มารู้จักกู่สวนแตงกันเถอะ

มารู้จักกู่สวนแตงกันเถอะ

รศ.วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ

เผยแพร่ใน สารประชาสัมพันธ์ สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 29 วันที่ 20-26 ตุลาคม 2541

บทนำ
เมื่อพูดถึงโบราณวัตถุสถานของจังหวัดบุรีรัมย์ ใครๆก็จะต้องนึกถึงปราสาทหินพนมรุ้ง ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ หรือปราสาทเมืองต่ำ เพราะโบราณวัตถุสถานที่กล่าวมานั้น มีความสำคัญและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีทั่วไป แต่ถ้าพูดถึงกู่สวนแตง ก็อาจจะมีคนงงกันบ้าง เพราะไม่ทราบว่า กู่สวนแตง คืออะไร อยู่ที่ไหน ทั้งนี้เพราะ กู่สวนแตง ไม่ค่อยมีชื่อเสียง ไม่มีความสำคัญ จึงไม่มีคนรู้จัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ หรือกู่สวนแตง ก็มีความสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะสิ่งเหล่านี้คือสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ ของจังหวัดบุรีรัมย์ เพียงแต่ว่ากู่สวนแตง ไม่ค่อยมีชื่อเสียงเท่านั้น

คำว่ากู่ เป็นภาษาอีสาน แปลว่าปรางค์ หรือปราสาท กู่สวนแตง ก็คือปราสาทซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับปราสาทหินพนมรุ้ง และปราสาทเมืองต่ำ แต่กู่สวนแตง เป็นปราสาทขนาดเล็ก ไม่มีโคปุระหรือประตูทางเข้า ไม่มีกำแพงแก้ว และระเบียงคตเหมือนกับปราสาทเมืองต่ำ มีแต่่ปราสาทก่อด้วยอิฐ จำนวน 3 องค์ ตั้งเรียงกันเป็นแถว บนฐานศิลาแลงเดียวกัน โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก บริเวณด้านหน้ามีบรรณาลัยก่อด้วยศิลาแลง 2 หลัง และสระน้ำโบราณ 1 สระ ซึ่งกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและกำหนดเขต โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478 และเล่มที่ 98 ตอนที่ 104 วันที่ 30 มิถุนายน 2524 ครอบคลุมเนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 42 ตารางวา และขณะนี้ กรมศิลปากรกำลังดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์ โดยจ้างบริษัทไพรลดาดำเนินการ ในวงเงินงบประมาณ 200,000 บาท ซึ่งจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2541 นี้

สถานที่ตั้ง

กู่สวนแตง ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตก โรงเรียนกู่สวนแตงพิทยาคม บ้านดงยาง ตำบลกู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ชัยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ การเดินทางไปกู่สวนแตงจากจังหวัดบุรีรัมย์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 2074 ไปทางอำเภอคูเมือง และเข้้าอำเภอพุทไธสง จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 202 จากอำเภอพุทไธสงไปอำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา และก่อนถึงสามแยกกิโลศูนย์ มีทางแยกด้านซ้ายมือเข้าโรงเรียนกู่สวนแตงพิทยาคม โบราณสถานจะอยู่ทางขวามือติดกับสำนักสงฆ์กู่สวนแตง ระยะทางจากจังหวัดบุรีรัมย์ประมาณ 100 กิโลเมตร แต่ถ้ามาจากจังหวัดนครราชสีมา ก็ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2 และแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 202 ที่อำเภอประทาย ระยะทางจากจังหวัดนครราชสีมาประมาณ 100 กิโลเมตรเช่นกัน

ประวัติความเป็นมา
กู่สวนแตงก็มีลักษณะเช่นเดียวกับโบราณสถานแบบเขมรในประเทศไทยแห่งอื่นๆ ซึ่งมักจะไม่ค่อยทราบประวัติความเป็นมา นอกจากโบราณสถานบางแห่งที่พบจารึก เช่น ปราสาทสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น แต่กู่สวนแตงไม่ปรากฏจารึกว่าสร้างขึ้นแต่เมื่อใด และใครเป็นผู้สร้าง แต่อย่างไรก็ตาม ทับหลังที่ยังเหลืออยู่จำนวน 7 ชิ้น และได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครนั้น รูปแบบและเรื่องราวที่แกะสลักบนทับหลัง สามารถนำไปเปรียบเทียบกับทับหลังของปราสาทแห่งอื่นๆ ทำให้สามารถกำหนดอายุได้ว่า กู่สวนแตงสร้างขึ้นราว พุทธศตวรรษที่ 17 เนื่องในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู เป็นศิลปะที่มีลักษณะคล้ายศิลปะเขมรแบบนครวัด

ศิลปกรรม
ศิลปกรรมที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน ได้แก่

  1. ปราสาทก่อด้วยอิฐ จำนวน 3 องค์ ตั้งเรียงกันตามแนวเหนือ-ใต้ บนฐานศิลาแลงเดียวกัน โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีบันใดทางขึ้นตรงกลางทางด้านหน้าเพียงด้านเดียว ปราสาทประธานซึ่งอยู่ตรงกลางจะมีมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า มีประตูทางเข้า ส่วนอีกสามด้านเป็นประตูหลอก ปราสาทบริวารซึ่งตั้งอยู่ข้างซ้ายขวาของปราสาทประธานมีขนาดเล็กกว่า มีประตูทางเข้าทางด้านหน้าด้านเดียวเช่นกัน ส่วนอีกสามด้านเป็นผนังเรียบ
  2. บรรณาลัย บริเวณด้านหน้าปราสาทมีบรรณาลัยก่อด้วยศิลาแลงจำนวน 2 หลัง ปัจจุบันเหลือแต่ส่วนฐาน
  3. สระน้ำโบราณ บริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยม ล้อมรอบด้วยคันดิน จำนวน 1 สระ ปัจจุบันตื้นเขิน ปรากฏเหลือให้เห็นอยู่เพียงเล็กน้อย
  4. ศิลปะวัตถุ ข้างบรรณาลัยหลังด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีโบราณวัตถุประเภทหินทราย เช่น จอมโมฬี กลีบขนุน และรางนำ้มนต์ ตั้งทิ้งไว้ มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ลวดลายลบเลือน
  5. ทับหลัง ได้พบทับหลังที่กู่สวนแตง จำนวน 7 ชิ้น เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่างๆ 3 แห่ง คือ พิมาย 5 ชิ้น ขอนแก่น 1 ชิ้น และ พระนคร 1 ชิ้น ทับหลังที่เก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย คือ ทับหลังแกะสลักเรื่องพระวิษณุตรีวิกรม หรือ ย่างสามขุม ทับหลังแกะสลักเรื่องกูรมาวตารของพระวิษณุ หรือ การกวนเกษียรสมุทร ทับหลังแกะสลักเรื่องศิวนาฏราช ทับหลังแกะสลักรูปขบวนแห่ และทับหลังแกะสลักรูปเทวดานั่งเหนีือเกียรติมุข

ส่วนทับหลังที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น 1 ชิ้น คือ ทับหลังแกะสลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ และทับหลังที่เก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครอีก 1 ชิ้น คือ ทับหลังแกะสลักเรื่อง พระวิษณุอนันตศายิน ปัทมนาภะ หรือนารายณ์บรรทมสินธ์ุ

ทับหลังทั้ง 7 ชิ้นนี้ เป็นส่วนประดับตกแต่งที่สำคัญของประตูทางเข้าองค์ปราสาท ดังนั้น ทับหลังจึงได้รับการแกะสลักเป็นลวดลายและเรื่องราวต่างๆอย่างประณีตสวยงาม และจากลวดลายและเรื่องราวที่แกะสลักบนทับหลังนี้เอง ได้เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการศึกษาค้นคว้าหาวิวัฒนาการของลวดลาย จนสามารถนำไปใช้กำหนดอายุโบราณสถานเขมรได้อย่างแม่นยำ

ทับหลังกู่สวนแตง แต่ละชิ้นมีความหมาย มีคุณค่าทั้งทางด้านเนื้อหาและรูปแบบ ซึ่งมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้

