ชาร์ล็อตต์ แมงมุมเพื่อนรัก

pig

จิปาถะ
ชาร์ล็อตต์ แมงมุมเพื่อนรัก
วันนี้ (20 กันยายน 2557) ที่ห้องสมุด ม.ราชภัฏพระนคร ผมสะดุดตากับหนังสือเรื่อง ชาร์ล็อตต์ เพราะเป็นชื่อของเพื่อนที่เคยทำงานเป็นครูด้วยกัน ชาร์ล็อตต์ เป็นอาสาสมัครอเมริกันช่วยสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนนางรอง จ.บุรีรัมย์ นานมาแล้ว แต่ ชาร์ล็อตต์ ที่ผมสะดุดตานี้ เป็น “ชาร์ล็อตต์ แมงมุมเพื่อนรัก”
หนังสือเรื่อง ชาร์ล็อตต์ แมงมุมเพื่อนรัก ( Chalotte’ s Web ) แต่งโดย E.B. White (อี.บี. ไวท์ ) แปลโดย คณา คชา ภาพประกอบโดย การ์ธ วิลเลี่ยมส์ เป็นวรรณกรรมรางวัลนิวเบอรี หนังสือที่ นิตยสาร TIME ยกย่องให้ เป็นหนังสือเด็กที่ดีที่สุดในรอบศตวรรษ เป็นวรรณกรรมเยาวชน ลำดับที่ 47 ในวรรณกรรม 100 เรื่องที่เด็กไทยควรอ่าน ฉบับที่ผมอ่าน พิมพ์ครั้งที่ 31 พ.ศ. 2552 (ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ปี 2543) เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาที่เด็กรุ่นใหม่เขาอ่านกันมานมนานแล้ว แต่เนื่องจากผมเป็นเด็กรุ่นเก่า จึงยังไม่ได้อ่าน และเพิ่งจะอ่านวันนี้
ชาร์ล็อตต์ แมงมุมเพื่อนรัก เป็นเรื่องราวของมิตรภาพที่งดงามงามระหว่างลูกหมูตัวน้อย วิลเบอร์ และแมงมุมยักษ์สีเทา ชาร์ล็อตต์ และสรรพสัตว์ต่างๆ เช่น ห่าน หนู ฯลฯ ณ โรงนาแห่งหนึ่ง เป็นเรื่องราวที่สอนให้รู้จักคำว่า “เพื่อน” ว่ามีความหมาย มีความสำคัญและยิ่งใหญ่เพียงใด เพราะบางครั้งเมื่อต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวเพราะขาดเพื่อน ลองมาฟังเจ้าหมูน้อยวิลเบอร์ บ่นดูซิว่าเป็นอย่างไร
“ฉันอายุยังไม่ถึง 2 เดือนดีเลย ทำไมถึงเบื่อชีวิตอย่างนี้นะ” วิลเบอร์พึมพำ “ก่อนเดินออกไปที่ลานข้างนอกอีกครั้ง “พอออกมาข้างนอก” วิลเบอร์ บ่น “ก็ไม่รู้จะไปไหนนอกจากเข้าไปข้างใน พอเข้าไปข้างในก็ไม่รู้จะไปไหน นอกจากออกมาข้างนอก”( E.B White.24-25)
แต่ต่อมาเมื่อวิลเบอร์มีชาร์ล็อตต์เป็นเพื่อน ความรัก ความห่วงใย ความเอื้ออาทรต่อกัน ของสัตว์ทั้งสองสามารถ สอนคนได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ
และเมื่อ ชาร์ล็อตต์ สามารถชักใยเป็นสื่อให้ครอบครัว ชัคเกอร์แมน เข้าใจว่า วิลเบอร์ เป็นหมูพิเศษ เพื่อช่วยให้ วิลเบอร์ มีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้ บทสนทนาต่อไปนี้ มีคุณค่าอย่างยิ่ง สำหรับคำว่า “เพื่อน”
“ทำไม เธอถึงทำเพื่อฉันขนาดนี้” วิลเบอร์ถาม “ฉันไม่ควรจะได้รับสิ่งเหล่านี้ ฉันไม่เคยทำอะไรตอบแทนเธอเลย”.
“เธอทำแล้ว ก็เธอเป็นเพื่อนฉันไง” ชาร์ล็อตต์ตอบ “ นั่นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ฉันชักใยให้เธอ เพราะฉันชอบเธอ ยิ่งไปกว่านั้น ชีวิตคืออะไร เราต่างเกิดมามีชีวิตอยู่ในระยะเวลาอันสั้น ไม่ช้าก็ตายไป..การที่ฉันได้ช่วยเธอ ทำให้ชีวิตของฉันมีค่าขึ้น..” (E.B White.178-179) เราล่ะ ไม่ลองคิดช่วยเหลือคนอื่นดูบ้างหรือ เชื่อผมเถอะ ชีวิตจะมีค่ายิ่งขึ้นจริงๆ

สาระสำคัญที่ได้จาก ชาร์ล็อตต์ แมงมุมเพื่อนรัก อีกอย่างหนึ่งก็คือ ได้รู้ถึงพฤติกรรมของสัตว์ต่างๆซึ่งก็คงมีพฤติกรรมที่ไม่แตกต่างไปจากมนุษย์ เช่น หนูเป็นสัตว์ที่เห็นแก่กิน เจ้าเล่ห์ ไม่มีความเมตตาสงสาร ไม่รู้สึกผิดชอบชั่วดี ไม่มีความละอาย ไม่รับผิดชอบ ไม่มีความเป็นมิตร ฯลฯ (ตรงนี้ท่านสามารถเพิ่มเติมได้ตามใจชอบ)

สำหรับผม เพียงได้เห็นชื่อเพื่อน และระลึกถึงเพื่อน อานิสงส์ที่ได้ก็คือ ได้อ่านเรื่องสนุกๆที่มีคุณค่าและเป็นตัวอย่างที่งดงามของชีวิต
……
E.B White.แปลโดย คณา คชา.(2552).ชาร์ล็อตต์ แมงมุมเพื่อนรัก ( Chalotte’ s Web ).พิมพ์ครั้งที่ 31.
กรุงเทพฯ : แพรวเยาวชน, สนพ.

Comments are closed.