ขอต่อเรื่องผ้าอีกสักวัน

thaii thai

จิปาถะ
ขอต่อเรื่องผ้าอีกสักวัน
คือว่า ก่อนหน้านี้ ถ้าใครมาถามผมว่า ผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ คือ ผ้าอะไร ผมก็จะตอบว่า ผมไม่รู้ เรื่องนี้อย่ามาถามผมเลย
แต่หลังจากที่ผมได้หนังสือเรื่อง “สืบสานตำนาน ผ้าไหมบุรีรัมย์” ซึ่งเขียนโดย ดร.จารุณี ชัยโชติอนันต์ แล้ว ผมก็สามารถตอบได้อย่างมั่นใจว่า
ผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดบุรีรัมย์นั้น มี 3 ผืน คือ 1) ผ้าหางกระรอกคู่ 2) ผ้าอันลูยซีมทรายชมพู** และ 3) ผ้าหางกระรอกคู่ตีนแดง
คนถามที่ไม่ค่อยจะรู้เรื่องผ้าเหมือนผมก็จะถามต่อไปว่า ผ้าทั้งสามผืนนั้นมันเป็นอย่างไร
ผมก็จะเปิดหนังสือของอาจารย์และตอบว่า
เมื่อปี พ.ศ. 2545 จังหวัดบุรีรัมย์ได้เลือกผ้าลายริ้ว*ให้เป็นผ้าประจำจังหวัด ตั้งชื่อผ้าตามกระบวนการผลิตว่า “ผ้าหางกระรอกคู่”โดยกำหนดระเบียบการทอผ้าลายริ้ว ให้พุ่งเส้นพุ่งควบเกลียวแบบการทอผ้าหางกระรอก 2 เส้น สลับกับการพุ่งสีพื้น 4 เส้น และสีอื่นๆอีก 2 เส้น สลับกันไปเป็นลายริ้วที่สวยงาม
ต่อมาในปี 2547 เทศบาลเมืองบุนรีรัมย์ ได้ปรับปรุงผ้าหางกระรอกคู่ให้สามารถแสดงอัตลักษณ์ของจังหวัดบุรีรัมย์ได้โดดเด่นยิ่งขึ้น โดยกำหนดเนื้อผ้าเป็นลายตารางเล็กๆ เป็นเม็ดทรายในเนื้อผ้าด้วยเทคนิคการทอผ้าสองหน้า กำหนดเส้นพุ่งให้พุ่งเช่นเดียวกับผ้าหางกระรอกคู่ ด้วยเส้นควบสีเหลืองแดงและม่วงขาว ตามสีประจำจังหวัด (สีส้มและสีม่วง) และกำหนดให้สีผ้าเป็นโทนหินทรายสีชมพูของปราสาทพนมรุ้ง เรียกผ้า “อัลลูยซีมทรายชมพู” และสนับสนุนให้เป็นผ้าประจำจังหวัดอีกชิ้นหนึ่ง
ในระหว่างปี พ.ศ. 2555-2556 จังหวัดบุรีรัมย์ได้ทบทวนการกำหนดผ้าประจำจังหวัดจากภาคีหลายส่วนอีกครั้ง เพื่อแสดงความหมายตามชาติพันธุ์ที่หลากหลายที่อยู่รวมกันอยู่อย่าง
ผสมผสาน ผลิตผ้าประจำจังหวัดอีกชิ้นหนึ่งคือ “ผ้าหางกระรอกคู่ตีนแดง” โดยเพิ่มการทำหัวซิ่นและตีนซิ่นสีแดงขนาดใหญ่ ตามอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว และกูยจังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งชื่อใหม่ว่า “ผ้าหางกระรอกคู่ตีนแดง” หรือ “ผ้าตีนแดงหางกระรอก” มีอัตลักษณ์ทั้ง 4 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ
1) ความเป็นผ้าหางกระรอกของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเดิ้ง
2) ความเป็นผ้าลายริ้วของกลุ่มชาติพันธุ์เขมร
3) ความเป็นซิ่นมีตีนของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว
4) ความเป็นตีนซิ่นที่มีลวดลายมัดหมี่ของกลุ่มชาติพันธุ์กูย และ
5) ความเป็นแหล่งอารยธรรมของขอมโบราณของจังหวัดบุรีรัมย์จากโทนสหินทรายสีชมพูของ ปราสาทหินพนมรุ้ง มี 2 แบบ คือ ตีนแดงลายริ้ว และ ตีนแดงลายดอกสุพรรณิการ์
(ฝ้ายคำ) โดยให้ข้าราชการทุกหน่วยงานใช้เป็นตัวอย่างนำร่องให้แพร่หลาย และเปิดโอกาสให้ช่างทอผ้าทุกคนได้สร้างสรรค์ผ้า หางกระรอกคู่ตีนแดง ในความหมายทั้ง 5 ประการ(จารุณี.2556:93)
สรุปได้ว่า จังหวัดบุรีรัมย์มีผ้าทอมือประจำจังหวัด 3 ผืน คือ 1. ผ้าหางกระรอกคู่ 2. ผ้าอัลลูยซีมทรายชมพู 3. ผ้าหางกระรอกคู่ตีนแดง สอดคล้องกับคำขวัญของจังหวัด คือ เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม ส่วนผม ถ้ามีโอกาสไปบุรีรัมย์ จะหาซื้อผ้าหางกระรอกคู่ตีนแดง เป็น Collection เริ่มต้นเกี่ยวกับผ้าสัก 1 ผืน ครับ
……..
อ้างอิง
จารุณี ชัยโชติอนันต์,ดร.(2556).สืบสานตำนาน ผ้าไหมบุรีรัมย์.กรุงเทพฯ : บริษัท ไอพริ้นท์ แอนด์ เทคโนโลยี (ไทยแลนด์)จำกัด.
ศัพท์
*ผ้าลายริ้ว : เป็นผ้าที่สร้างลวดลายด้วยเส้นไหมต่างสีหรือเส้นไหมพิเศษทางเส้นพุ่ง
**ผาอัลลูยซีม : เป็นผ้าลายโบราณชิ้นหนึ่งในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ พบในกลุ่มทุกกลุ่มชาติพันธุ์ จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ผ้าอัลลูซีมมีลักษณะเป็นลายริ้วในแนวดิ่ง ทอสลับกันด้วยเส้นไหมสีพื้นและเส้นไหมตีเกลียวควบสองสี มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น จะปันชัวร์ ผ้าควบคั่น หรือผ้าคั่นควบ โดยจะเรียกตามเทคนิควิธีและลวดลายที่มองเห็น”(จารุณี.61)

Comments are closed.