ก็ช่างหัวแม่มัน

seagull

จิปาถะ
ก็ช่างหัวแม่มัน
เมื่อปี พ.ศ. 2543 ผมได้เขียนเรื่อง “ครูที่กรุณา” เผยแพร่ในเอกสารประชาสัมพันธ์ สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ โดยเริ่มด้วยความต่อไปนี้
บ่อยครั้ง ที่เพื่อนๆมาปรารภให้ฟังถึงความคับข้องใจหรือน้อยเนื้อต่ำใจ ทั้งจากเพื่อนร่วมงานที่ไม่รับผิดชอบ ขาดความจริงใจหรือผิดหวังจากคำพูดของผู้บังคับบัญชา เช่น บอกว่าจะให้ทุนการศึกษาแล้วก็ไม่ให้ หรือวันหยุดถูกข้อร้องไม่ให้หยุด เป็นต้น ผมก็มักจะปลอบและให้กำลังใจไปตามเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ก็สบายใจ(ผมคิดเอาเอง) แต่สิ่งที่เพื่อนทิ้งไว้ให้ผมก็คือ ความวิตกกังวลกับเรื่องราวที่ได้รับรู้ หงุดหงิดกับความไม่เป็นธรรม การเอารัดเอาเปรียบเห็นแก่พวกพ้องของผู้คน และทุกครั้งที่เกิดความรู้สึกอย่างนี้ ผมก็มักจะนึกถึงเรื่องราวของโจนาธาน ลิวิงสตัน นางนวล
พอมาถึงปีนี้ พ.ศ. 2557 เพื่อนๆได้มาปรารภให้ฟังอีก ปรากฏว่าสิ่งที่ปรารภนั้นมีความรุนแรงเข้มข้นมากกว่าเมื่อ 14 ปีที่แล้วเป็นอันมาก ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องร้ายๆของผู้บังคับบัญชา มีการกลั่นแกล้ง กรีดกัน ข่มขู่ กับคนที่ไม่ใช่พวกของตนเอง เช่น ปลดออกจากตำแหน่งบ้าง แย่งวิชาในระดับ ป.โท ไปสอนเสียเองบ้าง เรียกตัวกลับจากการไปช่วยราชการโดยไม่ยอมฟังเหตุผลบ้าง หน่วงเหนี่ยวไม่ยอมเซ็นอนุมัติให้ลาออก ทั้งๆที่เขาต้องไปดูแลแม่ของเขาซึ่งป่วย (ไม่เข้าใจว่าหน่วงเหนี่ยวไว้ทำไม) มีอีกเยอะสาธยายมาให้ผมฟังกันไม่จบ บางเรื่องก็มีการฟ้องร้องกันอยู่ และก็เหมือนเดิม ผมจะปลอบและให้กำลังใจไปตามเรื่อง แต่คราวนี้แทนที่เพื่อนๆจะสบายใจกลับไป อย่างที่เคยคิด แต่กลับเครียดแค้นชิงชังมากขึ้นไปกว่าเดิมเสียอีก ดังนั้นความวิตกกังวลที่เพื่อนๆทิ้งไว้ให้ผมจึงเพิ่มขึ้นหลายเท่าทวีคูณ ผมจึงต้องเอา เรื่องราวของโจนาธาน ลิวิงสตัน นางนวล มาปลอบใจอีกครั้ง
โจนาธาน ลิวิงสตัน นางนวล (Jonathan Livingston Seagull) แต่งโดยริชาร์ด บาค (Richard Bach) ผมเก็บความจากหนังสือ กาละ ของ ผศ.ดร. กิ่งแก้ว อัตถากร (2541: 35-39) มีความโดยย่อดังนี้
โจนาธานเป็นลูกนกนางนวลที่ประพฤติตัวผิดไปจากนิสัยของนกนางนวลทั้งหลาย ซึ่งปกติทุกเช้าจะออกแสวงหาอาหารตามชายฝั่งทะเล ยินดีมีสุขด้วยอาหาร ในขณะเดียวกันก็ทะเลาะวิวาทจิกตีกันด้วยเรื่องอาหาร
แต่โจนาธาน ไม่สนใจเรื่องอาหาร เขากลับไปฝึกบินรูปแบบต่างๆ โดดเดียว ไกลจากหมู่คณะ สิ่งที่เขาต้องการก็คือ การบรรลุสัจธรรมสูงสุด ซึ่งหมายถึงภาวะที่นกนางนวลจะประสบได้ด้วยการปฏิบัติ เขาเห็นว่า สิ่งที่นกนางนวลทั้งหลายกระทำอยู่เป็นการใช้พลังงานและความสามารถเล็กน้อย ไร้สาระ เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของความสามารถทั้งหมดที่น่าจะมีอยู่
เขาจึงทดลองทำสิ่งที่เพื่อนนกนางนวลทั้งหลายไม่เคยทำ เช่น บินช้า บินเร็ว บินต่ำ บินสูง บินวิบาก เช่น ทิ้งดิ่ง หักมุม ควงสว่าน เป็นต้น
โจนาธานได้รับการท้วงติงว่ากล่าวตักเตือนนิสัยมุ่งค้นคว้า แต่โจนาธานไม่สนใจ เขามีความมุ่งมั่นและไม่ล้มเลิก สุดท้ายเขาถูกเนรเทศออกจากฝูง
โจนาธานไม่รู้สึกว้าเหว่ เขาเพียงแต่เสียใจในความไม่ใฝ่รู้ของเพื่อนนกนางนวลเท่านั้น
เขาครุ่นคิดอยู่ตามลำพัง และในความโดดเดี่ยวนั้น นกทิพย์ก็ปรากฏแก่เขา เป็นนกที่มีรัศมีบรรเจิด และพาเขาไปสู่ดินแดนที่เรียกว่าสวรรค์
ณ ที่นั้น นกทิพย์เริ่มให้บทเรียนใหม่แก่เขา นั่นคือ “การบินเร็วเท่าความคิด” นี้เป็นสัจธรรมสูงสุดที่เขาบรรลุ
อาศัยความกรุณาในเพื่อนนกนางนวลในโลก โจนาธาน จึงตัดสินใจกลับไปสู่ฝูงแม้จะถูกกีดกันหรือมีนกไม่กี่ตัวที่อาจหาญทิ้งหมู่มารับการฝึกบทเรียนจากเขา แต่เขาก็รู้สึกคุ้ม ดีกว่าที่จะปล่อยให้นกทั้งหลายจมอยู่กับความไม่รู้
การมองสภาวะของเพื่อนนกทั้งหลายตามความเป็นจริงทำให้ โจนาธาน เกิดความกรุณา โจนาธาน เป็นครูที่กรุณา ..เป็นต้นแบบของครูที่กรุณาในโลกนี้
เมื่อผมนึกถึงเรื่องราวของ โจนาธาน ลิวิงสตัน นางนวลแล้ว ผมก็กลับมาสู่ภาวะไร้วิตกกังวลอย่างปกติ
ขอให้พวกเราเป็นครูที่กรุณา ส่วนใครจะเป็นครูที่ไม่กรุณา ก็ช่างหัวแม่มัน
….
อ้างอิง
กิ่งแก้ว อัตถากร.(2541).กาละ.กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์.