อาจารย์ปู่

3

ทับหลังนารายบรรทมสินธ์ เป็นภาพแกะสลักเรื่องเกี่ยวกับการกำเนิดพระพรหม ซึ่งในศิลปะแบบเขมรนิยมแกะสลักเรื่องนี้กันมาก เช่น ที่กู่สวนแตง อำเภอใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ และปราสาทสระกำแพงใหญ่ อำเภอทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
อาจารย์ปู่ได้อธิบายเรื่องราวของพระพรหมว่า เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งในตรีมูรติ หรือเทพเจ้าสามองค์ในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู อันได้แต่พระพรหมเทพผู้สร้าง พระวิษณุหรือพระนารายณ์เทพผู้รักษา และพระศิวะเทพผู้ทำลายล้าง ก็เท่ากับสร้างดุลยภาพของโลกและจักรวาลนั่นเอง
การกำเนิดพระพรหมนั้น ตามคัมภีร์วราหบุรณะว่าพระพรหม หรือนารายณ์ ในขณะที่บรรทมหลับอยู่บนหลังพญาอนันตนาคราช ณ เกษียรสมุทร แล้วพระพรหมองค์นี้จึงได้สร้างมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งสามโลก แต่คัมภีร์ปัทมบุรณะกล่าวถึงพระพรหมไปอีกอย่างหนึ่งว่าเมื่อพระวิษณุเป็นเจ้ามีประสงค์จะสร้างโลก จึงทรงแบ่งภาคพระองค์เองออกเป็น 3 คือสร้างพระพรหมจากปรัศว์ หรือสีข้าง ข้างขวา สร้างพระพิษณุ หรือพระองค์เอง จากปรัศว์เบื้องซ้าย สร้างพระศิวะมหากาฬจากบั้นกลางของพระองค์
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่เราเห็นอยู่นี้แกะสลักด้วยหินทราย เป็นภาพพระวิษณุ บรรทมตะแคงขวา บนหลังพญาอนันตนาคราช ซึ่งทอดตัวอยู่บนหลังมังกร ที่ปลายเท้าของพระวิษณุเป็นภาพนางลักษมีชายาของพระองค์ เหนือองค์พระวิษณุแกะสลักเป็นรูปดอกบัวที่โผล่ขึ้นมาจากพระนาภี บนดอกบัวเป็นรูปพระพรหม สี่พักตร์ สี่กร ภาพทั้งหมดนี้จัดไว้ตรงกลางทับหลัง ส่วนข้างซ้ายและขวา ทำเป็นรูปหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัย เหนือหน้ากาลเป็นภาพครุฑ ใต้หน้ากาลเป็นภาพนกแก้ว 2 ตัว ขอบด้านเหนือภาพพระวิษณุเป็นภาพนกหัสดีลิงค์คาบช้าง โดยออกแบบให้เป็นกรอบส่วนบนของภาพ
อาจารย์ปู่อธิบาย ประติมาณวิทยาของทับหลัง พวกเราก็ดูตามอย่างตั้งอกตั้งใจ

4

อาจารย์ปู่พาพวกเราให้เดินเลี่ยงลงไปยืนอยู่ข้างบรรณาลัยที่สร้างด้วยศิลาแลงด้านขวาองค์ปราสาท เพราะตอนนี้มีคนมากันมากขึ้น ทำให้ดูเหมือนว่าพวกเรากีดขวางทางเดินเข้าออก จากนั้น อาจารย์ปู่ได้เล่าต่อไปอีกว่า ตอนนี้นักวิชาการเกิดสงสัยกันขึ้นมาว่า ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งได้คืนมาจากสถาบันศิลปะ เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2531 นั้น จะไม่ใช่ของจริงเสียแล้ว
เรื่องนี้รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ The Sunday Nation ฉบับวันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม 2541 ว่า ท่านและนักโบราณคดีหลายคนไม่ค่อยมั่นใจกับทับหลังที่ได้มา เพราะทับหลังนั้นจำลองหรือปลอมกันง่าย
นักวิทยาศาสตร์ของกรมศิลปากร ท่านหนึ่ง ชี้แจงว่า เมื่อตอนได้ทับหลังกลับคืนมา มีการเปรียบเทียบกับชิ้นส่วนของทับหลังที่เหลืออยู่ และพบว่าผิว ลวดลาย ตะไคร่และวิธีการแกะสลัก มีลักษณะเช่นเดียวกัน
ส่วนเทพมนตรี ลิมปพยอม อาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ตอนที่นำทับหลังกลับคืนมา ไม่มีการตรวจสอบด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เลย มีเพียงนักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดี 2-3 คน ที่ระบุว่าเป็นของจริง ซึ่งเป็นเรื่องเสี่ยงมาก ที่น่าสังเกตคือ พื้นผิวของโบราณวัตถุชิ้นนี้ มีรอยพรุนมากจนผิดสังเกต
แต่อย่างไรก็ตาม อาจารย์ปู่ว่า คงยังสรุปอะไรไม่ได้นอกจากจะต้องพิสูจน์กัน
อาจารย์ปู่ชี้ที่ทับหลัง และอธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าหากดูทับหลังชิ้นนี้อย่างพินิจแล้ว คงจะสังเกตได้โดยง่ายว่าสีค่อนข้างซีด และลวดลายดูลบเลือน ไม่ชัดเจน เมื่อเทียบกับสีและลวดลายของส่วนอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกัน เช่น หน้าบันหรือเสากรอบประตู
อาจารย์ทุกท่านต่างดูอย่างพินิจ พยักหน้ารับแสดงความเห็นคล้อยตามด้วย
ส่วนรูพรุน ซึ่งมีมากมายผิดปรกติ และสังเกตเห็นได้ง่าย อาจารย์ปู่ บอกว่า เคยถาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุมพล วิเชียรศิลป์ อาจารย์ภาควิชาภูมิศาสตร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการสถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหินท่านบอกว่าหินทรายที่ใช้สร้างปราสาทในภาคอีสานนั้นเป็นหินกลุ่มโคราช ส่วนใหญ่เป็นหินตะกอนสีน้ำตาลปนแดง มีหลายหมวด หมวดที่มีคุณสมบัติเหมาะแก่การนำมาสร้างปราสาท มี 2 หมวด คือ หมวดหินพระวิหาร ประกอบด้วยหินทรายสีขาวเป็นชั้นหนา และมีการเรียงตัวชั้นเฉียงระดับ (Cross bedding) อันเป็นลักษณะเด่นของหินหมวดนี้ เกิดจากการสะสมตะกอนตามแนวลำน้ำที่ประสานสายกัน เรียกว่า “ธารประสานสาย” มีอายุประมาณตอนกลางยุคจูแรสสิค หินทรายหมวดนี้มีความรุนแรงและแข็งแกร่งดีมาก จึงนิยมใช้เป็นหินในการก่อสร้างปราสาท และหมวดหินพูพาน ประกอบด้วยหินกรวดมนและหินแกมเหลือง เกิดจากการสะสมของตะกอนในบริเวณธารประสานสาย คล้ายกับหมวดพระวิหาร ดังนั้น ลักษณะหินและความแข็งจึงคล้ายคลึงกัน และนิยมนำมาสร้างปราสาทเช่นกัน
อาจารย์ปู่สรุปตรงนี้ว่า ถ้าจะให้แน่ก็ต้องดูหินที่นำมาใช้แกะสลัก แต่คงไม่มีใครอยากมาพิสูจน์หรอก ไม่ได้ประโยชน์อะไร รอให้เวลาเป็นเครื่องตัดสินดีกว่า
อาจารย์พัฒนา แสนอข้อคิดเห็นกับอาจารย์ปู่ว่าทับหลังชิ้นนี้ ถือได้ว่าเป็นชิ้นสำคัญ เพราะเป็นทับหลังมณฑป ทางด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธาน ดังนั้น หินที่จะใช้สำหรับแกะสลัก คงจะต้องได้รับการพิจารณาเลือกสรรอย่างดีพิถีพิถัน คงไม่เลือกใช้หินที่มีคุณภาพต่ำอย่างนี้ ซึ่งข้อคิดเห็นดังกล่าวทำให้อาจารย์ปู่ชอบอกชอบใจใหญ่ คงดีใจที่อาจจะได้ผู้สืบทอดเจตนารมณ์ในเรื่องนี้
ก่อนจะจบ อาจารย์ปู่ได้ตั้งข้อสังเกตที่ไม่เกี่ยวกับข้อสงสัยข้างต้น แต่เป็นข้อสังเกตในการนำทับหลังเข้าไปติดตั้ง อาจารย์ปู่บอกว่า ความจริงแล้วทับหลังชิ้นนี้ แตกชำรุดจนไม่สามารถนำกลับไปใส่ไว้ในลักษณะเดิมได้ เป็นชิ้นส่วนที่จัดได้ว้าเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่มีความสำคัญ ถือเป็น Masterpiece ของงานประติมากรรมของพนมรุ้ง การนำไปติดตั้งไม่น่าจะใช้วิธีติดกับพื้นปูนซีเมนต์ ควรออกแบบติดตั้งให้ดี ให้สมกับที่เป็น Masterpiece การติดตั้งโดยเอาไปติดกับผนังปูนอย่างที่ทำไว้นั้น ได้ทำให้คุณค่าของงานศิลปะชิ้นดังกล่าวด้อยค่าไปอย่างน่าเสียดาย”

