ก้โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วย ถ้าดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่บนเส้นตรงเดียวกัน จะเกิดอุปราคาขึ้น กล่าวคือ ถ้าดวงจันทร์อยู่ตรงกลางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์เงามืดของดวงจันทร์จะทอดยาวมาบังบางส่วนของโลก ปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นในเวลากลางวัน เรียกว่า สุริยคราส หรือสุริยุปราคา แต่ถ้าโลกอยู่ตรงกลาง แสงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลก ทำให้เกิดเงาทอดยาวไปบังดวงจันทร์ อาจบังทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ ดวงจันทร์ก็จะมืดในช่วงเวลาที่อยู่ในเงาโลก ปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นในเวลากลางคืน เรียกว่า จันทรคราสหรือจันทรุปราคา
จันทรุปราคานั้น คนไทยรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ราหูอมจันทร์ซึ่งเกิดจากความเชื่อที่ว่า ราหูซึ่งเป็นยักษ์จะคอยจับพระจันทร์กิน ฉะนั้นเมื่อเกิดราหูอมจันทร์ ชาวโลกก็จะคอยช่วยดวงจันทร์ โดยทำให้เกิดเสียงอึกทึกครึกโครม ตีเกราะเคาะไม้ ยิงปืนขึ้นท้องฟ้า เพื่อหวังว่าราหูจะได้ตกใจคายพระจันทร์ออกมาและหนีไปเสีย ยังสร้างความสนุกสนานทั้งผู้ใหญ่และเด็กที่ได้พากันออกมาสร้างเสียงอึกทึกนั้น ๆ อีกด้วย


ราหูนั้น ตามตำราทางไสยศาสตร์กล่าวว่า เป็นพวกแพตย์ ( หน่าดุคล้ายยักษ์ ) เป็นบุตรท้าววิประจิตติกับนางสิงหิกา เมื่อเกิดมามีหางเป็นนาค ( งู ) มีที่อยู่ในอากาศ วิมานเป็นสีนิล มีครุฑเป็นพาหนะ ส่วนตำราโหราศาสตร์กล่าวว่า พระอิศวรเป็นผู้สร้างราหูขึ้น โดยใช้หัวผีโขมด 12 หัว มาป่นและประพรมด้วยน้ำอมฤต ก็บังเกิดเป็นพระราหูขึ้น และตำราที่ว่าด้วยดาวนพเคราะห์ได้จัดราหูว่าเป็นดาวก้อนหนึ่ง และสมมุติว่าโลกที่เราอยู่นี้เป็นดาวราหู
ส่วนสาเหตุที่ราหูมีครึ่งตัวและจองเวรจองกรรมกับพระอาทิตย์และพรจันทร์นั้น มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยหนึ่งเมื่อเทวดาและอสูรเข้าร่วมพิธีกวนเกษียรสมุทร์เพื่อทำน้ำอมฤต ราหูได้แปลงตัวเป็นเทวดาเข้าไปในเทพชุมนุมและได้กินน้ำอมฤตด้วย พระอาทิตย์ พระจันทร์ เห็นเข้าจึงได้ฟ้องพระนารายณ์ พระนารายณ์ทรงกริ้ว ขว้างด้วยจักรถูกตัวราหูขาดเป็น 2 ท่อน อาศัยที่ราหูได้ดื่มน้ำอมฤตจึงไม่ตาย ท่อนหัวไปอยู่ในอากาศเป็นราหูคอยจับพระอาทิตย์และพระจันทร์กินหรืออม เพื่อเป็นการแก้แค้นอยู่เนือง ๆ หรือที่เรียกว่า จันทรคราส และสุริยคราส ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ ๆ ส่วนท่อนหางไปเป็นดาวพระเกตุ อยู่ในอากาศเช่นกัน ( สัจจาภิรมย์. 2507 : 59 – 61 )
รูปร่างลักษณะของราหูที่มีอยู่ 2 แบบ คือ แบบหนึ่งจะมีหน้าคล้ายยักษ์ มีหางเป็นหางนาค มีมือ 2 มือ อีกแบบหนึ่งจะมีหน้าคล้ายยักษ์ไม่มีลำตัว สีทองสำริด แต่ส่วนใหญ่มักจะทำเป็นรูปยักษ์สีเขียวสวมมงกุฏ และอมพระจันทร์
ในศิลปไทยนั้น ได้มีการทำภาพราหูทั้งงานประติมากรรมและงานจิตรกรรม แต่จะทำเป็นเพียงส่วนประกอบของภาพเรื่องสำคัญอื่น ๆ ที่ใช้ประดับตกแต่งงานสถาปัตยกรรม เช่น ซุ้มประตู หน้าบันพระอุโบสถ บานประตูหน้าต่าง เป็นต้น
ภาพราหูอมจันทร์นั้น จะทำเป็นรูปหน้ายักษ์ที่แสดงทางด้านหน้าสวมมงกุฏ ไม่มีส่วนลำตัว ใช้มือทั้งสองจับรูปกลมที่เป็นลักษณะของดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์ไว้ที่ริมฝีปาก มีรูปแบบอย่างเดียวกันทั้งประติมากรรมและจิตรกรรม อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ปรากฏว่าทำรูปท่าทางอย่างอื่น
ภาพราหูอมจันทร์ที่เก่าแก่นั้น น่าจะได้แก่ภาพราหูอมจันทร์ปูนปั้นประดับซุ้มประตูกำแพงศิลาล้อมรอบบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง อ. ศรีสัชชนาลัย จ. สุโขทัย ทำเป็นรูปหน้ายักษ์อมดวงจันทร์อยู่เหนือยอดซุ้มกำแพง
ตัวอย่างภาพราหูอมจันทร์ในสมัยอยุธยา ได้แก่ภาพสลักด้วยไม้ภาพนารายณ์ทรงครุฑด้านล่างเป็นรูปนาคและรูปราหูอมจันทร์ท่ามกลางเทพชุมนุม หน้าบันด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถ วัดหน้าพระเมรุ อ. พระนครศรีอยุธยา จ. พระนครศรีอยุธยา และภาพปูนปั้นประดับด้วยกระเบื้อง หน้าบันพระอุโบสถวัดยางสุทธาราม สามแยกไฟฉาย ธนบุรี ทำเป็นรูปเทวดาฝรั่งอยู่เหนือภาพราหูอมจันทร์ ตกแต่งด้วยลายพันธุ์พฤกษา
ส่วนจิตรกรรมนั้น ปรากฏภาพราหูอมจันทร์ที่หลังตู้พระธรรม ตู้ขาหมูมีลิ้นชักทะเบียน กท. 207 สมัยรัตนโกสินทร์ ได้มาจากวัดใหญ่สุวรรณาราม จ. เพชรบุรี เมื่อ พ.ศ. 2466 ทำเป็นภาพราหู ( ยักษ์ ) อมพระจันทร์ ภายในดวงจันทร์มรูปกระต่าย ด้านล่างมีรูปครุฑคาบแก้ว 2 ตัว
ในจิตรกรรมฝาผนัง ปรากฏภาพราหูที่ส่วนบนของเสาต้นที่สองด้านทิศตะวันออกในพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม กทม. ทำเป็นรูปหน้ายักษ์สีเขียว สวมมงกุฏ อมรุปกลมสีขาว ภายในรูปกลมไม่มีรูปกระต่าย เหนือรูปราหูมีรูปปราสาท 1 หลัง และด้านใต้รูปราหูมีรูปปราสาท 2 หลัง ส่วนที่อื่น ๆ รูปราหูมักจะทำเป็นรูปหน้ายักษ์ ที่ปากแทนที่จะเป็นรูปกลมแต่ทำเป็นรูปกินนาค 2 ตัวแทน มักจะเขียนเป็นส่วนประกอบของภาพเรื่องพระพุทธประวัติ ตอนผจญมาร ผนังด้านหน้าพระประธานในพระอุโบสถ โดยเขียนรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งบนรัตนบัลลังก์ที่กึ่งกลางภาพด้านซ้ายและขวาเป็นรูปกองทัพมาร ใต้รูปพระพุทธเจ้าเป็นรูปแม่พระธรณีบีบผมมวย ด้านใต้สุดเป็นภาพราหูกินนาค
รูปราหูในจิตรกรรมฝาผนังจะทำเป็นหน้ายักษ์สีเขียว สวมมงกุฏสีทองที่ปากอมพระจันทร์ หรือกินนาค อยู่ในกรอบเส้นโค้งที่มีพื้นสีแดงและจะทำคล้าย ๆ กันแทบทุกแห่ง เช่น จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดราชสิทธาราม ธนบุรี พระอุโบสถวัดดุสิดาราม คลองบางกอกน้อย ธนบุรี พระอุโบสถวัดช่องนนทรีย์ กรุงเทพ ฯ และวัดใหญ่อินทราราม เป็นต้น
ส่วนในภาคอีสาน ปรากฏภาพราหูอมจันทร์ ประดับตกแต่งสิม ( โบสถ์อีสาน ) และองค์พระบรมธาตุ มีตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ
– ภาพแกะสลักไม้บานประตูสิมเก่า วัดสุวรรณาวาส บ้านโคกพระ ต. โคกพระ อ. กันทรวิชัย จ. มหาสารคาม ซึ่งมีประตูกทางเข้าประตูเดียว บานประตูแกะสลักเป็นภาพทวารบานทั้งสองบาน ใต้ภาพทวารบาน บานประตูด้านซ้าย ทำเป็นภาพเทวดาเหาะ ส่วนบานด้านขวาทำเป็นรูปราหูอมจันทร์ มือทั้งสองจับดวงจันทร์ไว้ ภายในดวงจันทร์ทำเป็นรูปกระต่ายด้วย
– ภาพปูนปั้นประดับผนังด้านนอกด้านทิศเหนือสินเก่า วัดพระศรีมหาโพธิ์ บ้านหว้านใหญ่ ต. หว้านใหญ่ อ. หว้านใหญ่ จ. มุกดาหาร ทำเป็นรูปยักษ์ ระบายสีบริเวณที่เป็นดวงจันทร์ เจาะเป็นช่องกลม เพื่อให้เป็นช่องแสงสว่างของอาคาร
– ภาพปูนปั้นระบายสี บริเวณซุ้มประตูเรือนธาตุ พระธาตุเรณู ต. เรณู อ. เรณู จ. นครพนม
ในภาคอีสานยังมีพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เรียกว่า พิธีส่งราหู ซึ่งชาวอีสานมีความเชื่อว่า ราหูเป็นเทพฝ่ายมาร ผิวสีดำ มีฤทธิ์มาก สามารถบดบังพระอาทิตย์และพระจันทร์ได้ และเชื่อว่าเมื่อมีคนอายุครบรอบ 12 ปี ความทุกข์ร้อน กลุ้มอกกลุ้มใจ เจ็บไข้ได้ป่วย อาจเกิดอุบัติเหตุหรือตายได้ ดังนั้นโบราณจึงมีธรรมเนียมส่วนราหู เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข นิยมทำกันในวันเสาร์ ( สวิง. 2536 : 121 )
พิธีกรรมก้คือนิมนต์พระมากเพื่อใส่บาตรแล้วก็ฝากราหูไปกับพระจากตัวอย่างภาพราหูอมจันทร์ และราหูอมพระอาทิตย์ ตามที่กล่าวมามีข้อน่าสังเกตหลายประการ ดังนี้
1. ที่หน้าบันพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ จ. พระนครศรีอยุธยา ปรากฏภาพราหูทั้งหน้าบันด้านหน้าและหน้าบันด้านหลัง โดยทำภาพราหูอมจันทร์ไว้ที่หน้าบันด้านหลัง ส่วนด้านหน้าทำเฉพาะรูปราหูที่บริเวณปากเว้นว่างไว้ น่าเชื่อว่าเป็นภาพราหูอมพระอาทิตย์ แต่เว้นรูปพระอาทิตย์ไว้ ซึ่งอาจจะเป็นการเตือนว่า เวลาเกิดสุริยคราสนั้น ไม่ควรดูพระอาทิตย์ตาเปล่า สอดคล้องกับภาพราหูอมจันทร์ที่ประตูสิมเก่า วัดสุวรรณาวาส จ. มหาสารคาม และรูปราหูอมจันทร์ หลังตู้พระธรรม ตู้ขาหมูมีลิ้นชัก จากวัดใหญ่สุวรรณาราม จ. เพชรบุรี ภาพราหูอมจันทร์ทั้งสองแห่งบนดวงจันทร์ทำเป็นรูปกระต่ายแตกต่างไปจากภาพราหูที่เสาวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม กทม.ที่วงกลมที่ปากราหูไม่มีรูกระต่าย และรูปกลมระบายสีขาว อาจทำให้เชื่อได้ว่า ถ้าในวงกลมมีรูปกระต่ายจะเป็นรูปราหูอมจันทร์และถ้าไม่มีรูปกระต่ายจะเป็นรูปราหูอมพระอาทิตย์ ซึ่งตรงกับเรื่องราวของพระราหูที่ว่า “พระราหูจะคอยจับพระอาทิตย์และพระจันทร์กินหรืออม เพื่อเป็นการแก้แค้นอยู่เนือง ๆ ที่เราเรียกว่าจันทรุปราคา และสุริยุปราคา” ( สัจจาภิรมยฺ. 2507 : 61 )
อนึ่ง ภาพปูนปั้นประดับสิมเก่า วัดศรีมหาโพธิ์ จ. มุกดาหาร ที่ทำรูปราหูโดยเจาะผนังเป็นช่องกลมให้แสงส่องผ่านเข้าไปในอาคาร อาจทำให้เชื่อได้ว่าราหูรูปนี้มีสองนัย กล่าวคือ ในเวลากลางวันเมื่อแสงส่องผ่านเข้าในในอาคารทางช่องกลมภาพนี้จะเป็นภาพราหูอมพระอาทิตย์และในเวลากลางคืน เมื่อแสงจันทร์ส่องผ่านเข้าไปในอาคารทางช่องกลมภาพนี้จะเป็นภาพราหูอมจันทร์
