จิปาถะ เรื่องสั้น อีเถื่อน (เคราะห์กรรม)

วันพุธที่ 8  กันยายน  พ.ศ. 2564

จิปาถะ เรื่องสั้น อีเถื่อน (เคราะห์กรรม)

8

ผมเชื่อว่า ตอนนี้อาจารย์ที่ ม.สารขัณฑ์ คงจะทราบข่าวการเสียชีวิตของแม่อาจารย์ท่านหนึ่งที่ต้องลาออก เนื่องจากมีปัญหากับนางแต้ม รักษาการอธิการบดีที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย มหาวิทยาลัยสารขัณฑ์  ขอให้ไปสู่สุคติ “Rest In Peace” ครับผม

ความจริงข่าวการเสียชีวิตนี้  เป็นเรื่องปกติธรรมดาของสรรพสิ่ง คือ เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไปในที่สุด “จากดินสู่ดิน จากเถ้าสู่เถ้า จากธุลี สู่ธุลี” ชีวิตมนุษย์ก็มีเท่านี้

แต่ถ้าใครรู้เบื้องหลังของการที่เธอจำใจต้องลาออกจากราชการ ก็คงจะสะเทือนใจในเคราะห์กรรมและความเจ็บปวดและความยากลำบากของเธออย่างแน่นอน เพราะเธอตกเป็นเหยื่อของความโกรธแค้นชิงชัง ไร้เมตตาธรรม จากผู้บังคับบัญชาของเธอเอง  แบบจำยอมไม่มีทางสู้ ลองมาฟังเรื่องราวของเธอดู ซิครับ

เธอเป็นอาจารย์สอนศิลปะ ม.สารขัณฑ์ เธอได้ขอไปช่วยราชการที่ ม.เมืองสองแคว ในสมัยอธิการบดีคนก่อน  เพื่อดูแลแม่ซึ่งป่วยจากหลายโรค ไม่สามารถช่วยตัวเองได้  พ่อเสียชีวิตแล้ว เธอเป็นลูกคนเดียว ตรงนี้ก็เป็นเรื่องปกติของทุกคนที่ต้องทำ

แต่เมื่อนางแต้มได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี นางต้องการสร้างผลงานด้วยการทำ “แต้ม” จึงเรียกตัวอาจารย์ที่ไปช่วยราชการที่อื่นกลับทั้งหมด โดยไม่สนใจว่าอาจารย์เหล่านั้นมีความจำเป็นอย่างไร ซึ่งก็เดือดร้อนกันทุกคน  ผมเองได้เตือนนางแต้มแล้วในฐานะที่เคยเป็นเพื่อนร่วมงาน ว่าอย่าทำเลย วัฒนธรรมองค์กรของเราไม่เคยมี แต่นางไม่สนใจ

และเพื่อให้เข้าใจง่าย ผมขอเขียนเป็นข้อๆนะครับ

1.เธอกลับไปพบนางแต้มตามคำสั่งและขอกลับไปช่วยราชการที่ ม.เมืองสองแคว อีกสักระยะหนึ่ง โดยพยายามอธิบายถึงความจำเป็นและขอความเห็นใจ แต่นางแต้มบอกว่า “โดยส่วนตัวแล้วนางเห็นใจและเข้าใจดี แต่เรื่องงานราชการ นางต้องทำไปตามหน้าที่”

2.เธอขอแลกเปลี่ยนอัตรา แต่นางก็ไม่ยอม อ้างว่าเธอติดทุน 2 ทุน คือทุนมหาวิทยาลัย และทุน สกอ. ซึ่งใช้เป็นเวลายังไม่หมด เธอเรียนอธิการบดีว่า ม. เมืองสองแคว ยินดีรับเธอเข้าทำงาน จึงขอใช้ทุนเป็นเวลาที่หน่วยงานใหม่ซึ่งเป็น ม.ของรัฐ เช่นเดียวกันตามสิทธิ์ แต่นางแต้มบอกไม่ได้  “เธอจึงไม่ได้รับสิทธิ์นั้น”

3. ม.เมืองสองแคว ได้ทำหนังสือยืนยันมาว่า ยินดีใช้ทุนให้ทั้งหมด แจ็ดแจ๋ เกษียนหนังสือว่า “ไม่มีระเบียบ” เป็นอันว่าไม่ได้

4.เมื่อไม่มีช่องทางใดเพราะต้องกลับไปดูแลแม่  เธอจึงเลือกยื่นใบลาออก ซึ่งนางแต้มไม่ยอมอนุมัติ บอกว่า “ถ้าฉันไม่ให้เธอลาออก เธอออกไม่ได้”  เธอจึงต้องรออยู่ถึง 3 เดือนตามระเบียบ จากนั้นเธอก็ไปทำงานที่ ม.เมืองสองแคว

5. นางแต้มโกรธมาก โทรไปตามให้กลับมาโดยด่วน ถ้าไม่กลับจะตั้งกรรมการสอบสวนเอาผิด แต่เธอไม่ยอมกลับ สุดท้ายเมื่อนางรู้ว่าการลาออกเป็นเอกสิทธิ์ นางจึงให้เธอชดใช้ทุนมหาวิทยาลัย ส่วนทุน สกอ. นางให้ใช้ทุนเป็นเวลาได้  แต่เนื่องจากนางจะให้เธอใช้ทุนครั้งเดียวทั้งหมด ซึ่งเกินความสามารถของเธอ นางแต้มจึงฟ้องศาลปกครองเมืองโคราชา  ต่อมานางแต้มก็ฟ้องเรื่องทุน สกอ.อีก เนื่องจากไปได้หนังสือ ของ สกอ.เรื่องการไม่อนุญาตให้ข้าราชการย้ายไปมหาวิทยาลัยคนละประเภท ตอนนี้เธอมีคดีที่นางแต้มฟ้อง 2 คดี เธอต้องจ้างทนายเพื่อสู้คดี  ขณะนี้คดียังอยู่ที่ศาล ผมคงไม่ต้องบอกหรอกนะครับว่า เคราะห์กรรมที่เธอได้รับจากนางแต้มนั้นหนักหนาสากรรจ์ขนาดไหน

ผมได้แก้ไขข้อเขียนผมด้วยความรู้สึกเมตตานางแต้ม  โดยตัดคำบริภาษ คำผรุสวาท และคำสาปแช่งที่มีเป็นอันมากแทบจะทุกบรรทัดออกทั้งหมดแล้ว ครับผม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *