“สิ่งพิเศษ”ในวรรณคดีไทย

literature

จิปาถะ
“สิ่งพิเศษ”ในวรรณคดีไทย
ในวรรณคดีไทย เมื่อเวลาจะมีเหตุเกิดขึ้น ไม่ว่าจะร้ายหรือดี ก็มักมีสิ่งพิเศษเกิดขึ้นเสมอ สิ่งพิเศษเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น พระอาทิตย์ทรงกรด หรือ ฝนเกิดตกลงมาในขณะที่แดดออกจ้า เป็นต้น นอกจากนั้นก็อาจเป็นสิ่งพิเศษที่โจษจันเล่าขานกันต่อๆมาจากปากหนึ่งไปยังอีกปากหนึ่ง แต่เอาเป็นเรื่องเป็นราวไม่ได้ ที่เป็นเรื่องเป็นราวก็จะมีในวรรณกรรม เช่น ในวรรณคดีเรื่องอีเหนา เมื่อนางประไหมสุหรีแห่งเมือกุเรปัน จะประสูติพระราชโอรส ฟ้าดินก็มีอันเป็นไปให้ปรากฏ แต่มิได้ทำให้อาณาประชาราษฎร์เดือดร้อน แต่กลับเย็นชุ่มฉ่ำไปตลอดทั้ง 7 วัน แสดงให้รู้ว่าคนมี บุญจะมาเกิด เป็นเรื่องของความเชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องดี ดังความตอนหนึ่งว่า
“ฟ้าลั่นอึงอลนภาลัย
แลบพรายเป็นสายอินทรธนู
สักครู่ก็เกิดพายุใหญ่
ไม้ไหล้ลู่ล้มระทมไป
แล้วฝนห่าใหญ่ตกลงมา”(กุสุมา.47)

ในวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ เมื่อนางสีดาถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวไปทำให้พระรามโศกเศร้าเสียใจอาลัยหา เกิดสิ่งพิเศษขึ้นเหมือนกัน แต่เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก แต่ไปในทางไม่คอยดี ดังความว่า
“ทศทิศมืดคลุ้มชอุ่มควัน ฟ้าลั่นครั่นครื้นอึงอล
อันพฤกษาชาติริมทาง ม่วงปรางลางสาดที่ทรงผล
ก็ผลิดอกออกช่อเสาวคนธ์ ล้วนพิกลหลายหลากประหลาดใจ
ฝ่ายหมู่ปักษาทิชากร จะบินร่อนไปมาก็หาไม่
จับเจ่าเหงาเงียบสงัดไป มิได้ขานขันจำนรรจา” (กุสุมา.48)

ใน จิปาถะ ตอนเปิดโลก โดยวิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ ก็มีสิ่งพิเศษเกิดขึ้นกับเขาเหมือนกัน ความว่า
“บ่ายวันนั้น พายุฝนพัดกระโชกแรงอย่างไม่มีปีมีขลุ่ยทั่วบริเวณสถาบัน ต้นไม้โอนเอนบิดตัวอย่างปวดร้าวไปตามกระแสลมแรง ใบไม่ปลิวว่อนหมุนวนเป็นหลุมลึก เสียงฟ้าร้องครวญคร่ำดั่งเสียงสะอื้นของปีศาจ ที่อาคาร 15 ชั้น ลมเย็นพัดวูบเป็นสายมาทางด้านหน้าอาคารเข้าไปในลิฟท์ที่เปิดอ้าและปิดลง นักศึกษาที่ออกมาจากลิฟท์ผงะหงายไปเหมือนถูกผลักด้วยสีหน้าตื่นตระหนก อากาศ ณ ชั้นสองเย็นยะเยือก เงียบสงัดดั่งป่าช้าร้าง ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นเวลา 2 นาที”

เหตุการณ์พิเศษในเปิดโลกนั้น กล่าวกันว่า เป็นช่วงเวลาที่พญายมราชเปิดโอกาสให้พ่อกับลูกได้พบกัน แต่หลังจากได้พบกันแล้วจะดีร้ายอย่างไรยังไม่ปรากฏผล เพราะเรื่องยังไม่จบ ก็คงต้องค่อยๆดูกันไป คนที่อยากจะให้เป็นผลอย่างไรก็สวดมนต์ไหว้พระตั้งจิตอธิฐานเอาก็แล้วกันครับ ได้ผลแน่นอน ช่วยกันครับ เพราะสถานที่แห่งนี้พวกเรามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ
……..
อ้างอิง
กุสุมา รักษมณี ศ.ดร.(2521) สีสันวรรณคดี ชุด บทวิจารณ์ชีวิต.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า.

 

Comments are closed.