เรื่องสั้น หัวใจเปื้อนชอล์ก ตอนท่องยมโลก (คำพยากรณ์)

star

จิปาถะ
เรื่องสั้น หัวใจเปื้อนชอล์ก ตอนท่องยมโลก (คำพยากรณ์)
ได้ปรากฏเสียงล่ำลือที่โจษจันกันอย่างกว้างขวางว่า มีฤษีชาวภารตะรูปร่างผอมสูงผิวคล้ำใส่ชุดขาวมายืนหยุดพิจารณาอยู่ ณ ที่นี้ จากนั้นก็เดินหายไปทางด้านสนามกีฬา แต่ก่อนจากไปได้พยากรณ์ว่า

สถานที่แห่งนี้ อดีตคือเนินดินกว้างใหญ่ไพศาล มีศาลาโถงตั้งอยู่กลางเดิ่น เป็นสถานที่ของทางราชการที่ใช้สำหรับให้เฮลิคอปเตอร์ขึ้นลง เพื่อปฏิบัติภารกิจเร่งด่วน แต่บางครั้งก็ได้ใช้เป็นที่จัดงานประเพณีของพี่น้องประชาชนในท้องถิ่น เช่น งานบุญบั้งไฟ เป็นต้น เป็นสาธารณะสมบัติที่ได้สงเคราะห์ชนทุกเหล่าให้มีความเจริญก้าวหน้าทางวัฒนธรรมในระดับต่างๆกันเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นในกิจกรรมส่วนรวมทั่วไป

ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นสถานศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้กุลบุตรกุลธิดาได้ศึกษาเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษาโดยทั่วหน้า ไม่ต้องเสียเงินทองมากมายเพื่อเดินทางไปศึกษาในกรุงเทพมหานคร เหมือนอย่างแต่ก่อน และสถานศึกษาแห่งนี้ก็ได้พัฒนาให้มีศักยภาพสูงขึ้นตามลำดับอย่างต่อเนื่องยาวนาน เป็นที่เชิดหน้าชูตาของผู้คนในท้องถิ่นนี้เป็นอย่างยิ่ง

แต่บัดนี้ ได้เกิดเหตุการณ์อันไม่เป็นมงคล เนื่องจากผู้บริหารที่ได้รับการเลือกสรรขึ้นมาใหม่ ข่มเหงรังแกผู้ใต้บังคับบัญชา มีการข่มขู่ให้เกรงกลัวในลักษณะต่างๆนาๆ ใช้อำนาจบาตรใหญ่ จนมีเรื่องราวฟ้องร้องกันในโรงในศาลทั้งจากผู้ใต้บังคับบัญชาและจากผู้บังคับบัญชาจนยุ่งเหยิงกันไปหมด ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ไม่เคยปรากฏ ณ ที่นี้มาก่อน

ความเงียบเหงาวังเวงหดหู่ได้แพร่กระจายไปทั่ว ผู้คนที่ปฏิบัติหน้าที่การงานอยู่ต่างขวัญผวา ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเหตุวิบัติจะเกิดขึ้นกับตนเองเมื่อใด เมื่อถึงเวลาทำงานก็จะก้มหน้าก้มตาทำงาน ไม่ต้องการปฏิสัมพันธ์กับใครๆ และเมื่อถึงเวลาเลิกงานก็รีบกลับบ้าน อันถือว่าปลอดภัยไว้ก่อน เพราะจากตัวอย่างที่ปรากฏ คือผู้บริหารที่หลงตนว่ามีอำนาจยิ่งใหญ่สามารถจะทำอะไรได้ตามใจ และได้ทำร้ายเบียดเบียนผู้ใต้บังคับบัญชาให้เดือดร้อนลำเค็ญจนเป็นที่ประจักษ์ และบัดนี้ลางร้ายก็ได้ปรากฏขึ้นแล้ว

ในมหากาพย์ มหาภารตะ ซึ่งรจนาโดยฤษี กฤษณะ ทฺวปายนะ วฺยาส กล่าวว่า
“กษณะนั้น เสียงหอนอันเยือกเย็นโหยหวนของบรรดาสุนักจิ้งจอกก็ดังก้องมาจากโหมศาลาอันได้แก่สถานที่ประกอบพิธีบูชายัญ พร้อมกันนั้นก็มีเสียงขานรับเป็นทอดๆ ของเหล่าลา และวิหคนกกาดังเซ็งแซ่ประสานกันขึ้นมาจากทั้งสี่ทิศ”(กรุณา-เรืองอุไร กุศลาศัย.(2532).112-113)

ใครก็ตามที่ได้ยินเสียงเซ็งแซ่ประสานกันของสัตว์ทั้งสามประเภทนี้ก็จะสะดุ้งใจ เพราะเป็นเรื่องที่เชื่อถือกันมาแต่โบราณกาลว่า จะมีเหตุวิบัติเกิดขึ้น ณ ที่นั้น เสียงซึ่งถือกันว่าไม่เป็นมงคลนี้เกิดขึ้นเมื่อใด เหล่าบัณฑิตที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานที่แห่งนี้ทั้งในอดีตและปัจจุบันก็จะต้องหันหน้ามาปรึกษาหารือกันว่า ลางร้ายที่ได้อุบัติขึ้นนี้ เป็นเครื่องเตือนสติแล้วว่า การบริหารงานของผู้บริหารที่ใช้อำนาจไม่เป็นไปตามทำนองครองธรรม จะต้องยุติการก่อกรรมทำเข็ญของผู้บังคับบัญชาที่ปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชาเสียตั้งแต่บัดนี้ มิฉะนั้นแล้ว ก็น่ากลัวว่า จะเกิดภัยพิบัติอย่างใหญ่หลวงขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้อย่างแน่นอน
“คำพยากรณ์” นี้ได้ถูกแจกจ่ายไปทั่ว แต่อนิจจา หาได้มีใครใส่ใจไม่ ก็คงเป็นไปตามสุภาษิตสันสกฤตที่ขอนำมากล่าวซ้ำอีกครั้งว่า “วินาศกาเล วิปรีต พุทฺธิ” เมื่อยามที่ความพินาศหายนะจะมาถึง พุทธิหรือสติปัญญาก็มักจะแปรปรวนไป.
…..

Comments are closed.