2. ในสมัยอยุธยา ถึงแม้อิทธิพลตะวันตกจะแพร่เข้ามามาก ดังจะเห็นได้ว่า ที่หน้าบันพระอุโบสถวัดยางสุทธาราม ธนบุรี ทำเป็นรูปเทวดาฝรั่ง แต่ภาพราหูยังคงทำเป็นแบบไทยแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้รูปแบบของฝ่ายเทพจะเปลี่ยนไป แต่รูปแบบของเทพฝ่ายมาร ก็ยังคงรักษาความเป็นไทยไว้ได้ ชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาและการอนุรักษ์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กันและช่างไทยสามารถสร้างความกลมกลืนจากความแตกต่างได้เป็นอย่างดี
3. วิวัฒนาการของรูปราหูนั้น ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนัง คือส่วนที่เป็นรูปดวงจันทร์จะหายไปเปลี่ยนเป็นรูปนาค 2 ตัวแทน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เชื่อได้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงรูปราหูอมจันทร์ ซึ่งอาจคลายความเชื่อลงแล้ว มาเป็นลักษณะของภาพหน้ากาล (เกียรติมุข) ซึ่งมีหน้าเป็นยักษ์และไม่มีลำตัวเช่นกัน ซึ่งนิยมทำกันอยู่ก่อนแล้ว
จากเรื่องราวเกี่ยวกับพระราหู ภาพราหุอมจันทร์และอมพระอาทิตย์ตามที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าราหูนั้นมีบทบาทต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในอดีต การทำพิธีส่งราหูนั้นเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ต่อไปชีวิตความเป็นอยู่จะร่มเย็นเป็นสุข และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้คน ส่วนกิจกรรมที่ร่วมกันช่วยขับไล่ราหูให้ออกไปจากดวงจันทร์ โดยการร่วมกัน ตีเกราะเคาะไม้ เพื่อให้ราหูตกใจและหนีไป เป็นการสร้างความรักความสามัคคีให้รู้จักร่วมกันช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในสังคมเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้น รูปราหูที่ปรากฏอยู่ตามศาสนสถานต่าง ๆ ในอดีตคงจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องช่วยเตือนสติให้ผู้คนในสมัยนั้น ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท รู้จักสร้างคุณงามความดี มีความเอื้ออาทรต่อกัน และร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันแลกกัน เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ดังเช่นการร่วมแรงร่วมใจกันช่วยเหลือพระจันทร์กับพระอาทิตย์ยามถูกรุกรานจากราหู ฉะนั้น คราวที่สุริยุปราคาเต็มดวง อันจะปรากฏให้เห็นในประเทศไทย ในวันที่ 24 ตุลาคม ที่จะถึงนี้เราจะดูสุริยุปราคาและในขณะเดียวกัน คงจะถามตัวเอง ว่าเราจะสร้างความรู้สึกรัก ผูกพัน ห่วงใย ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ให้เหมือนเช่นในอดีตได้อย่างไร

เอกสารอ้างอิง

วรรณิภา ณ สงขลา. จิตรกรรมไทยประเพณี เล่ม 1. ชุมนุมสหกกรการเกษตรแห่งประเทศไทย, 2523.
ศิลปากร. แหล่งท่องเที่ยวอีสานบน. โอ เอส พรินต์ เฮาส์, 2534.
. ตู้ลายทอง. อรุณการพิมพ์, 2530.
สวิง บุญเจิม. ตำรามรดกอีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 2 มรดกอีสาน, 2536.
สัจจาภิรมย์, พระยา. เทวกำนิด. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2507.
อนุวิทย์ เจริญศุภกุล. องค์ประกอบสถาปัตยกรรมไทย. สตรีสาร, 2521.

Comments are closed.