การไปเที่ยวในวันนี้เราปิดท้ายรายการกันที่ร้านอาหารในตัวเมืองบุรีรัมย์ อาจารย์ทุกคนหน้าตาสดใสเป็นสุขทั้งๆ ที่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากันมาตลอดทั้งวัน อาจารย์ปู่บอกว่า เสียดายที่มีเวลาน้อยไป ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกเยอะ แต่นั่นแหละ วันเดียวจะให้รู้หมดทุกสิ่งทุกอย่างนั้น คงเป็นไปไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม อาจารย์ทุกท่านที่ไปซึ่งนอกจากจะได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน สามารถสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มผู้ร่วมงานแล้ว ยังได้รับความรู้เกี่ยวกับศิลปะประวัติศาสตร์และโบราณคดีอีกด้วย
อาจารย์พัฒนาบอกว่าคุ้มค่าที่ไปพนมรุ้ง ถ้าทีแรกเลือกไปทะเลคงจะเสียใจแย่เลย
อาจารย์ส่งเสริมซึ่งนั่งอยู่ที่หัวโต๊ะ กล่าวสรุปหลังจากที่พวกเรารับประทานอาหารกันอิ่มหนำสำราญดีแล้วว่า รู้สึกดีใจมาก ที่ได้เห็นพวกเราสนุกสนาน เบิกบาน สมัครสมานสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการที่จะร่วมกันทำงานต่อไป คราวนี้อย่างที่แจ้งไว้แต่แรกแล้วว่า ค่าใช้จ่ายเราจะช่วยกันออก ส่วนคราวหน้าซึ่งเราไปกันอีก ผมขอจองเป็นเจ้าภาพทั้งหมดเอง
อาจารย์ทุกคนปรบมือยินดี และมีเสียงถามลอยออกมาเบาๆ ว่า “จะไปเมื่อไหร่”
และหลังจากนิ่งเงียบกันไปสักครู่
อาจารย์ส่งเสริมได้ภามขึ้นว่า “คราวหน้าเราจะไปที่ไหนกันดี”
อาจารย์ทุกคนต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “แล้วแต่อาจารย์ปู่เค้า”

Comments are closed.