คาถาบูชากรมหลวงชุมพรฯ

omจิปาถะ
คาถาบูชากรมหลวงชุมพรฯ
ติดค้างท่านอาจารย์วิโรจน์ เอี่ยมสุข อดีตลูกนาวิกโยธิน อาจารย์ดนตรี ม.ราชภัฏบุรีรัมย์ ที่ถามเรื่องคาถาบูชา พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ฯ คาถามีว่า “โอมชุมพร จุติ อิทธิกะระนังสุขโข นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ จะ พะ กะ สะ มะ อะ อุ”
โอม ด้วยฤทธิ์อำนาจของกรมหลวงชุมพรฯ ขอจงดลบันดาลให้ข้าพเจ้ามีความสุขความเจริญ และตามด้วยคาถานะโมพุทธายะ (พระเจ้า 5 พระองค์) นะมะพะทะ (หัวใจธาตุ 4) จะ พะ กะ สะ (คาถากาสลัก) และคาถา มะ อะ อุ
คงต้องอธิบายคาถาทีละคาถา ซึ่งคงใช้เวลาและน่าเบื่อพอสมควรเพราะเต็มไปด้วยข้อมูล ก็จะลองดูก่อน ถ้ามีเพื่อน FB สนใจก็จะว่าไปจนจบ แต่ถ้าไม่ได้เรื่อง ก็จะขอไปอธิบายให้ท่านวิโรจน์ฟังที่สวนบ้านท่านตัวต่อตัวครับ
ก่อนอื่นขอนำความหมายของคาถาเพื่อความเข้าใจร่วมกันว่า
คาถา คือ 1. คำประพันธ์ประเภทร้อยกรองในภาษาบาลี คาถาหนึ่งๆ มี 4 บาท เช่น
อาโรคฺยาปรมาลาภา (ความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง)
สนฺตุฏฺฐีปรมํ สุขํ (ความรู้จักพอ เป็นสุขอย่างยิ่ง)
วิสฺสาสปรมา ¬าติ (ความคุ้นเคยกัน เป็น¬าติอย่างที่สุด)
นิพฺพานํ ปรมํ สุขํฯ (พระนิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง)
2. พุทธพจน์ที่เป็นคาถา (ข้อ 4 ในนวังคสัตถุสาสน์)
3. ในภาษาไทย บางทีใช้ในความหมายว่า คำเสกเป่าที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ อย่างที่เรียกว่า คาถาอาคม (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ( 2551: 49)
เกษม บุญศรี (2505-2506 : 3025-3027) อธิบายว่าคาถานั้นมีหลายนัย นัย 1 ว่า เป็น คำกล่าวตามวิธีพิเศษ เป็นสำนวนร้อยกรองเรียกว่าคาถา คาถาในที่นี้ท่านแยกได้หลายประเภทขอนำเสนอเป็นตัวอย่าง 2 ประเภท คือ
1.สานุสนธิกคาถา คือ คำที่กล่าวเป็นคาถา มีเหตุ มีผล มีต้น มีปลาย มีที่จบ เช่น คาถาที่พระอัสชิเถระกล่าวแก่พระสารีบุตร ครั้งยังเป็นอุปดิสปริพาชก เมื่อแรกพบกันว่าดังนี้
เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต เตส¬ฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ
แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมทั้งหลายนั้น และความดับแห่งธรรมทั้งหลายนั้น เพราะดับแห่งเหตุ ครูของเราตรัสสอนอย่างนี้ เป็นคาถาที่แสดงหลักสัจธรรมพร้อมทั้งเหตุผลโดยสมบูรณ์
2. อนนุสนธิกคาถา คือ คำที่กล่าวออกมาเป็นคาถา โดยไม่มีเหตุผล ไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่มีที่หมายที่จบ จับต้นชนปลายไม่ติด จะคิดหาเหตุผลในคำเช่นนั้นไม่ได้ คาถาเช่นนี้ไม่มีในพระไตรปิฏก หรือไม่มีในพระพุทธศาสนา แต่มีในภายนอกพระพุททธศาสนา คาถาเช่นนี้ท่านหมายเอาเวทมนตร์ที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพวกที่เชื่อในทางนั้นเสกเป่าหรือพ่นหรือถ่มกันอยู่ เช่น คาถาเหล่านี้ คือ น ปัดถมัง, น ปัดตลอด, ฆง,(ออกเสียงเฆาะงอ) อิ สวา สุ , ม.อ.อุ., อ. อุ. ม., น.ม.พ.ธ., นโมพุทฺธาย, อิ .ร. ชา. ค. ต. ร. สา., ติ. หํ. จ.โต. โร. ติ. นํ., อ. สํ. วิ. สุ. โล. สุ. ป. พุ. ภ., เป็นต้น หรือที่กล่าวผสมกับคำไทยก็มี เช่น พุทฺธํ หาย ธมฺมํ หาย สงฺฆํ หาย, พุทฺธํ อุด ธมฺมํ อุด สงฺฆํ อุด เป็นต้น หรือที่กล่าวเป็นคำอรรถ แต่กำหนดด้วยเสียงไทย เช่น พุทฺธํ ปจฺจกฺขามิ ธมฺมํ ปจฺจกฺขามิ สงฺฆํ ปจฺจกฺขามิ กำหนดเสียงปัจ เป็น ปัด เป็นต้น หรือว่า อิมส์มึ วิกลึงคเล หรือกล่าวเป็นคำไทยล้วนๆว่า โอม ขยุกขยุย กอไผ่ตายขุย มันนกลงหัว…. หรือว่า โอม กูจะพ่นป่วง ป่วงลิง ป่วงค่าง ป่วงช้าง ป่วงม้า … เหล่านี้เป็นต้น เรียกว่าคาถา”
วันนี้เอาแค่นี้ก่อนครับ คราวหน้าจะเริ่มตั้งแต่ โอม, นะโมพุทธายะ, นะมะพะทะ, จะพะกะสะ,และ มะอะอุ ไปตามลำดับ คงใช้เวลานานโขอยู่
……
อ้างอิง
เกษม บุญศรี. (2505-2506) “คาถา”ใน สารานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน เล่มที่ 5. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต).(2551).พจนานุกรมพุทมธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

 

Comments are closed.