จำลองทับหลัง เรื่องของคุณค่าและความหมาย

ภาพปราสาทเมืองต่ำ

จริงอยู่ ในปัจจุบัน ศาสนสถานเหล่านั้น ไม่มีความสำคัญเหมือนในอดีตแล้ว แต่ความสำคัญในฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติก็ยังมีอยู่ การนำสิ่งเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ จึงต้องระมัดระวัง ใช้อย่างเข้าใจ ใช้อย่างเคารพ ใช้อย่างเห็นคุณค่าและความหมาย

เมื่อคราวก่อน ผมได้เขียนถึงกรมศิลปากรว่า ได้จำลองทับหลัง หน้าบัน และเสากรอบประตูของปราสาทเมืองต่ำ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ แล้วนำของจำลองตั้งแสดงไว้ที่ประตูทางเข้าปราสาท ส่วนของจริงได้ย้ายไปไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเรื่องนี้ไม่ค่อยมีใครทราบเหตุผล ก็ได้แต่สงสัยกัน และผมได้เสนอแนะกรมศิลปากรไปว่า ควรจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจร่วมกันถึงเหตุผลที่ต้อง จำลองโบราณวัตถุดังกล่าว ตลอดจนเหตุผลที่ต้องเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุเหล่านั้นออกจากสถานที่จริง ซึ่งคงจะได้รับคำอธิบายที่ชัดเจนในไม่ช้านี้

และเนื่องจากอาจต้องพูดถึงเรื่องเหล่านี้อีกบ่อยๆ ก็อยากจะทบทวนว่า ทับหลัง หน้าบัน และเสากรอบประตูนั้น คืออะไร เป็นส่วนไหนของสถาปัตยกรรมทับหลัง คือ แผ่นหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางทับอยู่บนกรอบประตูทางเข้าปราสาท ในสถาปัตยกรรมแบบเขมร ทับหลังนอกจากจะเป็นส่วนช่วยเสากรอบประตูรับน้ำหนักโครงสร้างส่วนบนแล้ว ยังช่วยลดขนาดความสูง ความกว้างของประตูทางเข้า ซึ่งมีผลต่อการรับน้ำหนัก และยังเป็นส่วนประดับตกแต่งที่สำคัญของประตูทางเข้าอีกด้วย ดังนั้น ทับหลังจึงได้รับการแกะสลักเป็นลวดลายและเรื่องราวต่างๆอย่างประณีตงดงาม และจากลวดลายและเรื่องราวที่แกะสลักบนทับหลังนี้เอง ได้เป็นเครื่องมือสำหรับการศึกษาค้นคว้าหาวิวัฒนาการของลวดลายเหล่านั้น จนสามารถนำมาใช้กำหนดอายุโบราณสถานเขมรได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

