หัวใจเปื้อนชอล์ก ตอน ร้าน ผ.จักรยาน

brike

หัวใจเปื้อนชอล์ก ตอน ร้าน ผ. จักรยาน
“บุรีรัมย์ ตำน้ำกิน” คำพูดติดปากคนเก่าคนแก่มาเป็นเวลายาวนานที่คนบุรีรัมย์รุ่นใหม่หลายคนอยากจะลืม เพราะคิดว่าคำพูดดังกล่าวเป็นปมด้อย ที่แสดงให้เห็นถึงความแห้งแล้ง อดอยาก ทุรกันดาร ของจังหวัดบุรีรัมย์ แต่ความจริงไม่ใช่ มันคือปมเด่นที่แสดงให้เห็นว่าคนบุรีรัมย์เป็นคนมีมานะอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ และที่สำคัญ¬เป็นการแสดงให้เห็นถึงภูมิปั¬¬ญญา ที่แหลมคมอย่างแท้จริง คนแต่ก่อนที่สามารถแยกน้ำออกจากดินเพื่อใช้ดื่มกินได้ ไม่ใช่คนธรรมดา เป็นนักวิทยาศาสตร์
เดี๋ยวนี้ บุรีรัมย์มีคำขวั¬ญใหม่ว่า “เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม” เป็นคำขวั¬ญที่สามารถรวมความเป็นบุรีรัมย์ไว้อย่างครบถ้วน คือเป็นเมืองที่มีปราสาทหินเป็นจำนวนมาก มีภูเขาไฟที่ดับแล้วหลายแห่ง มีผ้าไหมที่ทอด้วยฝีมือประณีตงดงามจนมีชื่อเสียง และมีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ทั้งนี้เพราะบุรีรัมย์มีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เป็นคนพื้นเมืองเดิม คือไทยลาวหรือไทยอีสาน สืบสายวัฒนธรรมมาจากลาว ไทยเขมร สืบสายวัฒนธรรมมาจากเขมร และไทยส่วย มีลักษณะกึ่งลาวกึ่งเขมร ไทยโคราช สืบสายวัฒนธรรมมาจากไทยภาคกลางและไทยอีสาน
ขณะที่ผมปฏิบัติราชการอยู่ที่อำเภอนางรอง ผมมักจะเดินทางไปอำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์บ่อยๆ บางครั้งเดินทางไปเพื่อโดยสารรถไฟกลับกรุงเทพฯ เพราะทางสายโชคชัย-เดชอุดม เพิ่งเริ่มลงมือสร้าง หรือบางครั้งได้รับคำสั่งให้ไปติดต่อราชการ การเดินทางไปจังหวัดแต่ละครั้งต้องใช้เวลาเป็นวัน และต้องพักค้างคืน เพราะรถโดยสารไปและกลับ ออกจากท่าแต่เช้าและมีวันละ 1 เที่ยวเท่านั้น จึงต้องไปพักที่โรงแรม
วันหนึ่ง เฉลิม ทับถม เพื่อนที่เรียนมาด้วยกันสมัยอยู่เพชรบุรี ย้ายมาทำงานพัฒนาชุมชนที่อำเภอนางรอง เฉลิมมีบ้านหลังหนึ่งอยู่ในตัวจังหวัดบุรีรัมย์ ผมไม่ค่อยรู้รายละเอียดเกี่ยวกับบ้านหลังนั้นนัก รู้แต่เพียงว่าไม่มีใครอยู่ ถ้ามีธุระไปจังหวัดก็สามารถไปพักได้สบายๆ ไม่ต้องเสียค่าโรงแรม ดังนั้นเวลามีธุระหรือไปราชการที่จังหวัด ผมจึงไปพักที่บ้านหลังนั้นเป็นประจำ
บ้านของเฉลิมอยู่ในซอยเล็กๆ จากถนนให¬ญ่เป็นถนนลูกรังตรงเข้าไปประมาณ 100 เมตร อยู่สามแยกพอดี เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว หลังคามุงสังกะสี มี 2 ห้องนอน ห้องครัว ห้องน้ำ และระเบียง ใต้ถุนเตี้ยใช้เป็นห้องเก็บของ จากบันไดลงมาเป็นบริเวณบ้าน ปลูกไม้ดอกไว้สองสามต้น นอกนั้นเป็นห¬ญ้ารก มีประตูเข้าออกทางด้านหน้า
ครั้งหนึ่ง ผมไปติดต่อราชการที่จังหวัดและไปพักที่บ้านดังกล่าว เมื่อเสร็จภารกิจแล้ว ตอนเย็นก่อนจะเข้าบ้านผมแวะรับประทานอาหารที่ร้านหน้าปากซอย เพราะขี้เกียจออกมาใหม่ ขณะที่นั่งรับประทานอาหารอยู่นั้น ปรากฏว่ามีลุงคนหนึ่งใส่เสื้อคอฮาวายสีดำ หน้าตาบ่งบอกว่าเป็นคนพื้นถิ่น ผอมเกร็งแต่แข็งแรง หิ้วกระเป๋าเดินทางเข้ามาในร้าน โต๊ะว่างมีตั้งเยอะแยะ แกก็ไม่นั่ง มาขอนั่งร่วมโต๊ะด้วย อ้างว่าจะได้มีเพื่อนคุย ผมก็ไม่ขัดข้อง
คุณลุงแนะนำตัวเองว่า ชื่อผาด ทำรัง บ้านอยู่ในซอยนี้แหละ ปัจจุบันเปิดร้านเล็กๆซ่อมจักรยานอยู่หน้าปากซอยถัดไป ชื่อร้าน ผ.จักรยาน วันนี้เพิ่งกลับจากไปเยี่ยม¬ญาติที่อำเภอพุทไธสง ทานอาหารเสร็จจึงจะเข้าบ้าน
เราคุยและทานอาหารกันไปจนอิ่ม ลุงผาดเพิ่งจะถามผมว่า “คุณพักที่ไหน?”
ผมตอบว่า “ พักอยู่บ้านในซอยเดียวกับลุงนี่แหละ มาราชการ พรุ่งนี้จะกลับแต่เช้า”
ลุงผาดถามต่อว่า “บ้านที่พักอยู่ตรงไหน?” แสดงอาการว่าอยากจะรู้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
“อยู่ตรงสามแยกครับ บ้านเล็กๆ หลังเดียวโดดๆ” ผมตอบ
ลุงผาดทำหน้าฉงน ถามด้วยความสงสัย “คุณนอนที่บ้านนั้นหรือ?”
ผมตอบว่า“ครับ” รู้สึกงงๆกับคำถามแบบนั้น
ลุงผาดเผอพูดออกมาเบาๆว่า “นอนได้อย่างไร ผีดุจะตาย”
พูดเสร็จ ลุงผาดชะงัก เหมือนนึกอะไรขึ้นได้ เลยพูดไถลไปว่า “อาจจะคนละหลังกัน”
คำพูดดังกล่าว ทำให้ทั้งผู้พูดและผู้ฟังเงียบไปชั่วขณะ บรรยากาศทำท่าจะไม่สุนทรีย์
ลุงผาดเห็นบรรยากาศไม่ค่อยดี ก็เลยขอตัวเดินเข้าซอยไป
ผมนั่งอยู่ต่อเพื่ออ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ที่อ่านค้างอยู่ให้จบ แล้วเดินไปซื้อสบู่และยาสีฟัน จากนั้นก็เดินเข้าบ้าน ก่อนจะถึงบ้านผมนึกขึ้นมาได้ ลุงผาดแกว่าบ้านนี้ผีดุนี่หว่า!
