ลุงเจ็ก กู่สวนแตง ตอนที่ 4 และ ตอนที่ 5

ลุงเจ็ก กู่สวนแตง ตอนที่ 4

เมื่อกินอาหารเช้ากันอิ่มหนำสำราญดีแล้ว บุญเพ็งพายุกต์ไปที่วงเวียนสี่แยกถนนสายบุรีรัมย์-สตึก ตัดกับถนนสายบุรีรัมย์-ประโคนชัย สถานที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ร่วมกันสร้างขึ้น ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นผู้ก่อตั้งเมืองบุรีรัมย์
บุญเพ็งและยุกต์เดินขึ้นไปบนฐานพระบรมรูปฯ และนั่งลงสักการะ
ยุกต์ถามว่า “ทำไมถึงตั้งตรงกลางวงเวียนล่ะ”
“ไม่รู้ซิ ไม่รู้พวกเขาคิดกันอย่างไร”
“ต่อไปต้องมีปัญหาเรื่องการจราจรแน่ๆ เลย” ยุกต์คาดการณ์
“ไม่ต้องต่อไปหรอก ตอนนี้ก็มีแล้ว เวลาจัดพิธี รถติดกันเป็นแถวเลย แต่คงแก้ไขอะไรไม่ได้แล้วละ” บุญเพ็งสรุป
บุญเพ็งเล่าให้ยุกต์ฟังว่า พระบรมราชานุสาวรีย์ฯนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนิน มาทรางวางศิลาฤกษ์ เมื่อเดือน เมษา 38
และต่อมาเมื่อเดือนกรกฎา 41 ได้ทำพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณและอัญเชิญพระบรมรูปฯ ขึ้นประดิษฐาน แต่ได้เปลี่ยนการหันหันพระพักตร์ของพระบรมรูปฯ จากหันพระพักตร์ออกนอกเมือง เป็นหันพระพักตร์เข้าเมือง ประชาชนเลยพากันคัดค้าน และกล่าวหาว่าจังหวัดฯเอาใจนักการเมืองพรรครัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้หนังสือพิมพ์ลงข่าวต่อเนื่องกันหลายวัน
“กันได้ติดตามข่าวอยู่เหมือนกัน แต่ไม่เคยรู้รายละเอียด”.. เออ! แล้วผู้ว่าฯท่านว่าอย่างไรล่ะ?”
“ท่านเองไม่รู้จะทำอย่างไรดี จึงใช้วิธีทำหนังสือขอคำปรึกษาไปยังกรมศิลปากร กรมฯยืนยันมาว่าควรหันพระพักตร์เข้าตัวเมืองบุรีรัมย์ เท่านั้นก็จบ ท่านทำได้แค่นั้น”
“ความจริงท่านน่าจะทำประชาพิจารณ์นะ” ยุกต์พูดเชิงเสนอแนะ…”แล้วอธิบดีกรมศิลปากรล่ะ ท่านว่าอย่างไรบ้าง”
“ท่านยอมรับว่า มีการเปลี่ยนทิศทางการหันพระพักตร์ของพระบรมราชานุสาวรีย์ฯจริง แต่ไม่ใช่เพื่อหลีกเลี่ยงเข้าหาบ้านนักการเมืองใหญ่ อย่างที่โจญขานกัน แต่เป็นการตัดสินใจของคณะกรรมการจัดสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ โดยมีท่าเป็นประธาน
ท่านบอกว่า ตอนแรกคณะกรรมการมีความเห็นให้หันพระพักตร์พระบรมราชานุสาวรีย์ฯไปทางประเทศกัมพูชา เพื่อสื่อความหมายว่า รัชกาลที่ 1 เป็นผู้นำกองทัพไทยไปสู้รบเขมร ถือเป็นการสดุดีวีรกรรม แต่ต่อมาคณะกรรมการฉุกคิดว่าการหันพระพักตร์ไปทางประเทศกัมพูชาเป็นการทำร้ายจิตใจประเทศเพื่อบ้านเกินไป จะทำให้เขารู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจ บรรพบุรุษรบแพ้ไทย แล้วคนในรุ่นปัจจุบันจะมาเหยียบย่ำซ้ำเติมอีก ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษามิตรภาพระหว่างประเทศ รวมทั้งความสัมพันธ์ด้านการค้า คณะกรรมการจึงมีมติเปลี่ยนให้หันพระพักตร์เข้าเมืองบุรีรัมย์แทน”

“เรียกว่าแคร์ความรู้สึกเพื่อนบ้าน แต่ไม่แคร์ความรู้สึกชาวบุรีรัมย์ เลยทำให้ชาวบุรีรัมย์และแกไม่พอใจ”
“คงทำนองนั้น ขนาดตั้งใจสร้างเพื่อสดุดีวีรกรรมอันกล้าหาญของพระองค์ท่าน แต่ไปห่วงความรู้สึกของเพื่อนบ้าน คิดดูเอาเองก็แล้วกัน ห่วยแตกขนาดไหน”
บุญเพ็ง ยกถ้วยกาแฟขึ้นดื่มรวมเดียวหมด พร้อมทั้งกล่าวตำหนิต่อไปว่า “ที่น่าเจ็บใจก็คือ คนที่ตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรนั้น ไม่ใช่คนที่นี่ ส่วนคนอยู่ที่นี่ ไม่มีปัญญาทำอะไร ต้องทนดูสิ่งที่ทำไม่เหมาะสมไปจนตาย จะแก้ไขอะไรก็ไม่ได้
กันอยากรู้นักว่า กรรมการเหล่านั้น มีกี่คนที่เคยมาบุรีรัมย์ อาจจะไม่รู้ว่าบุรีรัมย์อยู่ส่วนไหนของประเทศไทยด้วยซ้ำ”
“เฮ้ย..บุญเพ็ง มากไป เดี๋ยวโดนฟ้องหมิ่นประมาทหรอก” ยุกต์เตือนบุญเพ็งอย่างเป็นห่วง และเล่าต่อว่าอธิบดีท่านเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่น่ามีปัญหา เพราะเราเคารพบูชาด้วยความรู้สึก การสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯนั้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ไม่ว่าจะหันพระพักตร์ไปทางไหนก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าตรงนี้หมดไป
“แต่ถ้าหันพระพักตร์ไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมจะไม่ดีกว่าหรือ” บุญเพ็งโต้
ยุกต์ ได้แต่เฉย บุญเพ็งจึงพูดต่อ “แล้วท่านแก้ตัวอย่างไรล่ะ”
ท่านว่า ในสมัยโบราณการสร้างรูปเคารพทุกชนิด จะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก แต่พอมาสมัยอยุธยา กระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์ การคมนาคมเจริญขึ้น มีรถราถนนต่างๆ มากมาย รูปเคารพส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนเป็นหันหน้าเข้าหาเส้นทางคมนาคม เพื่อให้คนที่สัญจรผ่านไปมาได้เคารพกราบไหว้ด้านหน้าพระพุทธรูปหรืออนุสาวรีย์ ทิศทางการหันหน้าจึงไม่กำหนดตายตัว แล้วแต่ความเหมาะสมของทำเลที่ตั้งแต่ละแห่ง
ท่านบอกว่า บางคนคิดมากเกินไป ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ หยุมหยิมทำให้อีลุงตุงนังไปหมด ส่วนที่พูดกันว่าเปลี่ยนเพราะพระพักตร์หันไปทางบ้านนักการเมืองนั้นเป็นเรื่องพูดกันไปเอง ความจริงน่าจะเป็นสิริมงคลด้วยซ้ำไป ถ้าเป็นบ้านท่าน ท่านจะดีใจมาก ศาลพระภูมิยังตั้งหันหน้าเข้าบ้านกันเลย ส่วนที่ชาวบ้านบางกลุ่มออกมาต่อต้าน ถือเป็นการมองคนละมุม เรื่องนี้ท่านได้ส่งหนังสือไปถึงจังหวัดบุรีรัมย์อย่างเป็นทางการแล้ว เพื่อยืนยันมติให้หันพระพักตร์เข้าหาเมืองบุรีรัมย์
“ก็พยายามหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองให้ได้” บุญเพ็งสบถ
“แล้วแกว่าอย่างไรล่ะ”
“กันเสนอไปว่า เมื่อมีข้อสงสัยจากประชาชน จะต้องพิจารณาทบทวน เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ถูกต้องเหมาะสม การทำประชาพิจารณ์ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ดีในหลายๆ กรณีมาแล้ว น่าจะนำมาใช้ การรีบดำเนินการโดยไม่ยอมฟังเสียงคัดค้านจากประชาชนเลยนั้นก็ทำได้ แต่ความบาดหมางน้ำใจที่มีกันอยู่แล้ว จะติดแน่นทนทานยิ่งขึ้น ซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย”
“แล้วที่ไม่พอใจมากๆ ละ อะไร”
“อย่าให้พูดเลย เดี๋ยวสะเทือนใจแก เป็นผู้ใหญ่ขนาดนั้น นำพระบรมรูปฯมาเปรียบเทียบกับศาลพระภูมิได้อย่างไง ห่วย..ชะมัด”
“เออ! แกนี่จะก้าวร้าวมากขึ้นทุกวันนะ” ยุกต์ตำหนิบุญเพ็ง
“นอกจากนั้น มีอะไรอีกล่ะ”
“ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย เพราะเมื่อเปลี่ยนเป้าหมาย อย่างอื่นเลยผิดพลาดไปด้วย เช่น การประทับขัดสมาธิของพระบรมรูปฯ ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง ภาพหล่อนูนสูงที่ทำมาผิดขนาด มีอีกเยอะแยะ เรื่องนี้คงไม่จบง่ายๆ แต่แกอย่าสนใจเลย เอาเรื่องกู่สวนแตงของแกดีกว่า..จะไปกันหรือยังล่ะ” บุญเพ็งตัดบท
“ไปซิ..อยู่ไกลไหมล่ะ”

ลุงเจ็ก กู่สวนแตง ตอนที่ 5

บุญเพ็ง ขับปิกอัพคันเก่าคู่ชีพ ไปทางถนนสาย 2074 ผ่านคูเมืองไปพุทไธสง โดยมียุกต์นั่งไปข้างๆ ถนนสายนี้สร้างไม่ค่อยดี ต้องซ่อมกันบ่อย มีหลุมบ่อเยอะแยะ แต่ทิวทัศน์สองข้างทางสวย บางช่วงเป็นทุ่งนายาวเหยียด บางช่วงมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น โดยเฉพาะพวกคูน พวกตะแบกถ้ามาตอนเดือนมีนา-เมษา ดอกคูนจะเหลืองอร่ามสลับกับดอกตะแบกสีม่วงคราม ดูรื่นรมย์ไปหมด
“กู่สวนแตง อยู่ตรงไหนวะ กันยังไม่เคยไปเลย” ยุกต์ปรารภเชิงถาม
“อยู่ที่บ้านดงยาง ตำบลกู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ แต่ก่อนอยู่ในเขตอำเภอพุทไธสง เป็นปราสาทแบบเดียวกับปราสาทเมืองต่ำ บ้านโคกเมือง ประโคนชัย แต่ไม่ค่อยมีชื่อเสียง เพราะไม่มีโคปุระหรือประตูทางเข้า ไม่มีกำแพงแก้ว และระเบียงคต มีแต่ปราสาทก่อด้วยอิฐ จำนวน 3 องค์ ตั้งเรียงกันเป็นแถวบนฐานศิลาแลงเดียวกัน ปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้ามีบรรณาลัยก่อด้วยศิลาแลง 2 หลัง และสระน้ำโบราณ 1 สระ
“มีทับหลังบ้างไหม”
“มีซิ แต่กรมศิลปากรเอาไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหมด ไม่เหลือแม้แต่ชิ้นเดียว”
บุญเพ็งบอกยุกต์ว่า วันนี้เพื่อให้ได้บรรยากาศ เขาได้เตรียมการที่จะพักนอนในบริเวณโบราณสถานเลย ได้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ และได้เตรียมเต็นท์ เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ มาพร้อมแล้ว ซึ่งยุกต์ไม่ขัดข้อง นอนที่ไหนก็นอนได้ เขาเป็นนักโบราณคดี เรื่องนอนกับดินกินกับทรายเขาถนัดอยู่แล้ว อีกอย่างเป็นการประหยัดงบประมาณหลวงด้วย
บุญเพ็งเลือกบริเวณที่เห็นว่าเหมาะสม คือตอนหน้าองค์ปราสาท เดินสำรวจบริเวณโดยรอบปราสาท จากนั้นพากันเข้าไปในอำเภอฯ หาที่อาบน้ำอาบท่า ซื้อของกินของใช้ที่จำเป็น กะกินอาหารค่ำกันที่เต็นท์ แล้วนอน เช้าจะได้รับสำรวจ เสร็จก็กลับบุรีรัมย์เลย พักผ่อนสักเล็กน้อย ตอนค่ำนั่งรถด่วนกลับกรุงเทพฯ ตามโปรแกรมที่จัดไว้ ดูแล้วน่าจะราบรื่นดี
ประมาณ 20 นาฬิกา ทั้งสองคนมานั่งกันที่หน้าเต็นท์ มีอาหารพื้นเมืองที่จัดซื้อมา เช่น ไก่ย่าง ข้าวเหนียว ปลาส้ม ต้มแห้ง และอื่นๆ กับกระติกน้ำแข็งที่แช่เบียร์ไว้เต็มอัตราศึก บุญเพ็งไม่อยากให้ยุกต์ผิดหวัง นานๆ เขาจะมาบุรีรัมย์สักที ตั้งใจต้อนรับให้เต็มที่
ทั้งคู่คุยเรื่องสับเพเหระกันได้สักพัก ก็มีชายสูงอายุคนหนึ่ง แต่งชุดพื้นบ้านสีดำ อายุราว 60 กว่าๆ โผล่มาจากไหนก็ไม่รู้ ไม่ทันได้สังเกต แกบอกว่าเห็นแสงไฟจากตะเกียงเลยเข้ามาดู เมื่อรู้ว่าไม่ได้เป็นผู้ร้ายที่จะมาลักลอบขุดค้นอะไรแล้ว แกทำท่าจะไป แต่พอดีบุญเพ็งเชิญชวนให้อยู่ดื่มด้วย แกทำท่าลังเล แต่สุดท้ายก็ยอมร่วมวงด้วย
เมื่อแกนั่งลงเรียบร้อย บุญเพ็งจัดจาน ช้อน-ส้อมให้และรินเบียร์ส่งให้แก “ตามสบายเลยครับลุง” บุญเพ็งเชื้อเชิญ
แกรับแก้วเบียร์พร้อมกล่าวขอบคุณ
“บ้านคุณลุงอยู่แถวนี้หรือครับ” บุญเพ็งถาม เพื่อสร้างบรรยากาศให้เป็นกันเอง
“แต่ก่อนเคยอยู่ที่นี่แหละ แต่เดี๋ยวนี้อยู่กรุงเทพฯ จึงไปๆมาๆ
“เออ! ลุงชื่ออะไรนะ จะได้เรียกถูก” ยุกต์ถามบ้าง
“ชื่อ เจ็ก ครับ”
“ชื่อยังกับคนจีน” ยุกต์เปรยเบาๆ
“ไม่ใช่คนจีนหรอกครับ “เจ็ก” เป็นภาษาเขมร แปลว่ากล้วย”
“อ๋อ! ลุงเจ็ก หรือ ลุงกล้วย” ยุกต์ผงกหัวแสดงให้รู้ว่าเข้าใจความหมาย
บุญเพ็งบอกลุงเจ็กว่า สรยุกต์ ทองไทร หรือ ยุกต์ เป็นเจ้าหน้าที่มาจากกรมฯ จะมาสำรวจที่นี่เพื่อการบูรณะ เพราะได้งบประมาณมา ส่วนเขาเป็นครูอยู่ในเมืองบุรีรัมย์มาเป็นเพื่อน
“ยินดีที่รู้จักครับ” ลุงเจ็กยิ้มให้ทั้งยุกต์และบุญเพ็งพร้อมให้ความเห็นว่า “กู่สวนแตงนั้น ควรบูรณะเสียที ปล่อยไว้ก็จะชำรุดทรุดโทรมไปเรื่อยๆ ดูซิ ปราสาทองค์ด้านทิศเหนือ ทำท่าจะล้มอยู่แล้ว” ลุงเจ็กชี้มือไปทางองค์ปราสาทที่อยู่ในความมืด และพูดเสริมต่อว่า
“ที่นี่ไม่ค่อยมีใครสนใจหรอก ตั้งแต่พวกขโมยมาขโมยทับหลังไป ทางการจึงเก็บที่เหลือไปหมด ตอนนี้นำไปไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่างๆหลายแห่ง”
พูดจบ ลุงเจ็กยกแก้วเบียร์ขึ้นดื่ม
“เออ! ทำไมลุงรู้เรื่องนี้ล่ะ” บุญเพ็งถาม แสดงสีหน้าสงสัย
“ลุงเคยอยู่ที่นี่ ตอนนี้ไปอยู่กรุงเทพฯ ว่างถึงมาเยี่ยมดูขากลับแวะพิมาย ต่อเลยไปขอนแก่น มาเยี่ยมพี่น้องที่เคยอยู่ด้วยกันมา แล้วถึงกลับกรุงเทพฯ “
“ลุงมาบ่อยไหมครับ“ ยุกต์ถาม ชำเลืองมองลุงเจ็กอย่างแคลงใจ เพราะดูแกลึกลับชอบกล
“บ่อยครับ ไปๆมาๆ เหนื่อยหน่อย อยากกลับมาอยู่ที่นี่ มาอยู่ใกล้ๆ หรือมาอยู่ด้วยกัน ไม่ต้องเทียวไปเทียวมา แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร”
“ลุงหมายความว่าครอบครัวอยู่ที่นี่
“จะว่าอย่างนั้นก็ได้”
ยุกต์ ผงกหัว ทำเป็นเหมือนเข้าใจ แต่คิดในใจว่า ลุงแกตอบคลุมเครือ
“อยากให้ลุงเล่าเรื่องทับหลังของที่นี่” บุญเพ็งเปลี่ยนเรื่องเพราะเห็นลุงแกเศร้าๆ เมื่อพูดถึงครอบครัว
“เล่าไม่เป็นหรอก อยากรู้อะไรถามมาดีกว่า รู้จะเล่าให้ฟัง ไม่รู้ก็จนปัญญา” ลุงเจ็กพูดถ่อมตัว
“ทับหลังที่นี่มีกี่ชิ้นครับ” บุญเพ็งตั้งคำถามนำ และยกแก้วเบียร์ขึ้นดื่ม รอฟังลุงเจ็กตอบอย่างตั้งใจ
เรื่องทับหลัง ตอนี้เหลืออยู่ทั่งหมด 7 ชิ้น อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 3 แห่งคือ พิมาย 5 ชิ้น มีทับหลังรูปเทวดานั่งเหนือเกียรติมุข รูปขบวนแห่ เรื่องพระวิษณุตรีวิกรม หรือย่างสามขุม เรื่องกูรมาวตารของพระวิษณุ หรือ การกวนเกษียรสมุทร และเรื่องศวนาฏราช ลุกเจ็ก
อธิบายอย่างคล่องแคล่ว
“อาจารย์บุญเพ็งละเคยไปดูไหมครับ ที่พิมาย” ลุงเจ็กถาม
“เคยไปครับ แต่นานมาแล้ว เห็นมีอยู่มากมาย พอดีไม่ได้สังเกตว่าทับหลังชิ้นไหนเป็นของที่ไหน”