1. ทับหลังเรื่องพระวิษณุตรีวิกรม ย่างสามขุมหรือ วามนาวตาร
เป็นเรื่องการอวตารของพระวิษณุ เทพองค์หนึ่งในตรีมูรติ เป็นเทพผู้รักษา ดังนั้น เมื่อโลกเกิดยุคเข็ญขึ้นครั้งใด พระวิษณุก็จะอวตารลงมาปราบยุคเข็ญนั้น การอวตารของพระองค์ที่รู้จักกันดีมี 10 ครั้ง ซึ่งเรียกกันว่านารายณ์ 10 ปาง ได้แก่ มัสยาวตาร (เป็นปลา) กูรมาวตาร (เป็นเต่า) วราหาวตาร (เป็นหมููป่า) นรสิงหาวตาร (เป็นนรสิงห์) วามนาวตาร (เป็นพราหมณ์เตี้ย) ปศุรามาวตาร (เป็นพรามหณ์ชื่อปาศุราม) รามาวตาร (เป็นพระราม) กฤษณาวตาร (เป็นพระกฤษณะ) พุทธาวตาร (เป็นพระพุทธเจ้า) กัลกยาวตาร (เป็นบุรุษขี่ม้าขาวชื่อกัลกี) ดังนั้น วามนาวตาร จึงเป็นเรื่องของพระวิษณุที่อวตารเป็นพราหมณ์เตี้ย เรื่องก็มีอยู่ว่า ท้าวพลีซึ่งเป็นอสูรได้ทำพิธีบูชายันต์ ทำให้อสูรมีฤทธิ์มากมาย และพากันไปยึดเทวโลกและมนุษย์โลกไว้ เดือนร้อนถึงพระวิษณุต้องอวตารเป็นพราหมณ์เตี้ยชื่อวามน ได้เข้าไปร่วมพิธีบูชายันต์ ทำตัวสนิทสนมจนท้าวพลีไว้วางใจ และได้ขอแผ่นดิน 3 ก้าว ท้าวพลีก็ยินดีให้ พราหมณ์วามนจึงเนรมิตกายให้ใหญ่ขึ้นจนสุดประมาณได้ ก้าวสามก้าวก็สามารถได้โลกทั้งสาม คือ โลกมนุษย์ บาดาลและสวรรค์ คืนจากอสูร

ทับหลังกู่สวนแตง เรื่องพระวิษณุตรีวิกรม ย่างสามขุม หรือ วามนาวตาร แกะสลักเป็นภาพเล่าเรื่อง (naration) คือ ภาพที่มีเรื่องหลายตอนต่อเนื่องอยู่ในภาพเดียวกัน กล่าวคือ ตรงกลางทับหลังเป็นภาพพระวิษณุสี่กรกำลังก้าวข้ามโลกทั้งสาม ซึ่งแสดงโดยมหาสมุทรซึ่งมีรูปสัตว์และรูปดอกบัว มีพระภูมิเทวีีรองรับพระบาทซ้ายของพระองค์ไว้ ด้านขวาทับหลัง เป็นภาพท้าวพลีกำลังหลั่นน้ำลงบนฝ่ามือของพราหมณ์วามน ในการมอบที่ดินสามก้าว เหนือขึ้นไป เป็นภาพท้าวพลีที่ถูกพันธนาการ มีพระยม แห่งโลกบาดาลยืนคุมอยู่ ด้านซ้ายทับหลัง พระวิษณุได้ปรากฏกายอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้พระบาทซ้ายเหยียบอก และพระกรซ้ายจิกพระเกศาท้าวพลี ส่วนเนื้อที่ว่างจะเป็นภาพบุคคลเหาะและภาพสัตว์ต่างๆ

รูปแบบศิลปกรรมของทับหลังชิ้นนี้เป็นแบบนครวัด สังเกตได้จากบุคคลในภาพสวมอาภรณ์สมพต กรองศอของพระวิษณุ และศิราภรณ์ ของพระภูมิเทวี นอกจากนั้นการจัดองค์ประกอบแบบภาพเล่าเรื่อง ซึ่ง เป็นรูปแบบเฉพาะของศิลปสมัยนครวัด

ทับหลังชิ้นนี้ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

2. ทับหลังเรื่องกูรมาวตารหรือการกวนเกษียรสมุทร
เป็นเรื่องของพระวิษณุที่อวตารลงมาเป็นเต่าใช้แผ่นหลังรองรับเขามันทระ ในการกวนเกษียรสมุทร เรื่องก็มีอยู่ว่า เหล่าเทวดาและพระอินทร์ถูกฤษีสาปทำให้ฤทธิ์เสื่อมลง เมื่อต่อสู้กับอสูรก็จะพ่ายแพ้ตลอด เหล่าเทวดาจึงคิดอุบายทำดีกับเหล่าอสูร ให้อสูรช่วยทำพิธีกวนเกษียรสมุทรเพื่อให้ได้น้ำอมฤทธิ์ พระวิษณุอวตารเป็นเต่าขนาดใหญ่เพื่อรองรับเขามันทระที่ใช้ทำเป็นไม้กวน โดยมีนาควาสุกรีเป็นเชือกชัก เหล่าเทพและอสูรช่วยกันดึง เมื่อได้น้ำอมฤทธิ์แล้ว พระพระ
วิษณุได้ใช้อุบายให้เหล่าเทพได้ดื่มน้ำอมฤทธิ์แต่ฝ่ายเดียวเพื่อลบล้างคำสาปของพระฤษีการกวนเกษียร
สมุทรนั้น นอกจากได้น้ำอมฤทธิ์ แล้ว ยังได้เหล่านางอัปสร และสิ่งวิเศษอื่นๆ ที่สำคัญคือได้พระลักษมีซึ่งต่อมาเป็นชายาของพระวิษณุ

