นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

ศาลาการเปรียญวัดเชิงท่า  อยุธยา

นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ควรค่าแก่มรดกโลกหรือไม่

รศ.วิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ

วารสารทางวิชาการ ราชภัฏกรุงเก่า ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ภาคเรียนที่ 1/2537
วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา

เป็นที่ทราบกันดีอยู่ทั่วไปแล้วว่า กรุงศรีอยุธยาอดีตราชธานีของไทยหรือนครประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น มรดกโลกนั้นปรากฏว่ามีโบราณสถานมากที่สุด โบราณสถานเหล่านั้นได้แก่ปราสาทราชวัง วัดวาอาราม สถูปเจดีย์ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่มักจะสร้างด้วยอิฐ จนเป็นสาเหตุให้ยากแก่การดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพเดิมได้ และนับวันแต่จะชำรุดทรุดโทรมพังทลายลงไปเรื่อย ๆ ตามอายุขัยของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาเกินความสามารถที่จะหยุดยั้งเอาไว้ได้ แต่ปรากฏว่านอกจากการพังทลายของโบราณสถาน ด้วยสาเหตุเพราะวัสดุที่ใช้หมดอายุไปตามธรรมชาติแล้ว ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกหลายประการที่ทำให้โบราณสถานเหล่านั้นชำรุดทรุดโทรมและพังทลายสูญหายไปอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่ควรจะเป็น อาทิเช่น การแอบเข้าไปขุดค้นหาของมีค่า หรือการนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปเลี้ยงในบริเวณโบราณสถาน รวมทั้งการถูกไถกลบเพื่อนำพื้นที่ไปใช้ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งถือว่าเป็นการทำลายโบราณสถานโดยเจตนา จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และถ้าหากเราไม่หันมาให้ความสนใจดูแลรักษาป้องกันเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้แล้ว โบราณสถานเหล่านั้นก็จะถูกทำลายลงไปเรื่อย ๆ ในไม่ช้าก็จะหมดไป ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น คำกล่าวที่ว่า กรุงศรีอยุธยานครประวัติศาสตร์มรดกโลก ที่มีโบราณสถานมากที่สุดก็จะกลายเป็นแต่เพียงตำนานหรือเรื่องที่เล่าขานกันเท่านั้น
จากการได้สำรวจและศึกษาถึงสาเหตุที่ทำให้โบราณสถานชำรุดทรุดโทรมและพังทลายสูญหายไปนั้น พบว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการ สาเหตุที่สำคัญมีดังต่อไปนี้


1. การชำรุดทรุดโทรมและพังทลายสูญหายของโบราณสถานเกิดขึ้นจากสภาพของโบราณสถานเอง ทั้งนี้เพราะโบราณสถานส่วนใหญ่ก่อสร้างด้วยอิฐ มีทั้งสอปูนและไม่สอปูน จะใช้ศิลาแลงอยู่บ้างก็มักใช้เป็นส่วนฐาน เพื่อทำให้เกิดความมั่นคงแข็งแรง นอกจากนั้นโบราณสถานบางแห่งยังถูกไฟเผาทำลายเมื่อคราวเสียงกรุงครั้งสุดท้าย ( พ.ศ. 2310 ) ทำให้โครงสร้างและวัสดุที่ใช้สร้างเลื่อมสภาพลง และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ในบริเวณที่ลุ่มมีน้ำท่วมขังอยู่เสมอในฤดูน้ำหลาก ซึ่งทำให้โบราณสถานทรุดเอียงและล้มทลายลงเมื่อถูกพายุฝน ตัวอย่างเช่น เจดีย์วัดหัสดาวาส ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวัดหน้าพระเมรุ ริมคลองสระบัว และเจดีย์ทรงระฆังวัดแคที่ทุ่งขวัญ ล้มทลายลงจากพายุเกย์เมื่อปลายปี พ.ศ. 2532 เป็นต้น
2. เกิดจากวัชพืชที่ขึ้นอย่างงอกงามบนโบราณสถาน ซึ่งถึงแม้ว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบจะได้พยายามถากถางอยู่เสมอ ๆ แต่ก็มีกำลังงบประมาณไม่เพียงพอที่จะดูแลให้ทั่วถึงได้ นอกจากนั้นโบราณสถานเหล่านี้ได้ถูกปล่อยทิ้งไว้นานหลังจากเสียกรุง ต้นไม้ที่ขึ้นปกคลุมโบราณสถานมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะทำลายลงได้ เพราะถ้าตัดต้นไม้ออก โบราณสถานก็จะพังไปพร้อมกับต้นไม้นั้นด้วย และบางแห่งต้นไม้ก็ขึ้นอยู่สูงเกินกว่าที่จะตัดทำลายตั้งแต่ยังมีขนาดเล็ก ๆ อยู่
3. เกิดจากการที่ประชาชนบุกรุกเข้าไปอยู่อาศัยหรือประกอบกิจการค้าในเขตโบราณสถาน ทำให้บริเวณโบราณสถานสกปรกรุงรังเกิดภาพที่ไม่เหมาะสม นอกจากนั้นประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตโบราณสถาน ยังแอบขนอิฐจากโบราณสถานไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น ใช้ปูทางเดิน ถมบริเวณที่ลุ่มภายในบ้าน เป็นต้น หรือแอบเข้าไปขุดค้นหาของมีค่าซึ่งเป็นการทำลายทั้งโบราณวัตถุและโบราณสถาน ฉะนั้น โบราณสถานแทบทุกแห่งจึงปรากฏร่องรอยการขุดเจาะเป็นรูโพรง จนกลายเป็นลักษณะเฉพาะของโบราณสถานอยุธยา ซึ่งยังพบเห็นได้อยู่ทั่วไปและบางครั้งยังทำลายลวดลายปูนปั้นประดับตามโบราณสถาน หรือตัดเศียรองค์พระพุทธรูป เพื่อนำไปเป็นสมบัติส่วนตัวหรือจำหน่ายให้แก่ชาวต่างประเทศ ฉะนั้น พระพุทธรูปตามวัดร้างต่าง ๆ ในกรุงศรีอยุธยาจึงมักจะเหลือแต่องค์พระ ส่วนเศียรจะหักหายไป ตัวอย่างเช่น พระพุทธรูปปูนปั้นในระเบียงคตวัดไชยวัฒนาราม ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามเกาะเมืองด้านทิศตะวันตก พระพุทธรูปในระเบียงคตจำนวน 120 องค์ ไม่ปรากฏว่าเหลือเศียรให้ได้ศึกษาแม้แต่องค์เดียว
นอกจากนั้น การนำสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ม้า แพะ แกะ ฯลฯ เข้าไปเลี้ยงในเขตโบราณสถานก็เป็นอีกสาเหตุหานึ่งที่ทำให้โบราณสถานเสียกาย เพราะสัตว์เลี้ยงดังกล่าวเข้าไปเหยียบย่ำ ถอนดึงกัดกินวัชพืชบนโบราณสถานทำให้เกิดการพังทลาย และสาเหตุที่สำคัญที่สุดในขณะนี้คือ การบุกรุกโบราณสถานโดยใช้รถไถ ไถปรับที่และตัวโบราณสถานเพื่อใช้พื้นที่ทำประโยชน์อย่างอื่น ตัวอย่างเช่น การไถกลบวัดมอญที่ทุ่งหันตรา บริเวณอโยธยา ที่ปรากฏเป็นข่าวความขัดแย้งให้แก่นักอนุรักษ์และพุทธศาสนิกชนทั่วไป และการกระทำในลักษณะดังกล่าวนั้น ยังปรากฏอยู่เนือง ๆ กล่าวได้ว่า การทำลายโบราณสถานในลักษณะเช่นนี้ เป็นการทำลายโบราณสถานที่ร้ายแรงที่สุด
4. เกิดจากพระนักพัฒนาที่นิยมบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานที่มีอยู่นั้นใหม่ เพราะเห็นว่ามีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก แต่การบูรณปฏิสังขรณ์ดังกล่าว ขาดความเข้าใจจึงมักจะรื้อเพื่อปรับปรุงใหม่ซึ่งทำให้หลักฐานทางโบราณคดีประวัติศาสตร์และศิลปกรรมสูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย ตัวอย่างเช่น การรื้อพระอุโบสถวัดศรีโพธิ ริมคลองสระบัว และพระอุโบสถวัดมหาโลก ตรงข้ามวัดสามวิหาร ด้านทิศตะวันออก เพื่อสร้างพระอุโบสถใหม่ เป็นต้น และอีกประการหนึ่งพระนักพัฒนามักจะถือสิทธิ์ยกโบราณสถานที่ทางวัดเห็นว่าไม่สำคัญและไม่ต้องการให้แก่หน่วยงานและผู้นิยมของเก่า ตัวอย่างเช่น การรื้อศาลาของวัดพิชัยสงคราม ริมแม่น้ำป่าสักให้ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัด วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา ซึ่งก็เพียงนำมากองทิ้งไว้ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการปรับปรุงโบราณสถานที่ไม่สอดคล้องกับสภาพของโบราณสถาน ทำให้เกิดภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น การปลูกแปลงไม้ดอกภายในพระวิหาร ที่วัดใหญ่ชัยมงคล เป็นต้น
5. เกิดจากหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่สามารถทำการบูรณะฏิสังขรณ์โบราณสถานให้แล้วเสร็จไปในคราวเดียวกันได้ เนื่องจากงบประมาณจำกัด เช่น ได้รับงบประมาณในการขุดแต่งแต่ไม่ได้รับงบประมาณในบูรณปฏิสังขรณ์ เป็นเหตุให้ต้องรองบประมาณในปีต่อไป เมื่อจุดทิ้งไว้ ฝนที่ตกลงมาก็กัดเซาะดินที่ขุดไว้ ทำให้โบราณสถานพังได้ง่ายกว่าเดิม สำหรับปัญหาการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานนี้ มีข้อน่าสังเกตคือ การขุดแต่งโบราณสถานนั้น จำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจและมีประสบการณ์ทางด้านนี้พอสมควร แต่เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอในการขุดแต่งหรือควบคุมดูแล คงปล่อยให้ผู้รับเหมาะทำไปตามอำเภอใจ จึงปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบโบราณสถานให้แตกต่างไปจากเดิมอยู่เสมอ ๆ ตัวอย่างเช่น การบูรณะปฏิสังขรณ์เจดีย์ย่อมุมใหญ่ ด้านหน้าวัดไชยวัฒนาราม ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อปี พ.ศ. 2533 รูปแบบเจดีย์ ก่อนการบูรณะตามรูปถ่ายเก่านั้นบริเวณระหว่างบัลลังก์กับปล้องไฉนไม่มีเสาหาน แต่หลังการบูรณ์ปฏิสังขรณ์ได้เพิ่มเสาหานลงไป นอกจากนั้นยังมีการต่อเติมเศียรพระพุทธรูปประธานของพระอุโบสถ ซึ่งได้หักหายไปเป็นเวลานานแล้ว การต่อเติมเช่นนี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทำให้ผู้ที่จะศึกษาค้นคว้าต่อไปในอนาคตเกิดความสับสนไม่สามารถสร้างความต่อเนื่องเรื่องราวในประวัติศาสตร์อย่างถูกต้องตามข้อเท็จจริงได้
นอกจากนั้น สถานศึกษาทางด้านโบราณคดีมักจะนำนักศึกษามา ฝึกปฏิบัติงานภาคสนาม เพื่อค้นหาหลักฐานทางโบราณคดีตามแหล่งโบราณสถานในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งบางครั้งหลังจากการขุดค้นแล้วก็มิได้กลบหลุมที่ขุดค้นคงปล่อยทิ้งไว้ ตัวอย่างเช่น การขุดค้นทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีวัดสังขแท้ บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ในอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา โดยภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2533 เป็นต้น
การกระทำดังกล่าวถือเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้โบราณสถานพังทลายลง อีกประการหนึ่ง โบราณสถานบางแห่งตั้งอยู่ในสถานที่ราชการซึ่งความจริงแล้ว สถานที่ราชการตั้งอยู่ในเขตโบราณสถาน เช่น โรงเรียน วิทยาลัย โรงพยาบาล เป็นต้น แต่ปรากฏว่าหัวหน้าหน่วยราชการเหล่านั้น ไม่ได้ให้การทำนุบำรุงรักษาโบราณสถานตามสมควร ทั้งนี้เพราะถือว่าไม่ใช่หน้าที่ของตน จึงไม่เอาใจใส่ดูแล ปล่อยให้โบราณสถานสกปรกรกรุงรัง เกิดภาพที่ไม่เหมาะสมซึ่งปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป
6. เกิดจากการพัฒนาบ้านเมือง ซึ่งมีการตัดถนนหนทางเพื่อการสัญจรไปมา ตลอดถึงการก่อสร้างอาคารสถานที่ทางราชการต่าง ๆ ทำให้โบราณสถานถูกรื้อไปหลายแห่ง เช่น การสร้างถนนโรจนะ ได้สร้างคร่อมวัดโค วัดจิ้งจก วัดเผาข้าว วัดเสียมราษฏร์ วัดท่าจีน วัดซอแจ วัดนางชี เป็นต้น การสร้างศาลากลางจังหวัดได้ทำลายวัดป่าม่อ วัดทองขมิ้น วัดขุนพรหม วัดเลา เป็นต้น และต่อมากรมการศาสนาได้ประมูลขายอิฐตามวัดร้างให้แก่ประชาชน โบราณสถานจึงถูกทำลายอย่างยับเยินเป็นจำนวนมาก (ศิลปากร. 2533 : 14) นอกจากนั้นยังมีการปลูกสร้างอาคารสูงใหญ่ทันสมัยขึ้นมาบดบัง หรือตัดถนนบุกรุกเข้าไปใกล้โบราณสถาน
การก่อสร้างอาคารขนาดสูงใหญ่ขึ้นบดบังโบราณสถานนั้น นอกจากจะเป็นการทำลายภูมิทัศน์ของโบราณสถานแล้ว ยังเป็นการทำลายจิตวิญญาญของพุทธศาสนิกชนอีกด้วย เพราะโบราณสถานส่วนใหญ่เป็นวัด ซึ่งมีพระมหาธาตุเจดีย์เป็นองค์ประธานของวัด เป็นศูนย์รวมความเลื่อมใสศรัทธาของผู้คน การสร้างอาคารสูงใหญ่ขึ้นมาบดบังดังกล่าว ไม่สามารถจะมองเจตนาให้เป็นอย่างอื่นไปได้ ตัวอย่างเช่น การสร้างอาคารสูงใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำป่าสักด้านทิศตะวันออก ติดกับวัดพิชัยสงครามซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะเป็นที่ตั้งกองทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ฉะนั้น การสร้างอาคารดังกล่าวนอกจากจะบดบังศาสนสถานอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แล้วยังถือเป็นการทำลายสถานที่สำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์อีกด้วย
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุของการทำให้โบราณสถานในกรุงศรีอยุธยาชำรุดทรุดโทรมและพังทลายสูญหายไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะโบราณสถานนั้นเป็นสมบัติของชาติ เป็นสมบัติของส่วนรวมเป็นมรดกโลก ซึ่งเมื่อถูกทำลายลงไปแล้ว ก็ไม่สามารถนำกลับคืนมาได้อีก และเมื่อถึงเวลานั้นการเป็นมรดกโลกก็อาจจะถูกถอนคืนไป ทั้งนี้เพราะไม่สามรถรักษาสภาพ และบรรยากาศของนครประวัติศาสตร์เอาไว้ได้แต่ถ้าหากทุกคนจะหันมาให้ความเข้าใจ ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ดุแลรักษามรดกอันมีค่าของชาติและของชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาทุกคนแล้ว ถึงแม้นจะไม่สามารถรักษาโบราณสถานเหล่านั้นได้ แต่ก็จะช่วยชะลอให้โบราณสถานเหล่านั้นได้อยู่คู่อยุธยายาวนานยิ่งขึ้น เพื่อให้ลูกหลานได้ภาคภูมิใจในความวิริยะอุตสาหะ และความเลื่อมใสศรัทธาของบรรพบุรุษที่ได้ใช้ภูมิปัญญาสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ไว้ เพราะสิ่งนี้คือศักดิ์ศรีและเกียรติของชาติเป็นมรดกโลก เป็นมรดกของแผ่นดิน หรือว่าเราจะไม่สนใจ

หนังสืออ้างอิง

ศิลปากร, กรม. แผนแม่บทนครประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : บริษัทสำนักพิมพ์ สมาพันธ์, 2533.
ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ 39 (ภาคที่ 64) พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม).
โรงพิมพ์คุรุสภา, 2512.

Comments are closed.