อนุรักษ์นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา :

อนุรักษ์นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา :
เพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติหรือเพื่อใคร

รศ.วิสุทธิ์ ภิญโญวาณิชกะ

นสพ. แนวหน้ารายวัน ปีที่ 16 ฉบับที่ 5258 วันเสาร์ที่ 15 เมษายน 2538 หน้า 5

วิหารน้อย  วัดพุทไธสวรรย์  อยุธยา

ดูเหมือนว่าปัญหาในการที่จะอนุรักษ์นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยามรดกโลก ให้ดำรงอยู่คู่แผ่นดินไทยเพื่อเป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีของชาติของประชาชนนั้น ทำท่าจะไม่ง่ายเสียแล้ว เพราะเพียงแค่จะออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เพื่อใช้เป็นมาตรการทางกฏหมายในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าป้องกันการบุกรุกทำลายโบราณสถาน สถานที่ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์และพื้นที่ต่อเนื่องซึ่งได้เริ่มกันมาตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว (2537) ก็ยังไม่สามารถดำเนินการให้เรียบร้อยได้ ทั้งนี้เพราะมีปัจจัยต่าง ๆ หลายประการที่ทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้า เข้าทำนองที่ว่ากว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้
เริ่มแรกที่เดียวนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายบรรจง กันตวิรุฒ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งตามคำสั่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ 6180 / 2537 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2537 เพื่อยกรางประกาศกระทรวงมหาดไทยในการกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย และใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรอยุธยาและพื้นที่ต่อเนื่องโดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และโยธาธิการจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ และจากการประชุมกันเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2537 แล้ว คณะกรรมการเห็นว่า ควรมีคณะทำงานเพื่อให้ยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว มีความสมบูรณ์ในทุก ๆ ด้านจึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้น โดยมีโยธาธิการจังหวัดเป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานโครงการนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเทศบาล ฯลฯ เป็นกรรมการซึ่งคณะทำงานชุดนี้ได้ทำร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยเสร็จเรียบร้อยแล้ว เสนอผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการยกร่าง ฯ เพื่อพิจารณา


แต่ปรากฏว่าได้มีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่น เทศบาล หอการค้าจังหวัด สมาคมพ่อค้า สโมสรไลออนส์ และสโมสรโรตารี ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ขอร่วมเสนอแนวความคิดในการออกประกาศกระทรวงมหาดไทย ดังกล่าวโดยเสนอร่างของหอการค้าจังหวัด ฯ มาพร้อมด้วย
ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีบัญชาให้โยธาธิการจังหวัดพิจารณาร่างของหอการค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยากับร่างเดิมที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว และปรับตามความเหมาะสม โดยให้ปรึกษากับผู้อำนวยการสำนักงานโครงการนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
สำนักงานโยธาธิการจังหวัด ฯ ได้ร่วมหารือเพื่อปรับปรุงร่าง ฯดังกล่าวกับผู้อำนวยการโครงการนครประวัติศาสตร์ ฯ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2538 ปรับร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยใหม่ และเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
ดังนั้น เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2538 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมใหญ่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงได้มีการประชุมคณะกรรมการยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถตกลงกันให้เป็นที่เรียบร้อยได้
ในการพิจารณาร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยตามที่กล่าวมาคณะกรรมการ ฯ ได้พยายามกำหนดขั้นตอนการทำงานที่ค่อนข้างจะรอบคอบรัดกุม ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้และถึงแม้จะได้พยายามแล้ว แต่ก็ยังปรากฏว่าในบางขั้นตอนนั้น ยังไม่เหมาะสม ดังข้อสังเกตหลายประการ ดังนี้
ประการที่หนึ่ง หลังจากที่คณะทำงานได้ศึกษาและยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้เสนอร่าง ฯ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการร่างประกาศกระทรวง ฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือแก้ไขปับปรุง ตามระยะเวลาที่กำหนดและดูเหมือนว่าไม่มีหน่วยงานใดทักท้วง
ประการที่สอง ต่อมาเมื่อหอการค้าจังหวัด ฯ สมาคมพ่อค้าฯสโมสรไลออนส์ ฯ และสโมสรโรตารี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขอร่วมเสนอแนวคิดในการยกร่าง ฯและเสนอร่างมายังผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีบัญชาให้ประธานคณะทำงานไปพิจารณาปรับปรุง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เหมาะสมถูกต้องแต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การพิจารณาครั้งนี้มิได้ให้คณะทำงานพิจารณาทั้งคณะ คงให้เฉพาะโยธาธิการจังหวัดและผู้อำนวยการสำนักงานโครงการนครประวัติศาสตร์ฯ ร่วมพิจารณาเท่านั้น
ประการที่สาม หลังจากคณะทำงานได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ได้มีการประชุมคณะกรรมการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2538 ณ ห้องประชุมใหญ่ ศาลากลางจังหวัด ฯแต่ปรากฏว่าได้มีการเชิญกลุ่มผู้เรียกร้องทั้งภาครับและเอกชน อาทิ ประธานหอการค้าจังหวัด ฯ สมาคมพ่อค้า สโมสรไลออนส์ และสโมสรโรตารี ฯลฯ เข้ามาร่วมพิจารณาด้วย ทั้ง ๆ ที่กลุ่มคนเหล่านี้มิได้เป็นคณะกรรมการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใด
ประการที่สี่ ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2538 มีการกล่าวในทำนองว่า คณะกรรมการพิจารณาร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการมิใช่คนอยุธยา มาอยู่กันเพียง 2 ปี 4 ปี ก็ย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว การทำอะไรควรจะคำนึงถึงประชาชนในท้องถิ่นด้วย ซึ่งนับเป็นคำกล่าวที่ดีและน่ารับฟังเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าพิจารณาให้ถ่องแท้แล้วคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนเป็นเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรมของชาติเท่าเทียมกัน สำคัญอยู่ที่ว่าเจตนาที่จะทำสิ่งต่าง ๆ นั้น ทำเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนส่วนใหญ่ หรือทำเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผู้เขียนใคร่ขอเรียกร้องต่อทุก ๆ ท่านที่มีส่วนเป็นเจ้าของนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้ใช้ความคิดพิจารณาปัญหานี้อย่างรอบคอบรัดกุม และมุ่งเน้นที่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญอย่าได้ทำให้เกิดความรู้สึกที่ว่าทำเพื่อกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อหน้าประวัติศาสตร์การอนุรักษ์นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาหน้านี้จะได้สวยสดงดงาม เป็นที่ชื่นชมของชนรุ่นหลังต่อไป

Comments are closed.