แหวกม่านหมอกที่พร่ามัว

เศียรพระพุทธรูปหินทราย  วัดมหาธาตุ  อยุธยา

แหวกม่านหมอกที่พร่ามัว
สู่ … นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาน : มรดกโลก

The Historic City of Ayutthaya : The World Heritage

รศ.วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ

หนังสือที่ระลึกฉลอง อยุธยามรดกโลก 2537 : 60 – 75

บทนำ
จะเนื่องด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม เรื่องราวของนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการยกย่องและขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ( UNESCO ) ยังมิได้รับรู้กันอย่างแพร่หลายเท่าที่ควร ถึงแม้ว่าจะได้จัดให้มีการเฉลิมฉลองกันไปครั้งหนึ่งแล้วและจะมีการฉลองกันอีกเป็นครั้งที่สองในวันที่ 13 – 19 ธันวาคม 2537 ที่จะถึงนี้ก็ตาม
นอกจากจะมิได้รับรู้กันอย่างแพร่หลายแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งได้แก่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเองในฐานะเป็นเจ้าของพื้นที่ กรมศิลปากรในฐานะผู้รับผิดชอบด้านโบราณสถานของชาติ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมอันเป็นหน่วยงานร่วมรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในฐานะส่งเสริมการท่องเที่ยว ฯลฯ หน่วยงานเหล่านี้ยังได้สร้างความสับสนให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนชาวไทยทั่วไป โดยการประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจไขว้เขวไปว่า อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริง นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ต่างหากที่ได้รับการขึ้นบัญชี ส่วนอุทยานประวัติศาสตร์ฯ นั้น เป็นเพียงเนื้อที่ส่วนหนึ่งในนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเท่านั้น
และเนื่องจากความสับสนที่เกิดขึ้นจากการได้รับข้อมูลที่ผิดเพี้ยนไป รวมทั้งแผน แม่บท ฯ ที่ทำไว้ก่อนที่นครประวัติศาสตร์อยุธยาจะได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก ที่มุ่งเน้นเฉพาะการพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ ฯ เป็นส่วนใหญ่ จึงมิได้สนใจพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อื่นโดยรอบ จนเป็นเหตุให้มีการบุกรุกทำลายสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณสถานไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถรักษาความเป็นนครประวัติศาสตร์เอาไว้ได้ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้องค์การยูเนสโก ลบบัญชีรายชื่อออกไปจากมรดกโลกตามที่เป็นข่าวในสื่อมวลชนทั่วไปในขณะนี้
เพื่อความกระจ่างในบางจุด ผู้เขียนขอเสนอเรื่องราวของนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยามรดกโลก เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างความเข้าใจร่วมกัน ดังนี้

อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก
องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations –Educational Scientific and Cultural Organiation = UNESCO) ได้ประชุมสมัยสามัญที่ 17 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 ได้มีแนวคิดที่ว่า การป้องกันพิทักษ์สมบัติวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก เป็นความจำเป็นและเป็นภาระร่วมกันของมนุษยชาติ มิใช่เป็นของประเทศใดประเทศหนึ่ง
จากแนวความคิดดังกล่าว องค์การยูเนสโก จึงได้มีมติรับรอง “อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก (Convention Concerning the Protection of the World cultural Heritage and Natural Heritage ) อนุสัญญาฯ นี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นภาคีจนถึงปี 2536 รวมทั้งสิ้น 134 ประเทศ” ( สำนักงานนโยบายและแผน-สิ่งแวดล้อม. 2536 : 8 )
การที่ประเทศต่าง ๆ ได้ลงนามตามอนุสัญญา ฯ ดังกล่าว ได้มีปฏิญาณร่วมกันในการที่จะรักษาอาณาเขตสถานที่แหล่งธรรมชาติและแหล่งโบราณคดีที่ตั้งอยู่ในประเทศของตน และเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตาม