ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา

ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา
ลมหายใจเฮือกสุดท้าย

รศ.วิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ

พิมพ์เผยแพร่ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 14 ฉบับที่ 7 : พฤษภาคม 2536

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2535 ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบสองขวบปีของศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ในวันนี้เมื่อสองปีก่อน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดศูนย์ ซึ่งนับเป็นเกียรติประวัติและสิริพิพัฒน์มงคลแก่ศูนย์แห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง และยังเป็นที่ชื่นชมยินดีแก่ทั้งข้าราชการและพ่อค้าประชาชน โดยเฉพาะ อย่างยิ่งชาวพระนครศรีอยุธยา ที่มีโอกาสได้เข้าชมพระบารมีอย่างใกล้ชิด
และที่สำคัญคือจะได้มีศูนย์ที่ทำหน้าที่เป็นสถาบันวิจัย เป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นศูนย์ข้อมูล ห้องสมุดและสถาบันทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์อยุธยา ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์แห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ถนนโรจนะ ใกล้วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา (มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา) ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นกับรัฐบาลไทย โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนและให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าเป็นเงิน 999 ล้านเยน (ประมาณ 170 ล้านบาท) โดยถือเป็นโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติในพระบรมราชวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา และเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่มิตรภาพระหว่างประเทศญี่ปุ่นและราชอาณาจักรไทย มีความมั่นคงถาวรยืนนานมาครบ 100 ปี
จากประวัติความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ได้สร้างความหวังและความภาคภูมิใจให้แก่ผู้ที่สนใจเรื่องราวของพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นอย่างยิ่ง


แต่ดูเหมือนว่า ความหวังและความภาคภูมิใจดังกล่าว จะค่อย ๆ เลือนหายไปทุกที เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นเวลา 2 ปีเต็ม วัตถุประสงค์ของศูนย์ตามที่กล่าวมา มิได้ถูกดำเนินการให้เป็นรูปธรรมแต่ประการใด ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการวิจัย เป็นพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด หรือศูนย์ข้อมูลก็ตาม ทั้งยังไม่เคยปรากฎบรรยากาศที่เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงว่า ศูนย์แห่งนี้เป็นสถาบันทางวิชาการเลยแม้แต่น้อย
แต่ในทางตรงกันข้าม สถานที่แห่งนี้กลับถูกใช้ไปในลักษณะที่เป็นแหล่งมั่วสุมของพวกวัยรุ่น เป็นที่พลอดรักกันอย่างโจ่งแจ้งของคู่หนุ่มสาวทั้งในเวลากลางวันและยามค่ำคืน วัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้อย่างสวยหรูนั้นถูกลืมไปหมดสิ้น นักวิชาการต่าง ๆ ที่มีส่วนในการริเริ่มก่อตั้งโครงการนี้มาตั้งแต่แรก หายหน้าหายตากันไปจนเกือบหมด ปล่อยให้จังหวัดต้องรับผิดชอบภาระหน้าที่ที่ไม่ถนัดนี้อย่างเดียวดาว แถมขาดการเอาใจใส่ดูแลเท่าที่ควร จนปรากฎคำกล่าวที่ได้ยินกันหนาหูว่า “ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาแห่งนี้ตายตั้งแต่เกิด”
จากคำพูดดังกล่าว ซึ่งดูเสมือนไม่ได้ให้ความเป็นธรรมเท่าที่ควรแก่ผู้รับผิดชอบศูนย์ จนอาจเป็นเครื่องบั่นทอนกำลังกาย กำลังใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นที่กระจ่างชัด น่าจะต้องหันกลับมาพิจารณาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้จากวัตถุประสงค์ของศูนย์ในแต่ละข้อ ดังนี้
1. หน้าที่สำคัญอันดับแรกของศูนย์คือ หน้าที่วิจัย เพราะการศึกษานั้นต้องการความรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งจะได้มาจากการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ วิจัยเพื่อตรวจสอบความรู้ที่มีอยู่และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งปรากฎว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ศูนย์แห่งนี้ไม่เคยมีกิจกรรมทางวิชาการแต่อย่างใด ผลงานวิจัยก็ไม่ปรากฎ ซึ่งเรื่องนี้ ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ซึ่งมีตำแหน่งเป็นกรรมการอำนวยการโครงการศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ และอีกหลายตำแหน่ง ได้ปรารถไว้ในศิลปวัฒนธรรม (2533 : 119) ความว่า “ปัญหาต่อไปก็คือว่า จะทำอย่างไรจึงจะสร้างให้เป็นสถาบันทางวิชาการ สถาบันวิจัย อันนี้เป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในเวลานี้” และปัญหาที่ว่าใหญ่ที่สุดนั้นได้ ปรากฎขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว เราจะทำอย่างไรกันดี
2. หน้าที่ประการที่สองของศูนย์ก็คือ หน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นการให้การศึกษา ให้ความรู้แก่ประชาชนแบบไม่เป็นทางการ โดยได้จัดนิทรรศการแบบถาวรขึ้นพร้อมกับการสร้างอาคาร โดยในช่วงแรกจะเน้นวัตถุประสงค์การจัดนิทรรศการถาวรเป็นหลัก เพราะเป็นประโยชน์ทันทีต่อคนจำนวนมาก สำหรับหน้าที่นี้ ศูนย์ประสบผลสำเร็จมากพอสมควรเพราะปรากฎว่าได้มีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ความสนใจเข้าชมนิทรรศการดังกล่าวเป็นจำนวนมากเสมอมา แต่นิทรรศการที่จัดไว้ก็เป็นเพียงการแสดงผลงานของศิลปินสองสามคนที่รับทำงานตามโครงการของศูนย์ที่ว่าจ้าง แต่ผลงานก็ไม่สมบูรณ์ เพราะในบางจุดก็ทำขึ้นโดยไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แต่อย่างใด นอกจากนิทรรศการแบบถาวรแล้ว ก็ไม่ปรากฎกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งถ้าเป็นอยู่ในลักษณะนี้ อีกไม่นานก็จะเป็นแบบพิพิธภัณฑ์ทั่ว ๆ ไป ที่หาคนเข้าชมยาก
3. หน้าที่ประการสุดท้ายได้แก่ หน้าที่ที่เป็นศูนย์ข้อมูลและห้องสมุดประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์อยุธยา ซึ่ง ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ได้ให้ทัศนะไว้ใน ศิลปวัฒนธรรม (2533 : 119) ว่า “เพื่อให้เป็นสถาบันวิจัยที่ดี ก็ต้องมีห้องสมุดที่ดี จะให้เป็นศูนย์วิจัยที่ครบถ้วนนี้ เราต้องสร้างห้องสมุดที่ดีขึ้นด้วย” สำหรับหน้าที่นี้ คงไม่ต้องพูดกัน เพราะจนบัดนี้ ห้องสมุดของศูนย์ยังไม่เปิดให้ใช้บริการเลย
ส่วนวัตถุประสงค์สุดท้ายที่เพิ่มเข้ามาคือ เมื่อศูนย์ได้ทำหน้าที่ทั้ง 3 ประการ ครบถ้วนแล้ว จะให้มีการศึกษาประวัติศาสตร์ในระดับที่สูง ๆ ขึ้นไปนั้น ก็เพียงเป็นเรื่องฝันกลางแดดของนักวิชาการ เอาสาระอะไรไม่ได้ เพราะเพียงวัตถุประสงค์หลักก็ไม่สามารถกระทำได้
ฉะนั้น จากคำกล่าวที่ว่า “ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาตายไปแล้วตั้งแต่เกิด” นั้น นับว่าเป็นคำกล่าวที่ตั้งอยู่บนข้อสมมติฐานที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงอย่างยิ่ง สมควรที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้นำไปพิจารณาเพื่อหาวิธีแก้ไขต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 13 – 14 สิงหาคม 2535 ที่ผ่านมา ศูนย์ฯได้ร่วมกับวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยาและสมาคมประวัติศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง อยุธยา : มิติใหม่ทางการศึกษา นั้น นับว่าเริ่มเป็นนิมิตรหมายที่ดี ในการที่จะเรียกภาพพจน์ที่เสียไปให้กลับคืนมาเป็นอย่างยิ่ง ถ้าจะเปรียบก็คล้ายกับการเริ่มหายใจ เพื่อก่อให้เกิดความมีชีวิตสืบต่อไป ทางศูนย์จึงน่าที่จะเร่งทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ต่อเนื่อง จนบรรลุจุดประสงค์ตามที่กำหนดไว้
อย่าให้เป็นเสมือนว่าการจัดสัมมนาดังกล่าวกลับกลายเป็นการหายใจเฮือกสุดท้ายทางวิชาการของศูนย์ ฯ ก่อนที่จะตายสนิทก็แล้วกัน

Comments are closed.