อาจารย์ปู่

2

แล้วพวกเราเก้าคนรวมทั้งป้าสายแม่บ้านประจำอาคารก็มายืนอยู่ตรงหน้าปราสาทหินทรายสีชมพู “พนมรุ้ง” ซึ่งเป็นปราสาทที่ตั้งอยู่บนภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว ปล่องภูเขาไฟอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือโน่น ปัจจุบันใช้เป็นอ่างเก็บน้ำ อาจารย์ปู่บรรยายพร้อมชี้มือให้เห็นว่าอยู่ไกลออกไป
ตอนนี้อาจารย์ที่มาด้วยกันต่างรู้สึกตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจแบบสถาปัตยกรรมเขมรที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า ตัดกับท้องฟ้าสีครามช่วยเสริมให้องค์ปราสาทเด่นชัดยิ่งขึ้น ด้านซ้ายมืออยู่ไกลลิบลิ่วโน่น ประเทศเขมรหรือเขมรต่ำ ซึ่งปัจจุบันยังมีปัญหาทางการเมืองที่สร้างความบอบช้ำให้กับประเทศชาติและประชาชนผู้ยากไร้อย่างต่อเนื่องนั้น คือเจ้าของรูปแบบอารยธรรมที่เคยเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในบริเวณนี้
ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นเทวสถานเนื่องในศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู ที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาพระศิวะ เทพสูงสุดในลัทธิไศวนิกาย ว่ากันว่าสร้างในช่วงสมัยพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของเขมรในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17
และอาจารย์ทั้งหมดที่มาด้วยกันก็ยิ่งตื่นเต้นมากขึ้นไปอีกเมื่ออาจารย์ปู่พาไปยืนอยู่ตรงหน้ามณฑป ที่ตรงหน้านั้นมีทับหลังแกะสลักเรื่องนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งอาจารย์ปู่บอกว่า “ทับหลังชิ้นนี้แหละที่ทำให้ปราสาทหินพนมรุ้งมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก”
อาจารย์ปู่เล่าต่อไปโดยไม่ต้องรอใครถามว่า เมื่อระหว่างปี พ.ศ. 2504-2508 ทับหลังชิ้นนี้ได้หายไปจากที่นี่แต่ไม่ทราบว่าหายไปไหน
จนกระทั่งในปี พ.ศ.2516 ศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ขณะทรงดำรงตำแหน่ง คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ทรงมีหนังสือแจ้งอธิบดีกรมศิลปากรว่า ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์หายไปจากปราสาทหินพนมรุ้งนั้น ตั้งแสดงอยู่ที่สถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทับหลังดังกล่าวเป็นสมบัติของมูลนิธิอัลสดอร์ฟ ซึ่งเราควรจะขอกลับคืน
ทั้งนี้เพราะเรามีหนักฐานภาพถ่าย ปรากฎอยู่ในจดหมายเหตุการณ์เสด็จตรวจโบราณวัตถุสถาน มณฑลนครราชสีมา ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อปี พ.ศ. 2472 ทับหลังชิ้นนี้ตกลงมาจากกรอบประตูมณฑปด้านทิศตะวันออกของปราสาทประธานและหักออกเป็นสองท่อน
อาจารย์ปู่อธิบายเพิ่มเติมอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยอีกว่า “ดีนะที่เรามีภาพถ่ายเป็นหลักฐาน ถ้าไม่มีก็มีหวังอด ไม่ได้คืน และเสริมว่า โบราณวัตถุลักษณะเดียวกันนี้ ได้มีคนร้ายลักลอบนำออกมาจากประเทศเขมรเข้ามาในประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ของเราจับได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเราอยากจะคืนให้เจ้าของเขาไป แต่เนื่องจากไม่มีหลักฐานระบุว่าเป็นของเขา เราก็เลยไม่รู้จะทำอย่างไร”
“แล้วอย่างไรต่อไปคะ” อาจารย์พัฒนาซึ่งเกิดอยากรู้จริงๆ จังๆ ขึ้นมาตอนนี้ถามต่อ เมื่อเห็นอาจารย์ปู่เงียบไป
ตั้งแต่นั้นมา กรมศิลปากรก็ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อจะนำทับหลังชิ้นดังกล่าวกลับคืนมาให้ได้ แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2531 ชมรมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีรองศาสตราจารย์วันชัย วัฒนกุล อธิการวิทยาลัยครูบุรีรัมย์ เป็นประธาน มีอาจารย์เทียนชัย ให้ศิริกุล และผมด้วยเป็นเลขา ได้ร่วมกับประชาชนชาวจังหวัดบุรีรัมย์เกือบสองหมื่นคน ชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องขอทับหลังคืน โดยทำหนังสือถึงเอกอัคราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายพร อุดมพงษ์
จากนั้นมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องจากหลายๆ ฝ่าย ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน จนกระทั้งเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2531 ด้วยการร่วมแรงร่วมใจของประชาชนชาวไทยทุกคน ประเทศสหรัฐอเมริกา สถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโก ได้ส่งทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์กลับคืนสู่ประเทศไทย ปรากฏว่าได้มีประชาชนชาวไทยไปต้อนรับที่สนามบินดอนเมืองอย่างเนืองแน่น จากนั้นได้นำไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เพื่อให้ชาวกรุงเทพฯ ได้ชื่นชม ก่อนที่จะนำกลับมาประดิษฐานไว้ยังสถานที่เดิม

Comments are closed.