ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น

body

จิปาถะ
ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น
Pallop Soksomsri ได้แสดงความเห็น ใน จิปาถะ เรื่อง ความเคยชิน โพสต์เมื่อ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2557 ความว่า “จะแก้ที่ปลายเหตุคงยากแล้วล่ะ. นิสัยถูกบ่มเพาะมานาน. โบราณเค้าว่าไว้ ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น. ผมไม่แน่ใจว่ายกตัวอย่างถูกหรือผิดอาจารย์ช่วยวิจารณ์ให้ด้วยครับ”
ขอแสดงความเห็นดังนี้ครับ : สำนวนไทยที่ว่า“ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น”หรือ “ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” น่าจะเป็นสำนวนที่มีขึ้นเพื่อเตือนให้ระมัดระวัง เวลาจะคบค้าสมาคมกับใคร หรือจะร่วมหัวจมท้ายกับใคร ให้ดูเทือกเถาเหล่าก่อให้แน่ชัดเสียก่อน ยิ่งถ้าเป็นผู้หญิงที่เราจะแต่งงานด้วยแล้ว ก็ต้องตามไปดูที่แม่กันเลย เพราะแม่เธอนั้น เลี้ยงเธอมากับมือ นิสัยใจคอคงจะไม่แตกต่างกันมากนัก ตัวอย่างเช่น ผลมะม่วงที่งอกและเจริญเติบโตขึ้นเป็นต้นมะม่วง เมื่อมีลูก ก็คือมะม่วง เมื่อแก่จัดหล่นลงมาก็งอกขึ้นเป็นต้นมะม่วง และมีลูกเป็นมะม่วง วนเวียนอยู่เช่นนี้ตลอดไป เป็นอย่างอื่นไม่ได้ อันนี้เป็นธรรมชาติของมะม่วง
แต่นั่นแหละ ทั้งคนและมะม่วงก็สามารถพัฒนาได้ มะม่วงเมื่อนำไปปลูกและบำรุงเลี้ยงดูอย่างดี ถึงแม้ว่าพันธุ์จะไม่ดี ก็สามารถพัฒนาพันธุ์ให้มีคุณภาพดี มีลูกใหญ่และดก รสหวาน อร่อยน่ารับประทานได้ ส่วนคนก็เช่นกัน ถ้าได้ไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ได้รับการอบรมบ่มนิสัย ให้เป็นคนมีคุณธรรมจริยธรรม ก็สามารถจะเป็นคนดีได้ เช่นกัน ดังนั้นสภาพแวดล้อมจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง มีเรื่องเล่าว่า “ในสมัยที่เมิ่งจื่อยังเป็นเด็ก มารดาของท่านต้องย้ายบ้านถึง 3 ครั้ง เพราะเห็นว่าสภาพแวดล้อมไม่ดี กลัวเมิ่งจื่อจะเสียคน (ส.สุวรรณ.สำนวนจีน.68)

ส่วนนิสัยเกิดจากความเคยชิน เหมือนท่าน pallop ว่า นิสัยถูกบ่มเพาะมานาน แก้ที่ปลายเหตุคงยากแล้วล่ะ สอดคล้องกับสำนวนจีนที่เคยนำเสนอไปแล้วว่า “ดุจเข้าไปในร้านปลาเค็ม” มันเหม็นโฉ่ไปหมดแล้ว แก้ยาก จะเห็นได้ว่า คนที่มีนิสัยเลวก็จะเลวอยู่อย่างนั้น (เลวจนเคยตัว) ที่สำคัญ เลวคนเดียวยังไม่พอพาคนอื่นเลวไปด้วย แล้วก็แก้ยาก เหมือนสนิมเหล็กเกาะกินเหล็กจนผุพังไปด้วยกันทั้งเหล็กและสนิม
ดังนั้น การที่เหล็กเกิดสนิม ก็ต้องนำมาขัด ถ้าขัดไม่ออกก็เอาไปทิ้ง ถ้าไม่มีที่ทิ้ง ก็ปล่อยไว้อย่างนั้นแหละ เดี๋ยวสนิมก็จะกัดกินเหล็กผุกร่อนไปด้วยกันเป็นผงสนิมเหล็กอย่างแน่นอน อันนี้เป็นระเบียบของฟ้าดิน
….
อ้างอิง
ส.สุวรรณ.(2541).สำนวนจีน.พิมพ์ครั้งที่ 3 .กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พิราบ

Comments are closed.