ความจริงแล้วผมไม่ใช่คนกลัวผี แต่หลังจากที่โดนครูทวีหลอกซ้อนท้ายจักรยานที่หนองโกรกแล้ว ผมก็เริ่มไม่แน่ใจตัวเอง เมื่อนึกถึงคำพูดของลุงผาด ก็เริ่มมีความวิตกกังวลอยู่บ้าง
เมื่อเปิดประตูบ้านเข้าไป ผมรู้สึกได้ว่าการเข้าบ้านครั้งนี้แตกต่างไปจากครั้งก่อนๆ มันเงียบผิดปกติ ผมเดินไปเปิดไฟทุกดวงเพื่อให้แสงสว่างเป็นเพื่อน
ผมเพิ่งสังเกตว่า สิ่งของที่กองและแขวนอยู่ในบ้านนั้น เป็นชิ้นส่วนของรถจักรยาน ผมสลัดความกังวลที่เกิดขึ้น เราคิดไปเอง
ผมเดินไปที่ภาพเขียนที่พิงคว่ำหน้าอยู่ที่ข้างฝา ใช้มือพลิกภาพขึ้นดูว่าเป็นภาพอะไร ผมเห็นแวบ
เดียวก็ต้องรีบชักมือที่สั่นกลับด้วยความระทึก รู้สึกได้ว่าหน้าผมมีเงื่อซึม หัวใจเต้นถี่ขึ้นเพราะกลัว มันเป็นภาพ The Screem (เสียงกรีดร้อง) งาน reproduct ของ Edvard Munch (เอ็ดเวิร์ด มุงค์. 1863 –1944) ศิลปินชาวนอร์เวย์
ผมสลัดความคิดฟุ้งซ่าน รีบอาบน้ำแปรงฟันและเข้านอน เพราะพรุ่งนี้จะกลับแต่เช้า
แต่ปรากฏว่าผมนอนไม่หลับ คำว่า “นอนได้อย่างไร ผีดุจะตาย” รวมทั้งชิ้นส่วนของจักรยานและภาพเขียนของ เอ็ดเวิร์ด มุงค์ รบกวนความรู้สึกผมอยู่ตลอดเวลา เสียงสังกะสีหลังคาที่ขยายตัวเมื่อได้รับอากาศเย็นทำให้ผมตกใจกลัว เสียงกรอกแกรกในห้องเก็บของใต้ถุนบ้านทำให้ผมสะดุ้ง ผมระแวงแม้กระทั่งเสียงน้ำค้างที่หยดจากชายคาบ้านลงมากระทบกับใบไม้แห้ง
ผมผลุนผลันลุกขึ้นเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเก็บข้าวของออกจากบ้านทันที เมื่อได้กลิ่นสาบสางโชยมาจากใต้ถุนบ้าน ผมเดินแน่วออกจากซอยอย่างรวดเร็ว คิดอย่างเดียวว่า ไปนอนโรงแรมดีกว่า
ผมให้สามล้อพาไปหาโรงแรมที่พัก แต่ปรากฏว่าโรงแรมเต็มหมด ผมจึงวกกลับมาที่ร้านอาหารหน้าปากซอยตามเดิม คิดว่าจะนั่งดื่มเบียร์ฆ่าเวลาจนกว่าร้านปิด ผมอาจกลับไปนอนที่บ้านอีกก็ได้ เพราะเมื่อเมาแล้วก็คงจะแล้วกัน ผมคิดในใจ
แต่ก่อนที่ร้านจะปิดผมนึกขึ้นได้ ลุงผาดบอกว่า แกเปิดร้านซ่อมจักรยานอยู่ที่หน้าซอยถัดไป ผมออกจากร้านอาหารไปหาร้าน ผ. จักรยาน ทุกหัวซอยในบริเวณนั้น แต่ก็ไม่มี
ผมไม่รู้ว่าผมกลัวผีหรือเปล่า แต่คืนนั้นผมใช้กระเป๋าเสื้อผ้าหนุนหัวขดตัวนอนอยู่ที่ม้าหินขัดหน้าสถานีรถไฟบุรีรัมย์ และตั้งแต่วันนั้นมาผมก็ไม่กล้าไปพักบ้านนั้นอีกเลย
………

Comments are closed.