ภาพแกะสลักที่กู่สวนแตง เรื่องกูรมาวตารหรือการกวนเกษียรสมุทร แกะสลักเป็นรูปเทวดาและอสูร ด้านละ 3 (ส่วนที่เป็นใบหน้าถูกกระเทาะแตกหักหายไป) กำลังดึงลำตัวพญานาควาสุกรีที่ใช้ลำตัวพันรอบเขามันทระที่ทำเป็นไม้กวน แสดงโดยการทำเป็นก้านบัว รองรับด้วยหลังเต่าจักรวาลนอนอยู่ก้นมหาสมุทร พระพรหมสี่พักตร์ สี่กร ประทับนั่งบนดอกบัว องค์พระวิษณุสี่กรปรากฏกายสองครั้ง คือ เป็นเต่ารองรับไม้กวน และเหาะอยู่ตรงกลางไม้กวน ด้านบนทับหลังเป็นรูปบุคคลเหาะ บริเวณว่างประดับด้วยดอกไม้หรือดอกแก้ว รูปบุคคล และรูปสัตว์ต่างๆ

รูปแบบศิลปกรรม การจัดองค์ประกอบและการนิยมตกแต่งด้วยรูปสัตว์ต่างๆ เป็นศิลปแบบบาปวน ส่วนรายละเอียดเป็นศิลปแบบนครวัด สังเกตได้จาก แบบท่าทางเหาะของรูปบุคคล และการรังเกียจบริเวณว่าง

ทับหลังชิ้นนี้แต่เดิมประดับอยู่เหนือกรอบประตูหลอกด้านทิศตะวันตกของปราสาทประธาน ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

3. ทับหลังแกะสลักเรื่องศิวนาฏราช
ศิวนาฏราชเป็นรูปหนึ่งของพระศิวะ เทพเจ้าสำคัญองค์หนึ่งในตรีมูรติ และเป็นเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย ซึ่งปรากฏในคำภีร์ภรตนาฏยศาสตร์ว่าทรงฟ้อนรำได้ถึง 108 ท่า ผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์เชื่อว่า จังหวะการฟ้อนรำของพระศิวะนั้น อาจจะบันดาลผลดีผลร้ายแก่โลกได้ หากพระองค์ฟ้อนรำในจังหวะที่พอดีจะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข หากฟ้อนรำในจังหวะที่รุนแรงจะเป็นผลร้าย นำภัยพิบัติมาสู่โลกได้ เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด เป็นต้น

ศิวนาฏราชนั้นมีบทบาทสำคัญต่อคติความเชื่อและศิลปะของอินเดียค่อนข้างสูง โดยทั่วไปทำเป็นรูปพระศิวะ 10 กร ยืนอยู่บนตัวคนแคระฟ้อนรำอยู่ภายใต้เปลวไฟเป็นวงกลม ส่วนในประเทศไทย ศิวนาฏราชพบตามศาสนสถานประเภทปราสาททั่วไป เช่น ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และปราสาทศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ เป็นต้น

ทับหลังภาพศิวนาฏราชของกู่สวนแตง แกะสลักเป็นภาพพระศิวะ สองกร ทรงฟ้อนรำ อยู่ตรงกลางทับหลัง ด้านขวาของพระองค์เป็นภาพอสูร ด้านซ้ายเป็นภาพพระพรหมและพระคเนศ เหนือขึ้นไปเป็นเทพอับสรกำลังฟ้อนรำ ด้านข้างทับหลังเป็นเหล่าเทพ ทรงถือบังสูรย์ บังแทรก อันเป็นเครื่องสูง บริเวณว่างประดับด้วยลายดอกแก้ว

รูปแบบของศิลปกรรม เป็นศิลปะเขมรแบบนครวัด ทั้งนี้เพราะ ลักษณะการจัดภาพ เทคนิคการแกะสลักเป็นแบบเดียวกับทับหลังเรื่องนารายณ์บรรทมสินธุ์ และทับหลังเรื่องวิษณุตรีวิกรม ซึ่งเป็นทับหลังจากกู่สวนแตงเช่นกัน พิจารณาได้ว่าน่าจะเป็นฝีมือสกุลช่างเดียวกัน

ทับหลังชิ้นนี้ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

4. ทับหลังแกะสลักรูปขบวนแห่
แกะสลักเป็นรูปพระอินทร์ประทับนั่งในท่ามหาราชลีลาสนะ บนคชาธาร พระหัตถ์ขวาทรงถือดอกบัว แวดล้อมด้วยบริวารถือ บังสูรย์ บังแทรก อันเป็นเครื่องสูง

รูปแบบศิลปกรรม มีลักษณะคล้ายศิลปะเขมรแบบนครวัด สังเกตได้จาก การจัดภาพบุคคลเป็นจำนวนมาก ประกอบกับภูษาทรงชักชายออกมาด้านหน้าค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รวมทั้งสัปคับที่มีปลายเป็นรูปนาค ซึ่งมีรัศมีเชื่อมเป็นแผ่นเดียวกันŽ (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ . 2531:100)

ทับหลังชิ้นนี้ ตอนล่างชำรุดแตกหัก ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

5. ทับหลังแกะสลักรูปเทวดานั่งเหนีือเกียรติมุข
รูปเทวดาประทับนั่งเหนือเกียรติมุขหรือหน้ากาลกลางทับหลัง หน้ากาลคายท่อนพวงมาลัยแยกออกไปทั้งสองข้าง ทับหลังลักษณะเช่นนี้พบทั่วไปเป็นจำนวนมาก ภาพบุคคลหรือเทพบางรูปสามารถระบุได้ว่าเป็นเทพองค์ใด โดยพิจารณาจากพาหนะและอาวุธที่ทรงถือ แต่ส่วนใหญ่จะระบุค่อนข้างยาก ทั้งนี้เพราะอาวุธที่ทรงถือนั้น แตกหักหรือลบเลือนจนไม่สามารถระบุอย่างชัดเจนได้

หน้ากาลหรือเกียรติมุข เป็นรูปหน้าขบ มีแต่หัวไม่มีขากรรไกร มีมาตามคติพราหมณ์ เรื่องเดิมมีอยู่ว่า
ครั้งหนึ่งพระอิศวร เกิดพิโรธอย่างรุนแรง จนเกิดตัวเกียรติมุข กระโดดออกมาจากหน้าตรงระหว่างคิ้วที่ขมวดนั้น ตัวเกียรติมุุขหรือตัวโกรธนี้ เมื่อบังเกิดขึ้น มันก็หิวทันที มันเริ่มกินทุกสิ่งทุกอย่างรอยตัวเอง เมื่อไม่มีอะไรกินมันก็เริ่มกินตัวมันเอง คือ แขน ขา ลำ ตัว จนเหลือแต่หัว ขณะนั้นพระอิศวรทรงทอดพระเนตรดูโดยตลอด ได้เห็นโทษของความโกรธอันทำให้เกิดตัวเกียรติมุขนั้น พระองค์จึงตรัสกับตัวเกียรติมุขว่า ลูกเอ๋ย พ่อเห็นแล้วว่า ความโกรธนี้มันเผาผลาญหมดทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่ตัวเอง เจ้าจงไปประดิษฐานอยู่ตรงหน้าบันหรือส่วนมุกของเทวลัยเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติมวลมนุษย์ทั่วไปให้รู้จักยับยั้งความโกรธเสีย ตัวเกียรติมุขจึงปรากฏตามเทวสถานทั่งไปจนบัดนี้
ตัวเกียรติมุขนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หน้ากาละ หมายถึงกาลเวลาย่อมกินตัวเอง และทำลายทุกสิ่งทุกอย่างให้หมดสิ้นไป มนุษย์จึงไม่ควรประมาท (น.ณ ปากน้ำ.2522:37-38)

ในทางศิลปะ รูปเกียรติมุขหรือหน้ากาล ทำเป็นรูปใบหน้าสัตว์ประหลาดชนิดหนึ่ง ลักษณะใบหน้าผสมผสานคล้ายกับมนุษย์ประเภทดุร้ายกับสัตว์ประเภทเสือ ส่วนที่เป็นจมูกมีลักษณะป้านแบน ดวงตากลมพองถลนออกมา บางครั้งจากดวงตานี้มีเขาขนาดเล็กงอกต่อขึ้นไป ใบหน้าตอนบนช่วงหน้าผากมักทำเป็นลวดลายอย่างใบไม้ อ้าปากกว้าง ริมฝีปากบนมีฟัน และเขี้ยว ไม่มีริมฝีปากล่าง ใบหน้าสัตว์ประหลาดอย่างนี้บางครั้งตอนล่างของปากมีมือ อย่างมนุษย์หรืออุ้งเท้าสัตว์ปรากฏอยู่สองข้าง

รูปเกียรติมุข ปรากฏแพร่หลายมากในศิลปะขอม มักจะแกะสลักไว้บนทับหลังประตูทางเข้าเทวสถานทั่วไป กล่าวกันว่าเริ่มตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 โดยได้แบบอย่างมาจากศิลปะสมัยศรีวิชัย

สันนิษฐานกันว่า เกียรติมุขนี้คงจะแผ่เข้ามาในประเทศไทยสมัยทวารวดี และสมัยศรีวิชัย มีคติเชื่อกันว่า เกียรติมุขนี้เป็นยันต์ เป็นเทพเจ้ารักษาธรณีประตู เป็นเครื่องป้องกัน บ้านเรือน ขับไล่เสนียดจัญไร ในอินเดียถือว่าเกียรติมุขนี้จะคอยคุ้มครองผู้นับถือพระศิวะ ที่มาของเกียรติมุขนี้ บางท่านเข้าใจว่ามีกำเนิดในประเทศใดประเทศหนึ่งในทวีปเอเชียนี้ อาจจะได้มาจากธิเบตก็ได้ บางท่านว่ากำเนิดเดิมอยู่ที่ ประเทศจีน ยังมีรูปเรียกว่าต่าวเจียว (Tีao Tีieh) เทพเจ้าผู้ตะกละ เป็นรูปทำนองเดียวกับเกียรติมุขของอินเดีย ปรากฏอยู่ในภาชนะสัมฤทธิ์จีนสมัยซางหรือหยิน(850-550 ปีก่อนพุทธกาล) ซึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑ์กีเมต์ กรุงปารีส แล้วแผ่ไปยังอินเดียโดยทางบก ปรากฏอยู่ในศิลปะของอินเดียสมัยอมราวดีและคุปตะ ที่น่าสังเกตุอีกประการหนึ่ง คือ ลายเฉพาะ ที่มีแต่หน้าแบบเกียรติมุขนี้ ยังพบในลายของพวกอินเดียนแดงอีกด้วย สันนิษฐานว่าจะไปจากประเทศจีนครั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ (สารานุกรมไทย.2529-2502:1557)

ทับหลังรูปเทวดานั่งเหนือเกียรติมุขนี้ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

6.ทับหลังแกะสลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
แกะสลักเป็นภาพพระอินทร์ประทับนั่งในท่ามหาราชลีลาสนะ บนฐานบัว ภายในซุ้มเรือนแก้ว เหนือเศียรช้างเอราวัณ พระกรขวาทรงถือวัชระ ช้างเอราวัณใช้งวงจับท่อนพวงมาลัยที่โค้งขึ้นและม้วนออกไปเป็นวงโค้งทางด้านข้าง ซึ่งเป็นพวงอุบะ เหนือพวงอุบะเป็นรูปฤษี จากพวงอุบะเป็นลายท่อนพวงมาลัยทำเป็นวงโค้งออกไปทางด้านข้างทับหลัง

รูปแบบศิลปกรรม การจัดองค์ประกอบเป็นศิลปะแบบบาปวน เช่นเดียวกับทับหลังรูปเทวดาประทับนั่งเหนือเกียรติมุข จากโบราณสถานแห่งเดียวกัน

ทับหลังชิ้นนี้ แต่เดิมประดับอยู่ที่ประตูทางเข้าปรางค์องค์ด้านทิศตะวันตก ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น

7. ทับหลังเรื่องพระวิษณุอนันตศายิน-ปัทมนาภะ หรือนารายณ์บรรทมสินธุ์
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการกำเนิดพระพรหม ในศิลปะแบบเขมรนิยมแกะสลักเรื่องนี้กันมาก เช่น ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ และปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น

พระพรหม เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งในตรีมูรติ หรือเทพเจ้าสามองค์ในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู อันได้แก่พระพรหมเทพผู้สร้าง พระวิษณุหรือพระนารายณ์เทพผู้รักษา และพระศิวะเทพผู้ทำลายล้าง การกำเนิดพระพรหมนั้น
ตามคำภีร์วราหบุรณะว่า พระพรหมธาดา ได้บังเกิดในดอกบัว อันผุดผาดขึ้นจากพระนาภีของพระวิษณุ (นารายณ์) ในขณะที่บรรทมหลับอยู่บนหลังอนันตนาคราช ณ เกษียรสมุทร แล้วพระพรหมองค์นี้จึงได้สร้างมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งสามโลก แต่คำภีร์ปัทมบุรณะกล่าวถึงพระพรหมาไปอีกทางหนึ่งว่า เมื่อพระวิษณุเป็นเจ้ามีประสงค์จะสร้างโลก จึงทรงแบ่งภาค
พระองค์เองออกเป็น 3 คือสร้างพระพรหมาจากปรัศว์ (สีข้าง) ข้างขวา สร้างพระพิษณุ (พระองค์เอง) จากปรัศว์เบื้องซ้าย สร้างพระศิวะมหากาฬจากบั้นกลางพระองค์ (สัจจาภิรมย์.2517:48)

ทับหลังกู่สวนแตง เรื่องพระวิษณุอนันตศายิน ปัทมนาภะ หรือนารายณ์บรรทมสินธุ์ แกะสลักเป็นภาพพระวิษณุสี่กร นอนตะแคงขวาบนหลังพญาอนันตนาคราช ซึ่งทอดตัวอยู่เหนือมังกร ไว้ตรงกึ่งกลางทับหลัง จากพระนาภีองค์พระวิษณุมีก้านบัวผุดขึ้นย้อนกลับไปทางด้านหลัง และแตกเป็นดอกบัวตูมและดอกบัวบาน ดอกบัวบานมีสามดอก ดอกตรงกลางทำเป็นรูปพระพรหม สี่พักตร์ สี่กร ดอกบัวด้านข้างซ้ายและขวามีรูปบุคคลเหาะ ที่ปลายพระบาทของพระวิษณุมีรูปพระลักษมีและพระภูมิเทวี นั่งประคองพระชงฆ์อยู่ทั้งสององค์ ด้านข้างซ้ายและขวาของทับหลังแกะสลักเป็นลายพันธุ์พฤกษา

ลักษณะศิลปกรรมของทับหลังชิ้นนี้ เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปสมัยบาปวน กับศิลปสมัยนครวัด ซึ่งต่อเนื่องกัน จะเห็นได้ว่า การจัดองค์ประกอบเป็นแบบบาปวน คือ จัดลายท่อนพวงมาลัยทอดยาวกลางทับหลังตอนปลายทำเป็นลายก้านขด ใต้ท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้ม้วน ส่วนเหนือท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้สามเหลี่ยม นอกจากนั้นยังมีนาคที่ไม่ได้ประดับเศียรอันเป็นรูปแบบของนาคสมัยบาปวนปรากฏอยู่ด้วย ส่วนรูปแบบที่เป็นศิลปสมัยนครวัดได้แก่ อาภรณ์แบบสมพตขององค์พระวิษณุ (ผ้านุ่งของบุรุษชาวเขมร เป็นผ้าพันรอบสะโพก ขมวดเป็นปมด้านหน้า ชายผ้าห้อยลงมาระหว่างขาด้านหน้า ตวัดไปเหน็บชายด้านหลัง เรียกว่านุ่งหยักรั้ง) ชายผ้าด้านหน้าทำเป็นรูปสมอเรือ และศิราภรณ์ของพระลักษมีและพระภูมิเทวี ทำเป็นรูปดอกไม้กลม 3 ดอก มียอดแหลมขึ้นไป กับกรองศอรูปสามเหลี่ยมมีอุบะเล็กๆห้อย ซึ่งเป็นรูปแบบของเครื่องประดับ ศิลปสมัยนครวัด

ทับหลังชิ้นนี้เดิมประดับอยู่ที่ประตูทางเข้าปราสาทด้านทิศตะวันออกของปราสาทองค์ด้านทิศเหนือ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร

บทสรุป
จากตัวอย่างทับหลังของกู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่นำเสนอมา จะเห็นได้ว่ามีความหลากหลายทั้งทางด้านรูปแบบและเนื้อหาสาระ ทางด้านรูปแบบ จะปรากฏการคลี่คลายของศิลปะสมัยหนึ่งไปยังอีกสมัยหนึ่งที่ต่อเนื่องกัน คือ คือสมัยบาปวน และสมัยนครวัด ส่วนทางด้านเนื้อหา นอกจากจะได้ทราบถึงระบบความเชื่อ สภาพสังคม การแต่งกาย และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนแล้ว ยังสามารถจินตนาการลักษณะนิสัยของผู้คนในอดีตได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น การจัดภาพบุคคล ภาพสัตว์ ดอกไม้ ใบไม้ ลงในบริเวณว่าง แสดงให้เห็นถึงนิสัยใจคอของผู้คนที่มีความรักธรรมชาติ รักสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาพเหล่านี้อาจเป็นเครื่องเตือนใจให้เรากลับมาสนใจสิ่งแวดล้อมที่ปัจจุบันตกอยู่ในสภาพวิกฤตก็เป็นได้

ทับหลังทั้งหมด แต่เดิมประดับอยู่ที่ประตูทางเข้าองค์ปราสาท แต่คนร้ายได้งัดแงะออกไปเพื่อจำหน่ายให้ชาวต่างประเทศ ซึ่งเมื่อกรมศิลปากรทราบเรื่อง ได้ติดตามกลับคืนมาได้ และนำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่างๆหลายแห่ง ไม่กล้าเอากลับไปติดตั้งไว้ที่เดิม เพราะเกรงว่าจะสูญหายไปอีก ทับหลังก็เลยอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติตั้งแต่นั้นมาจนบัดนี้

แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กาลเวลาได้เปลี่ยนไป โบราณวัตถุประเภททับหลัง ไม่เป็นที่นิยมของนักสะสมของเก่าอีกต่อไปแล้ว อีกประการหนึ่ง ประชาชนเริ่มเห็นคุณค่าและเริ่มรู้สึกหวงแหนสมบัติทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และที่สำคัญ คือ ขณะนี้ กรมศิลปากรกำลังดำเนินการบูรณะกู่สวนแตงอยู่พอดี ดังนั้น ความคิดที่จะนำทับหลังกลับคืนมาไว้ที่เดิม จึงเป็นเรื่องที่น่าจะเป็นไปได้.

กู่สวนแตง โบราณสถานที่สำคัญอีกแห่งนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์ แต่ปรากฏว่าไม่ค่อยมีใครสนใจ ซึ่งคงเนื่องจาก กรมศิลปากรได้นำทับหลังซึ่งเป็นส่วนสำคัญยิ่งขององค์ปราสาททั้งหมดไปจัดแสดงไว้ตามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่างๆ ทำให้กู่สวนแตงขาดส่วนประกอบที่สำคัญ ขาดชีวิตชีวาและจิตวิญญาณ ไม่สามารถสร้างอารมณ์ความรู้สึกในเรื่องคุณค่าทางความงามได้ เปรียบเสมือนการกินอาหารที่จืดชืด ขาดรสชาติ ดังนั้น ในขณะที่กรมศิลปากรกำลังดำเนินการบูรณะอยู่นี้ ได้โปรดพิจารณานำทับหลังทั้งหมดกลับมาติดตั้งไว้ ณ ที่เดิมด้วย ทั้งนี้เพื่อสร้างความสำคัญและเพื่อประโยชน์ในการศึกษาที่ต่อเนื่อง แต่ถ้าหากติดขัดด้วยข้อกฏหมายใดๆก็ตาม ก็ควรรีบดำเนินการแก้ไข จากนั้นปรับปรุงภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมเพื่อสร้างแรงจูงใจ

และเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยสมบูรณ์ดีแล้ว ก็คงเป็นเรื่องของการบริหารและการจัดการที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถนำทรัพยากรทางวัฒนธรรมของชาติที่มีความสำคัญในอดีตแห่งนี้อำนวยประโยชน์ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในปัจจุบันให้ได้ ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น
การนำเสนอข้อมูล การประชาสัมพันธ์ ให้เข้าใจความหมาย ความสำคัญ และการนำมาใช้อย่างรู้คุณค่า และที่สำคัญที่สุด จะต้องส่งเสริมให้ชาวบ้านกู่สวนแตงและหมู่บ้านใกล้เคียงได้มีบทบาทและมีส่วนร่วมในการบริหารและการจัดการด้วย เพราะมรดกทางวัฒนธรรมนั้นเป็นสมบัติของชาติ ของประชาชนและท้องถิ่น

หนังสืออ้างอิง
ศิลปากร,กรม.ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย เล่ม 2 จังหวัดสุรินทร์. กรุงเทพฯ: หน่ำกังการพิมพ์,.2536..
แผนที่ทางโบราณคดีจังหวัดบุรีรัมย์. กรุงเทพฯ:ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย,.2532
ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (เล่ม 3). รุ่งเรืองธรรม,2529-2502.
สมิทธิ ศิริภัทร์ และมยุรี วีระประเสริฐ.ทับหลัง.
กรุงเทพฯ:กรมศิลปากร,2533.
สัจจาภิรมย์,พระยา. เทวกำเนิด.
กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2517.
สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์,ศ.ดร.ทับหลังในประเทไทย.
กรุงเทพฯ:เมืองโบราณ,2531
น. ณ ปากน้ำ.พจนานุกรมศิลป์.พิมพ์ครั้งที่ 2.
กรุงเทพฯ:กรุงสยามการพิมพ์,2522.
Smitthi Siribhadra & Elizabeth Moore.
Palaces of the Gods. Bangkok: River Books, 1992.

Comments are closed.