ทับหลังที่คนไทยรู้จีักกันดี คือ ทับหลังแกะสลักเรื่องนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ(อำเภอใหม่่ที่แยกจากอำเภอนางรอง) จังหวัดบุรีรัมย์
หน้าบัน หรือ หน้าจั่ว คือ ส่วนที่อุดหน้าหลังของหลังคาทรงรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ถ้าเป็นเรือนที่อยู่อาศัย เรียกว่า หน้าจั่ว แต่่ถ้าเป็นพระอุโบสถหรือพระวิหาร เรียกว่า หน้าบัน ในสถาปัตยกรรมเขมรนั้น หน้าบันจะแกะสลักเป็นลายพันธุ์พฤกษาและเรื่องราวต่างๆอย่างงดงามเช่นเดียวกับทับหลัง
เสากรอบประตู คือ เสาที่รับน้ำหนักส่วนที่เป็นหน้าจั่วหรือหน้าบัน ในสถาปัตยกรรมแบบเขมร เสากรอบประตูนิยมแกะสลักเป็นลายก้านต่อดอกหรือลายก้านขด ทั้งหน้าบัน ทับหลัง และเสากรอบประตู จะมีความสัมพันธ์กัน ทั้งโครงสร้าง รูปทรง และลวดลายที่ประดับตกแต่ง
และเนื่องจากทับหลัง หน้าบัน เสากรอบประตู และโบราณวัตถุอื่นๆ มีความสวยงามเป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ที่หลงไหลในศิลปะแบบเขมร จึงนิยมจำลองไปใช้ประดับตกแต่งสถานที่ต่างๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และที่อยู่อาศัย เป็นต้น
ในปัจจุบัน มีการจำลองทับหลัง หน้าบัน เสากรอบประตู และเศียรนาค ฯลฯ เป็นจำนวนมาก จำลองทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก จนเกร่อไปหมด การจำลองจะใช้ทั้งวิธีถอดพิมพ์จากของจริง ปั้นตามแบบแล้วทำแม่พิมพ์หล่อ ซึ่งทั้งสองวิธีนี้จะสามารถจำลองได้
เป็นจำนวนมาก ส่วนอีกวิธีหนึ่ง คือการแกะสลัก โดยนำหินมาแกะสลักตามแบบที่ต้องการ ซึ่งจะไม่ค่อยเหมือนของจริงนัก ทำได้ทีละ 1 ชิ้น แต่ละชิ้นจะมีลักษณะแตกต่างกัน
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ภาพจำลองทับหลัง และหน้าบัน ฯลฯ เหล่านี้ จะนำไปใช้ประดับตกแต่งตามสถานที่ต่างๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และที่อยู่อาศัย บางแห่งก็จำลองเพื่อเป็นตัวอย่างในการศึกษาค้นคว้า เช่น ที่ศูนย์วัฒนธรรมอีสานใต้ สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ ได้จำลองทับหลังสมัยต่างๆไว้ทั้งหมด 10 ชิ้น และบางแห่งก็จำลองไว้เพื่อจำหน่าย ก็ทำกันเป็นธุรกิจ ซึ่งทำท่าว่าจะเจริญรุ่งเรืองดีเสียด้วย
ในอดีตนั้น การจำลองหมายถึง การจำลองสิ่งที่เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธ์ิ เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป เช่น การจำลองพระพุทธรูป เป็นต้น แต่การจำลองพระพุทธรูปนั้น มิได้จำลองโดยวิธีถอดพิมพ์จากพระพุทธรูปองค์จริง แต่จะจำลองพุทธลักษณะ สัดส่วนที่งดงาม โดยปั้นหุ่นและหล่อขึ้นใหม่ แล้วนำไปประดิษฐานตามสถานที่ได้กำหนดไว้แล้ว เมื่อใครไปพบเห็นก็จะทราบได้ทันที่ว่าเป็นพระพุทธรูปจำลอง เช่น พระพุทธชินราชจำลอง ซึ่งประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กทม. เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม การจำลองพระพุทธรูปนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำไปสักการะบูชา มิได้นำไปใช้ประดับตกแต่งเช่นในปัจจุบัน
ผมเองนั้นไม่ค่อยเห็นด้วยกับการจำลองโบราณวัตถุจากของจริง หากจะต้องจำลอง ก็ต้องมีความจำเป็นจริงๆเท่านั้น เพราะโบราณวัตถุแต่ละชิ้นนั้นมีหนึ่งเดียว การจำลองทำให้เกิดมีเป็นสอง คุณค่าก็ต้องลดลงไปอย่างแน่นอน นอกจากนั้น การจำลองจากโบราณวัตถุของจริง ชิ้นงานที่ออกมาจะเหมือนของจริงทุกกระเบียดนิ้ว ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วน รูปร่างหน้าตาและลักษณะพื้นผิว จึงอาจทำให้ผู้พบเห็นสับสน ไม่รู้ว่า ชิ้นไหนเป็นของจริง ชิ้นไหนเป็นของจำลอง ซึ่งเรื่องนี้ มักจะมีคนพูดกันเสมอๆว่า ได้มีการนำของจริงออกไปจากที่เดิม แล้วเอาของจำลองมาเก็บไว้แทน ซึ่งผมไม่มีทางเชื่อหรอกครับ จะทำกันอย่างนั้นได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม ทับหลัง หน้าบัน และเศียรนาค ฯลฯ ที่นิยมนำไปใช้ประดับตกแต่งกันนั้นเป็นส่วนที่ใช้ประดับตกแต่งศาสนสถาน ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ มีคุณค่าและความหมายต่อผู้คนในอดีต การนำสิ่งที่ใช้ตกแต่งศาสนสถานไปตกแต่งอย่างอื่น เช่น ที่อยู่อาศัย โรงแรม และร้านขายอาหาร ฯลฯ อย่างที่กระทำกันอยู่จึงไม่น่าจะเหมาะสม จริงอยู่ ในปัจจุบัน ศาสนสถานเหล่านั้น ไม่มีความสำคัญเหมือนในอดีตแล้ว แต่ความสำคัญในฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติก็ยังมีอยู่ การนำสิ่งเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ จึงต้องระมัดระวัง ใช้อย่างเข้าใจ ใช้อย่างเคารพ ใช้อย่างเห็นคุณค่าและความหมาย การปล่อยปละละเลย ให้นำไปใช้กันอย่างไม่รู้เรื่องรู้ราว โดยขาดความเข้าใจในเรื่องคุณค่าและความหมายเสียแล้ว อีกไม่นานสมบัติทางวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นเกียรติ
และศักดิ์ศรีของชาติก็จะค่อยๆถูกทำลายไป

หรือเราต้องการจะให้เป็นอย่างนั้น

……………

เผยแพร่ใน สยามรัฐรายวัน 22 มกราคม 2541

Comments are closed.