ดร.จารุณี ชัยโชติอนันต์

pecock Picture 161 silk

จิปาถะ
ดร.จารุณี ชัยโชติอนันต์
เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (9 มกราคม 2558) ผมมีโอกาสได้ไปแสดงความยินดีกับ อาจารย์ ดร.จารุณี ชัยโชติอนันต์ รวดเดียว 4 รายการเลย ดังนี้ 1) เนื่องในวาระดิถีวันขึ้นปีใหม่ 2558. 2) เนื่องจากท่านจบการศึกษาในระดับปริญญาเอก 3 ) วันคล้ายวันเกิดของท่าน และ 4) ท่านเกษียณอายุราชการ ซึ่งแต่ละรายการก็ต่างกรรมต่างวาระกัน แต่ผมไปรวดเดียวจบ เพราะอายุมากแล้วเลยใช้ฉบับย่อ
อาจารย์ ดร.จารุณี ชัยโชติอนันต์ เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เป็นเพื่อนอีกคนหนึ่งที่เก่งมากๆ มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับสิ่งทอมากมาย มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องผ้าทอมือ เพราะทอผ้าเป็นมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งถ้าคุยกับท่านเรื่องทอผ้าแล้ว คุยกันสามวันเจ็ดวันไม่มีจบ เริ่มตั้งแต่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวเส้นใยไหม ฟอกทำความสะอาดไหม ย้อมไหม เตรียมเส้นยืน จนถึงกระบวนการทอ ฯลฯ
สำหรับผม ความรู้เรื่องผ้าถือเป็นศูนย์ เห็นผ้าก็รู้แต่ว่าสวย มองไม่เห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในผ้านั้นเลยจริงๆ พอดีวันที่ผมไปหา ท่านได้มอบผ้าพันคอให้ 1 ผืน และผลงานสดๆร้อนๆติดมือมา 1 เล่ม คือ “สืบสานตำนาน ผ้าไหมบุรีรัมย์” ได้อ่านดูเพียงคราวๆก็รู้สึกจะหลงเสน่ห์ของผ้าไหมทอมือบุรีรัมย์ไปเสียแล้ว อยู่บุรีรัมย์ตั้งนมนานมัวหลงไปดูแต่ภูเขาไฟ ปราสาทหิน สิมอีสาน แต่ไม่เคยไปดูผ้าไหมเลย น่าเสียดายจริงๆ
เมื่อพูดถึงผ้าไหมทอมือของจังหวัดบุรีรัมย์ ก็ต้องพูดถึงผู้คนบุรีรัมย์ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ๆ 4 กลุ่มคือ ลาวอีสาน เขมร ไทยเดิ้ง และกูย ไม่รวมกลุ่มย่อยอื่นๆ ผู้คนเหล่านี้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมบ้าง อพยพโยกย้ายมาจากที่อื่นบ้าง และที่สำคัญมากๆก็คือ ผู้คนเหล่านี้นำวิชาการการทอผ้าติดตัวมาด้วย ดังนั้นการผลิตผ้าทอมือในจังหวัดบุรีรัมย์จึงมีความหลากหลายแตกต่างกันตามความรู้และภูมิปัญญาของชาติพันธุ์ “ว่ากันว่า ถ้าต้องการผ้าทอที่มีความเป็นบุรีรัมย์ได้นั้น ต้องมีผ้าอย่างน้อย 4 ผืน และถ้าจะให้ลึกซึ้งขึ้นไปอีก จะต้องมีอย่างน้อย 16 ผืน ชาติพันธ์ละ 4 ผืน คือ ผ้านุ่ง ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าพันคอหรือผ้าคลุมไหล่ จะเห็นความงามที่เหมือนและแตกต่างกันอย่างสวยงาม”(จารุณี.15)
ในหนังสือ “สืบสานตำนาน ผ้าไหมบุรีรัมย์” อาจารย์ได้อธิบายถึงการทอผ้าชนิดต่างๆ ที่อาจเรียกชื่อตามเทคนิคการทอ เรียกชื่อดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ หรือ เรียกตามลายผ้า และอื่นๆ เกือบ 20 ชนิด เช่น
“การทอผ้าโสร่งสไร “โสร่งสไร” แปลว่าผ้าลายโสร่งสำหรับผู้หญิง เป็นผ้านุ่งสตรี.ในกลุ่มชาติพันธุ์เขมร ไทยเดิ้ง และกูยบุรีรัมย์ มีลักษณะเป็นผ้าลายตารางเล็กๆ สีน้ำหมาก สีเขียวขี้ม้า สีเม็ดมะขาม หรือสีเข้มๆอื่นๆ การค้นเส้นยืนจะค้นความกว้างของลายประมาณ 8-12 ฟันหวี แล้วแทรกด้วยสีขาว 1 ช่องฟันหวี นับเป็น 1 รีพีท ค้นเส้นยืนแบบนี้จนตลอดหน้าผ้า”(จารุณี.56)
“การทอผ้าอัลลูซีม ผ้าอัลลูซีม เป็นผ้าลายโบราณชิ้นหนึ่งในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ พบในกลุ่มทุกกลุ่มชาติพันธุ์ จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ผ้าอัลลูซีมมีลักษณะเป็นลายลิ้วในแนวดิ่ง ทอสลับกันด้วยเส้นไหมสีพื้นและเส้นไหมตีเกลียวควบสองสี มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น จะ ปัน ชัวร์ ผ้าควบคั่น หรือผ้าคั่นควบ โดยจะเรียกตามเทคนิควิธีและลวดลายที่มองเห็น”(จารุณี.61)
เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้อีกประการหนึ่งก็คือ ในบทที่ 4 “เริงร่ารื่นรมย์ชมงานหัตถกรรม” ซึ่งผู้เขียนจะพาท่านไปชมแหล่งทอผ้ามือในจังหวัดบุรีรัมย์ เช่น บ้านหนองตาไก้ อำเภอนางรอง บ้านโคกเมือง อ.เฉลิมพระเกียรติ บ้านหัวสะพาน และหมู่บ้านอื่นๆในอำเภอพุทไธสง อ.นาโพธิ์ และ อ. บ้านไหม่ชัยพจน์ เป็นต้น

หนังสือของอาจารย์ ดร.จารุณี ชัยโชติอนันต์ จบลงด้วยบทที่ 5 “ร่มรื่นรุ่งเรืองใต้ร่มพระบารมี” ซึ่งเป็นบทที่กล่าวถึง สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงให้การสนับสนุนการทอผ้าไหมของชาวบ้าน มีการมอบเครื่องหมายรับรองคุณภาพตรานกยูงพระราชทาน 4 ชนิด คือ 1)นกยูงสีทอง (Royal Thai Silk) 2) นกยูงสีเงิน (Classic Thai Silk) 3) นกยูงสีน้ำเงิน (Thai Silk) 4)นกยูงสีเขียว (Thai Silk Blend) เพื่อยกระดับเส้นไหมและผ้าไหมจากชาวไรชาวนาให้เป็นสินค้าในระดับโลก นอกจากนั้นพระองค์ท่านยังได้สนับสนุน ให้มีศูนย์ศิลปาชีพเกิดขึ้นในจังหวัดบุรีรัมย์ถึง 3 แห่ง คือ 1)ศูนย์ศิลปาชีพอำเภอกระสัง 2)ศูนย์ศิลปาชีพอำเภอละหานทราย และ 3)ศูนย์ศิลปาชีพบ้านนาโพธิ์
สำหรับท่านที่เริ่มสนใจเรื่องผ้า อ่าน “สืบสานตำนาน ผ้าไหมบุรีรัมย์” เล่มเดียว ก็ได้ความรู้เรื่องผ้าไหมโขอยู่ ครับ
………
จารุณี ชัยโชติอนันต์,ดร.(2556).สืบสานตำนาน ผ้าไหมบุรีรัมย์.กรุงเทพฯ : บริษัท ไอพริ้นท์ แอนด์ เทคโนโลยี (ไทยแลนด์)จำกัด.

 

Comments are closed.