ความกตัญญู

nok

จิปาถะ
ความกตัญญู

ขี้ข้าสามแซ่ เป็นเรื่องของคนอกตัญญู ตัวอย่างคือ “ลิโป้” ฆ่าได้แม้กระทั่งบิดาบุญธรรม เพื่อผลประโยชน์ของตน ส่วนนิทานชาดกเรื่อง นกแขกเต้าเลี้ยงพ่อแม่ เป็นเรื่องของความกตัญญู
ส่วนเรื่องการกีดกันขัดขวางความกตัญญูของผู้ใต้บังคับบัญชานั้น ตอนนี้ยังหานิทานประเภทนี้ไม่ได้ ไม่รู้ว่ามีหรือเปล่า ที่หายากอาจจะเป็นเพระว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติไปจากทำนองครองธรรม หรือ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครเขาทำกัน (แต่นางแต้มของผมทำ) เรื่องทำนองนี้อาจไม่ค่อยมีใครเขียน เมื่อไรอ่านพบจะรีบนำมาเสนอทันทีครับ เพราะถือเป็นเรื่องแปลก

นิทานเรื่องนกแขกเต้าเลี้ยงพ่อแม่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ มีเรื่องที่ปรับและย่อจากนิทานชาดก ดังนี้
กาลครั้งหนึ่ง มีพญานกแขกเต้าและบริวารอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ทุกวันจะพาฝูงนกบริวารไปกินข้าวสาลีที่เกิดอยู่ในป่า แต่เนื่องจากมารดาบิดาของพญานกนั้นชรา ไม่สามารถบินออกไปหากินเองได้ พญานกจึงต้องคาบรวงข้าวสาลีกลับมาเลี้ยงมารดาบิดาเป็นประจำ

อยู่มาวันหนึ่งเห็นว่าข้าวสาลีในนาของเศรษฐีกำลังสุกงาม ก็พากันลงมาจิกกิน เมื่อกินจนอิ่มหนำสำราญดีแล้วพญานกก็คาบรวงข้าวสาลีกลับไปด้วย คนเฝ้านาของเศรษฐีได้พยายามขัดไล่นกเหล่านั้น และได้รายงานเหตุการณ์นี้ให้เศรษฐีทราบ
เศรษฐีเกิดสนใจพฤติกรรมของพญานกแขกเต้า จึงสั่งให้จับเป็นพญานกนั้นให้ได้ เมื่อคนเฝ้านาจับพญานกมาแล้ว เศรษฐีได้ถามพญานกแขกเต้าว่า

เศรษฐี :“นกเอ๋ย ท้องเจ้าใหญ่กว่านกอื่นหรืออย่างไร เจ้ากินข้าวของเราแล้วยังไม่พอใจ ยังคาบเอากลับไปอีก เจ้าเอาข้าวของเราไปเก็บในยุ้งฉากของเจ้า หรือ เอาไปฝังไว้ที่ไหน”
พญานก: “ข้าฯไม่มียุ้งฉากเก็บข้าวของท่านดอก ข้าฯนำข้าวของท่านไปเปลื้องหนี้เก่า ให้เขากู้หนี้ใหม่และฝังขุนทรัพย์ไว้”
เศรษฐี :นกเอ๋ย ท่านหมายความว่าอย่างไร”
พญานก:มารดาบิดาของข้าพเจ้าชรามากแล้ว ท่านไม่สามารถหากินเองได้ ท่านเลี้ยงข้าฯ มาตั้งแต่ยังเล็ก ข้าฯ จึงต้องคาบข้าวสาลีไปป้อนท่าน ชื่อว่าใช้หนี้เก่า
อนึ่ง บุตรของข้าฯ ยังเล็ก หากินเองไม่ได้ ข้าฯจึงคาบข้าวสาลีไปป้อน เป็นการให้บุตรกู้หนี้ใหม่
นอกจากนั้นในหมู่นกบริวารของเรา ยังมีนกชรา ทุพพลภาพ ออกไปหากินไม่ได้ ข้าฯ ต้องการบุญ จึงให้อาหารเลี้ยงชีพแก่นกเหล่านั้น เป็นการฝังขุนทรัพย์ไว้

เศรษฐีได้ฟังดังนั้น ก็รู้สึกชื่นชมในความกตัญญูของพญานกแขกเต้า และอนุญาตให้ฝูงนกเหล่านั้นกินข้าวสาลีในนาได้ตามใจ หลังจากให้พญานกบริโภคอาหารจนอิ่มแล้ว ท่านเศรษฐีได้มอบข้าวสาลีให้พญานกได้ไปเลี้ยงมารดาบิดาด้วย ”นกเอ๋ย เจ้าจงรีบกลับไปเถิด เพราะป่านนี้มารดาบิดาเจ้าคงจะหิวโหย เฝ้ารอเจ้าอยู่แล้ว

ข้อความต่อไปนี้เป็นตอนจบของเรื่อง ซึ่งผมชอบ สำนวนของอาจารย์อำไพ จริงๆ “พญานกคาบรวงข้าวสาลีไปวางไว้หน้าบิดามารดา พลางกล่าวว่า “ขอพ่อแม่ จงลุกขึ้นมารับอาหารเถิด” มารดาบิดาของพญานกพากันลุกขึ้นหัวเราะได้ทั้งน้ำตา”(อำไพ สุจริตกุล.10)
…………
อ้างอิง
ศ.กิตติคุณ อำไพ สุจริตกุล.(ม.ป.ป.) นกแขกเต้าเลี้ยงพ่อแม่ ใน จินตนาการสืบสานวรรณกรรมไทย.
กรุงเทพฯ : บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

Comments are closed.