“ลองไปดูใหม่ซิครับ ของกู่สวนแตงน่าสนใจมาทีเดียว เขาจัดได้มุมหนึ่งเลย” ลุงเจ็กพูดเชิญชวน
“จะลองไปดูใหม่ครับ ถ้ามีโอกาส”
“เออ! ลุง เล่าต่อเถอะครับ” บุญเพ็งรบเร้า เมื่อเห็นลุงเจ็กเงียบไป
ลุงเจ็กเล่าต่อว่า ทับหลังที่มิมายทั้ง 5 ชิ้น ปรากฏว่ามี เรื่องกูรมาวตารของพระวิษณุ หรือ การกวนเกษียรสมุทรเท่านั้น ที่มีหลักฐานระบุว่า เคยประดับอยู่บนกรอบประตูหลอกด้านทิศตะวันตกของปราสาทประธาน
ส่วนทับหลังที่ขอนแก่น รูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณชิ้นนี้เคยประดับอยู่ที่ประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกของปราสาทองค์ด้านทิศใต้
และที่อยู่กรุงเทพฯ 1 ชิ้น คือ ทับหลังเรื่องพระวิษณุอนันตศายิน ปัทมนาภะ หรือนารายณ์บรรทมสินธุ์ ชิ้นนี้เคยประดับอยู่ที่ประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกของปราสาทองค์ด้านทิศเหนือ”
ลุงเจ็กเสริมว่า “ชิ้นที่อยู่กรุงเทพฯนี้ ถึงแม้จะไม่มีชื่อเสียงโดงดังเหมือนของพนมรุ้ง แต่ก็จัดว่าฝีมือแกะสลักอยู่ในระดับทีเดียว”
“น่าสนใจมากเลยครับ ถ้ามีโอกาสจะต้องไปดูให้ได้” บุญเพ็งพูดด้วยน้ำเสียงและท่าทางมุ่งมั่น
“ทำไมเขาจึงเอาไปไว้กระจัดกระจายอย่างนั่นล่ะ ยุกต์” บุญเพ็งสงสัย
“คงเพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมความงานโดยทั่วกันไงล่ะไม่ต้องเดินทางมาที่นี่” ยุกต์ตอบง่ายๆไปตามเรื่อง
“ดูแบบนั้นมันจะได้เรื่องได้ราวหรือได้รสชาติอะไรล่ะ”
“คงดีกว่าไม่ได้ดู” ยุกต์ตอบแบบขอไปที
“ตอบให้มันเข้าท่าหน่อยซิ ยุกต์” บุญเพ็งแกล้วทำเป็นมีอารมณ์
“กันว่าน่าจะนำกลับมาติดตั้งไว้อย่างเดิม เอามารวมกันไว้ที่นี่” บุญเพ็งเสนอแนะ
“ลุงเจ็กล่ะ คิดว่าควรจะเป็นอย่างไร” บุญเพ็งโบ้ยมาทางลุงเจ็ก
“คิดว่าน่าจะนำกลับมาไว้ที่เดิม เพราะสิ่งนี้เคยเป็นหนึ่งเดียวกัน ในอดีตเป็นศูนย์รวมความเลื่อมใสศรัทธาของผู้คนในท้องถิ่นที่นี่ ผมว่ามีนมีจิตวิญญาณ เราไม่ควรแยกเขาออกจากกัน” ลุงเจ็กเว้นจังหวะและอธิบายว่า เมื่อไม่มีทับหลัง ปราสาทก็ขาดชีวิตชีวาและจิตวิญญาณ
ไม่สามารถสร้างอารมณ์ความรู้สึกในเรื่องคุณค่าทางความงามได้ เปรียบเสมือนการกินอาหารที่จืดชืด ขาดรสชาติ
“แล้วจะทำอย่างไรล่ะ จึงจะได้รสชาติ” ยุกต์ถามแซงขึ้นมา
ลุงเจ็กเสนอแนะว่า “เมื่อจะบูรณะ ก็ควรนำทับหลังกลับมาติดไว้ที่เดิมด้วย”
“ทำไม่ได้หรอก” บุญเพ็ง ออกความเห็น กรมฯเขาไม่ยอม
“ทีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของพนมรุ้ง ยังเอากลับมาติดไว้ที่เดิมได้เลย ทำไมที่นี่จะทำไม่ได้” ลุงเจ็กเถียง พร้อมยกตัวอย่าง
“เออ! จริงของลุงแก” บุญเพ็งเพิ่งนึกขั้นได้
ลุงเจ็กเริ่มติดลม บรรยายต่อไปว่า “โบราณสถานนั้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน บูรณะแล้วหรือยังก็ตาม จะต้องหาวิธีการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คนในปัจจุบันให้ได้”
“จะมีวิธีการอย่างไรล่ะลุง” ยุกต์ถาม
“จะต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้ เข้าใจความหมาย เห็นความสำคัญ และรู้วิธีการนำมาใช้อย่างเคารพ อย่างเห็นคุณค่าและความหมาย
ที่สำคัญที่สุด ต้องคืนสมบัติเหล่านี้ให้แก่ชุมชน เพื่อชุมชนจะได้มีส่วนร่วมและมีบทบาทในการดูแลมรดกของชาติของประชาชนและท้องถิ่นร่วมกัน”
บุญเพ็ง ปรบมือให้กับลุงเจ็ก
“เยี่ยม..เยี่ยมจริงๆ..ลุง” บุญเพ็งชื่นชมลุกเจ็กอย่างออกหน้า
“แล้วถ้าเกิดหายไปล่ะจะทำอย่างไร” ยุกต์ทักท้วง
“กลัวแต่จะหายนั่นแหละ มีความคิดอยู่แต่ว่าเป็นสมบัติของตัวเอง ก็เลยกลัว” บุญเพ็งแสดงอารมณ์ฉุนเฉียว
“ความจริงแล้วมันเป็นสมบัติของชาติของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่นี่ ปัจจุบันองค์การชาวบ้านเขาเข้มแข็งมีความรู้ความเข้าใจในสมบัติส่วนรวมของทิ้งถิ่นดีแล้วปล่อยให้เขาดูแลกันเองได้”…
“ส่วนเรื่องหายนั้น เป็นเรื่องพ้นยุคสมัยไปแล้ว ตื่นตระหนกกันไปเอง เห็นที่ปราสาทสระกำแพงน้อย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ทับหลังตั้งอยู่หน้าปราสาทไม่เห็นมีใครเอาไป” บุญเพ็ง อธิบายและทำมือไม้ประกอบ
“จริงอย่างแกว่า มีหลายแห่งที่ทิ้งกองอยู่ กันจะเอาเรื่องนี้ไปคิดดู”
“ไม่เห็นต้องคิดอะไรเลย” ลุงเจ็กเปรยขึ้นลอยๆ
“แล้วลุงจะให้ทำอย่างไรล่ะ” ยุกต์ถาม
“นำทับหลังกลับมาไว้ที่เดิมก็สิ้นเรื่อง”
“จะเอาอย่างนั้นเลยหรือลุง”
“ถ้าเห็นว่าสิ่งที่จะทำถูกต้องดีงาม ก็ต้องทำ และมุ่งมั่นที่จะทำให้ได้ ไม่วันใดวันหนึ่ง มันต้องสำเร็จ”
“ได้ ลุงเจ็ก เอาอย่างนั้นก็ได้”
เท่านั้นเอง ลุงเจ็กถึงกับยิ้มออก ดวงตามีประกายสดใสแสดงถึงความหวังอย่างเห็นได้ชัด
“เออ!มันต้องอย่างนั้นซิวะเพื่อน” บุญเพ็งพลอยดีอกดีใจไปกับลุงเจ็ก และรู้สึกภูมิใจในตัวยุกต์ขึ้นมาทันที
“นานๆ เราจะมีความคิดตรงกัน ต้องฉลองกันหน่อย”
“เอ้า! ยกแก้ว” บุญเพ็งเชิญชวน
ทั้งสามคนยกแก้วขึ้นชนกัน ดื่มรวมเดียวหมด คืนนั้นเราชนแก้วกันซ้ำซาก อย่างมีความสุขสนุกสนานและอบอุ่นใจ

Comments are closed.