จิปาถะ เรื่องสั้น โจรขโมยเงินเดือน (ผู้มีเหตุอันมีสภาพร้ายแรง)

จิปาถะ  เรื่องสั้น โจรขโมยเงินเดือน (ผู้มีเหตุอันมีสภาพร้ายแรง)

30

มีนา จัน บอกว่า การประชุมสภาสมัยวิสามัญ (ลับ) ของสภามหาวิทยาลัยสารขัณฑ์ เรื่องพิจารณาข้อเรียกร้องของคณาจารย์ให้นางแต้มหรือรักษาการอธิการบดีที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย หยุดปฏิบัติหน้าที่  เมื่อวันที่ 27  กันยายน 2563 เป็นการประชุมที่ไม่ถูกต้องตามกฏหมายปกครอง พ.ศ. 2539 ถือเป็นโมฆะ เนื่องจากขัดกับหลัก “ความเป็นกลาง” ตามกฏหมายทางปกครอง  เนื่องจากนายกสภาฯที่ทำหน้าที่ประธานการประชุมมีผลได้ผลเสียกับคู่กรณี คือเป็นผู้เซนต์คำสั่งแต่งตั้งให้นางแต้มรักษาการอธิการบดี  ดังนั้น นายกสภาฯจึงเป็น“ผู้มีเหตุอันมีสภาพร้ายแรง” ทำให้การประชุมขาดหลักความเป็นกลาง ซึ่ง “พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ 2539 เกี่ยวกับหลักความเป็นกลาง มาตรา 16 บัญญัติไว้ว่า

ในกรณีมีเหตุอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง เจ้าหน้าที่หรือกรรมการผู้นั้นจะทำการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นไม่ได้

หลักความเป็นกลาง เป็นหลักกฎหมายที่จะบังคับให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจพิจารณาทางปกครอง ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติลําเอียงหรือมีเหตุที่ทําให้เคลือบแคลงสงสัยในการใช้ อํานาจที่ไม่เป็นธรรมในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง อันถือเป็นรูปแบบ ขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระ สําคัญที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับการพิจารณาทางปกครอง ซึ่งหากการพิจารณาทางปกครองขัดต่อ หลักความเป็นกลางดังกล่าวก็ย่อมเป็นการดําเนินการที่ไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสําคัญ อันมีผลทําให้คําสั่งทางปกครองที่ฝ่ายปกครองใช้อํานาจเพื่อบังคับต่อคู่กรณีนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งคู่กรณีมีสิทธินําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายได้

ขอนำตัวอย่างคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ อ.795/2555วินิจฉัยกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่อาจทําการพิจารณาทาง ปกครองได้เพราะมีสภาพร้ายแรงอันอาจทําให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ตามมาตรา 16 แห่ง พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

อธิบดีกรมการจัดหางานมีคําสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นข้าราชการตําแหน่งนักวิชาการแรงงาน กรณีถูกกล่าวหา ว่าเรียกรับเงินจากนายจ้างคนต่างด้าวที่ทํางานผิดเงื่อนไข ต่อมาได้มีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน วินัยอย่างร้ายแรงและคณะกรรมการสอบสวนวินัยมีความเห็นว่าสมควรไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ

อธิบดีกรมการจัดหางานจึงได้ส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. กรมการจัดหางานพิจารณาและต่อมาอธิบดีกรมการจัดหางานได้มี คําสั่งไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติของ อ.ก.พ. กรมการจัดหางาน หลังจากอุทธรณ์คําสั่งไล่ออกจากราชการและนายกรัฐมนตรีมีคําสั่งยกอุทธรณ์  ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้ศาลมีคําพิพากษา เพิกถอนคําสั่งดังกล่าว

 คดีนี้มีข้อเท็จจริงที่รับฟังยุติโดยมีเจ้าหน้าที่ ชื่อ นาย พ. (ชื่อสมมุติ) ทําหน้าที่เป็นประธาน คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง และเป็น อ.ก.พ. กรมการจัดหางาน ในการพิจารณาเรื่องของ ผู้ฟ้องคดี  นาย พ. ได้เข้าร่วมประชุมในฐานะเป็น อ.ก.พ. กรมการจัดหางานด้วย โดยมิใช่เข้าร่วมประชุมเพื่อ ชี้แจงตอบข้อซักถาม หรือข้อสงสัยของ อ.ก.พ. กรมฯ 

ปัญหา คือ การที่ นาย พ. เข้าร่วมประชุม อ.ก.พ. กรมฯ ดังกล่าว ถือเป็นเหตุอันมีสภาพร้ายแรงทําให้การพิจารณาไม่เป็นกลางหรือไม่

 ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การประชุม อ.ก.พ. กรมฯ ถือเป็นการพิจารณาทางปกครองและ เมื่อ นาย พ. ได้เข้าประชุมในฐานะ อ.ก.พ. กรมฯ ซึ่งมีอํานาจหน้าที่ในการพิจารณาผลการสอบสวนทางวินัย ของคณะกรรมการสอบสวนมิใช่เข้าร่วมประชุม อ.ก.พ. เพื่อชี้แจงตอบข้อซักถามข้อสงสัยของ อ.ก.พ. และเมื่อ อ.ก.พ. กรมฯ มีมติเป็นประการใด ผู้มีอํานาจสั่งบรรจุต้องสั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามมติ อ.ก.พ. กรม นาย พ. ย่อมต้องมีความเห็นเช่นเดิมตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งตนทําหน้าที่เป็นประธานกรรมการ อันเป็นความเห็นที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ฟ้องคดีดังนั้น จึงย่อมมีสภาพร้ายแรงอันอาจทําให้การพิจารณาทาง ปกครองไม่เป็นกลางตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มีผลทํา ให้มติของ อ.ก.พ. กรมฯ และคําสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและคําสั่งยกอุทธรณ์เป็นคําสั่งที่ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุปว่า นายกสภามหาวิทยาลัยสารขัณฑ์ฯ ซึ่งเป็นผู้เซ็นคำสั่งแต่งตั้งนางแต้มให้รักษาการอธิการบดี เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับนางแต้ม จึงย่อมมีสภาพร้ายแรง ที่อาจทำให้การพิจารณาทางการปกครองไม่เป็นกลางได้  ดังนั้นการประชุมสภามหาวิทยาลัยสารขัณฑ์ เมื่อวันที่ 27  กันยายน 2563 จึงเป็นการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย

……

ปรานี สุขศรี. “สภาพร้ายแรง” ที่อาจทำให้การพิจารณาทางปกครอง “ไม่เป็นกลาง” !!  วารสารยุติธรรม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *