วัดสิงหาราม อารามร้าง

วัดสิงหาราม อารามร้าง

บทนำ
วัดสิงหารามเป็นวัดโบราณเก่าแก่วัดหนึ่งในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ภายในบริเวณสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของสถาบันฯ ติดกับคลองฉะไกรน้อย ใกล้กับ วัดบรมพุทธาราม ซึ่งอยู่ภายในสถาบัน เช่นกัน บริเวณที่ตั้งวัดนี้แต่เดิมเรียกว่า ตำบลป่าตอง เป็นนิวาสสถานเดิมของพระเพทราชา (พ.ศ. 2231 – 2246) พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 28 แห่งกรุงศรีอยุธยา ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวง วัดนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 58 ตอนที่ 16 วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2484

ประวัติความเป็นมา
วัดสิงหารามนี้ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อใด และมีการปฏิสังขรณ์หรือไม่ แต่ชื่อและตำแหน่งของวัดปรากฏอยู่ในแผนที่ของพระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2496 แต่ไม่มีคำอธิบายรายละเอียดแต่อย่างใด
ในปี พ.ศ. 2499 กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งโบราณสถาน วัดบรมพุทธาราม แผนกสำรวจ กองโบราณคดี ได้สำรวจทำผังวัดบรมพุทธารามและเนื่องจากวัดสิงหารามตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน จึงได้ผนวกผังของวัดสิงหารามเข้าไว้ในผังของวัดบรมพุทธารามด้วย ซึ่งปรากฏสิ่งสำคัญตามผัง


( แผนผังที่ 1 ) ดังนี้
หมายเลข 1 กำแพงก่ออิฐถือปูนล้อมรอบพระวิหารและเจดีย์ กว้าง 17.00 เมตร ยาว 52.40 เมตร มีประตูกำแพงแก้วด้านละ 1 ประตู รวม 4 ประตู ตัวกำแพงพังหมดไปแล้ว
หมายเลข 2 วิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันตกกว้าง 11.60 เมตร ยาว 22.00 เมตร มีประตูด้านหน้า 2 ประตู กว้าง 1.60 เมตร สูง 2.80 เมตร ผังวิหารหนา 59 ซ.ม. มีช่องลมที่ผนังวิหารด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ ด้านละ 20 ช่อง คล้ายช่องลมวิหารวัดมหาธาตุ ช่องลมกว้างช่องละ 16 ซ.ม.
หมายเลข 3 เสาวิหาร เป็นเสาอิฐแปดเหลี่ยม เส้นผ่าศูนย์กลาง 73 ซ.ม. มีรวม 6 ต้น
หมายเลข 4 ฐานอิฐที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาทราย สมัยอยุธยาวัดจากยอดพระเกตุถึงพระศอสูง 80 ซ.ม.
หมายเลข 5 พระเจดีย์ก่ออิฐเส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง 8.00 เมตร รวม 2 องค์ เรียงกันอยู่ด้านหลังพระวิหาร
หมายเลข 6 กำแพงพระอุโบสถ อยู่ทางทิศตะวันออก ห่างจากพระวิหาร 29 เมตร กำแพงกว้าง 15.40 เมตร ยาว 30.00 เมตร
หมายเลข 7 พระอุโบสถกว้าง 11.00 เมตร ยาว 24.40 เมตร เหลือแต่รากฐานพระอุโบสถเท่านั้น และยังไม่ได้ทำการขุดแต่ง
หมายเลข 8 พระปรางค์ก่ออิฐกว้าง ยาวด้านละ 6 เมตร ห่างจากวิหารราว 24 เมตร
หมายเลข 9 วิหารน้องกว้าง 3 เมตร ยาว 6 เมตร สูง 4 เมตร และอยู่ห่างจากกำแพงพระวิหาร 27.40 เมตร ( บรรจบ เที่ยมทัด. 2511 : 64 )
ปัจจุบัน วัดสิงหารามมีสภาพเป็นวัดร้าง สิ่งก่อสร้างที่เคยปรากฏในการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2499 นั้น บางส่วนยังคงมีสภาพดีอยู่เช่นเดิม แต่บางส่วนได้สูญหายหรือถูกทำลายไป เช่น โบราณสถานหมายเลข 4 ที่ให้รายละเอียดไว้ว่า “ ฐานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทราย สมัยอยุธยาวัดจากพระเกตุถึงพระศอ สูง 80 ซ.ม.” นั้น เข้าใจว่าคงหมายถึงองค์พระพุทธรูปสิลาทรายปัจจุบันไม่เหลืออยู่ให้เห็น ซึ่งอาจจะสูญหายหรือถูกขนย้ายไปเก็บไว้ที่อื่นก็ได้ และโบราณสถานหมายเลข 6 และ 7 อันได้แก่กำแพงพระอุโบสถและพระอุโบสถ ว่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระวิหารนั้นได้ถูกเกลื่อนทำเป็นสนามกีฬาของสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยาไปนานแล้ว

รูปแบบศิลปกรรม
จากการสำรวจศึกษาเพื่อเก็บข้อมูลเมื่อเดือน กรกฏาคม 2538 และได้ทำผังขึ้นใหม่เพื่อให้เป็น ปัจจุบันมีสิ่งสำคัญตามผัง ( แผนผังที่ 2 ) ดังนี้
หมายเลข 1 ฐานพระวิหาร หรือฐานไพที มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ กว้างประมาณ 12.00 เมตร ยาวประมาณ 38.00 เมตร สูงประมาณ 1.00 เมตร ที่ขอบฐานมีร่องรอยการก่ออิฐทำบันไดทางขึ้นลง พบทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นด้านหน้าของพระวิหาร 2 บันได กว้าง 1.50 เมตร ส่วนทางด้านทิศตะวันออกที่ติดกับถนนลูกรังริมสนามกีฬา ฐานพังทะลายไม่สามารถตรวจสอบได้และมีแถวต้นสนปลูกล้ำเข้ามาบนส่วนฐาน ส่วนด้านทิศเหนือมีแนวอิฐก่อล้ำออกมาจากส่วนฐาน แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นบนไดหรืออะไรแน่ และทางด้านทิศใต้มีเศษเสาปูนหักชำรุดถูกนำมาทิ้งกองทับถมบางส่วนของฐานไว้ ไม่สามารถเห็นตำแหน่งบริเวณตรงข้ามกับแนวอิฐที่ก่อล้ำออกไปจากฐานทางด้านทิศเหนือ จึงทำให้ไม่สามารถศึกษาอะไรได้ ขอบฐานไพทีด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้นี้ พบส่วนยอดเจดีย์ที่หักพังลงมา เป็นส่วนของบัลลังก์ และส่วนปล้องไฉน นอกจากนั้น ฐานไพทียังใช้เป็นฐานของเจดีย์ 2 องค์อยู่ทางด้านหลังของพระวิหารด้วย
หมายเลข 2 พระวิหาร มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 6 ห้อง กว้าง 11.60 เมตร ยาว 22.00 เมตร ฐานพระวิหารทำเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ หันหน้าไปทางทิศตะวันตกสู่คลองฉะไกรน้อย พระวิหารนั้นเหลืออยู่แต่เพียงฝาผนังด้านข้างทั้งสองด้าน ส่วนผนังหุ้มกลองด้านหน้าและผนังหุ้มกลองด้านหลัง ทะลายลงเหลือแต่เพียงส่วนฐานส่วนที่เป็นโครงหลังคาไม่เหลืออยู่เลย ผนังหุ้มกลองด้านหน้ามีช่องประตูทางเข้า 3 ประตู ประตูกลาง ซึ่งเป็นประตูปรานนั้น กว้าง 1.70 เมตร ทำเป็นมุขยื่นออกมา ไม่สามารถบอกส่วนสูงได้ ประตูรอง 2 ประตู กว้าง 1.60 เมตร ไม่สามารถบอกส่วนสูงได้ กรอบประตูทำเป็นชุดฐานสิงห์ ยังเหลือลวดลายปูนปั้นประดับอยู่เล็กน้อย ส่วนประตูทางหลังพระวิหารมี 2 ประตู กว้างประมาณ 1.60 เมตร ไม่สามารถบอกส่วนสูงได้เช่นกัน ตั้งอยู่แนวทิศตะวันออก / ทิศตะวันตก กับประตูด้านหน้า และคงจะประดับตกแต่งเช่นเดียวกัน
ผนังพระวิหารก่ออิฐถือปูน หนา 0.59 เมตร ผนังทำช่องหน้าต่างด้านละ 4 ห้อง เว้นแต่ห้องแรกและห้องสุดท้ายทำเป็นผนังทึบ หน้าต่างทำลายแบบซี่ลุกกรง 4 แถว ซี่ลูกกรงกว้าง .35 เมตร สูง 2.00 เมตร ช่องว่างกว้าง 0.16 เมตร ภายในพระวิหารมีเสาแปดเหลี่ยมก่ออิฐถือปูน 2 แถว จำนวน 10 ฐาน เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.73 เมตร ฐานเสาทำเป็นฐานบัวแปดเหลี่ยม
ภายในพระวิหารมีฐานชุกชีก่ออิฐถือปูน มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ทำเป็นฐานบัวขนาด 4.00 เมตร สูงประมาณ 1.20 เมตร เนื่องจากฐานชุกชีมีขนาดกว้างมากกว่าห้องช่วงเสา ฐานชุกชีจึงต้องก่ออิฐล้อมเสาทั้งสี่ต้น ทำให้เห็นเสาตั้งอยู่บนฐานชุกชี
พื้นพระวิหารปูด้วยกระเบื้องดินเผาเนื้อละเอียด รูปสี่เหลี่ยมจตุรส ขนาด 0.37 เมตร หนา
0.03 เมตร
ภายในพระวิหารพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายสีเทาหลายชิ้น เช่น ส่วนพระโสณิ
(ตะโพก) พระอุระ พระกร เป็นต้น แต่ไม่พบพระเศียร
ด้านหลังพระวิหารมีฐานเสาสี่เหลี่ยมมุมไม้สิบสอง จำนวน 4 ฐาน มีขนาด .80 เมตร บริเวณนี้ได้พบใบเสมาจำนวน 2 ใบ มีสภาพชำรุดมาก ทำด้วยหินชนวน แต่ไม่สามารถบอก รายละเอียดได้นอกจากนั้นยังพบเศษกระเบื้องเชิงชาย จำนวน 2 ชิ้น
ชิ้นที่ 1 เป็นกระเบื้องเชิงชายดินเผาไม่เคลือบ สภาพชำรุด ส่วนปลายหักหายไป ขนาดที่เหลืออยู่กว้าง .15 เมตร สูง .10 เมตร ทำเป็นลายกระหนกประกอบลายพุ่ม ในกรอบสามเหลี่ยมทรงซุ้มเรือนแก้ว
ชิ้นที่ 2 เป็นกระเบื้องเชิงชายดินเผาไม่เคลือบ เช่นกัน สภาพชำรุด ส่วนปลายหักหายไป ส่วนที่เหลืออยู่มีขนาดกว้าง .13 เมตร สูง .12 เมตร ทำเป็นลายดอกบัวที่คลี่คลายออกเป็นลายกระหนก บรรจุในกรอบสามเหลี่ยมทรงซุ้มเรือนแก้ว
หมายเลข 3 พระเจดีย์ ด้านหลงพระวิหาร บนฐานไพทีเดียวกับพระวิหาร มีเจดีย์ทรงลังกา จำนวน 2 องค์ เจดีย์ดังกล่าวเหลือแต่ส่วนฐานและส่วนองค์ระฆัง ส่วนบัลลังก์และส่วนยอดของเจดีย์องค์ใดองค์หนึ่งตกลงอยู่ที่พื้น เจดีย์ทั้งสององค์มีลักษณะคล้ายคลึงกัน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 เมตร มีรายละเอียด ดังนี้
เจดีย์หมายเลข 3.1

เจดีย์ฐานกลม ฐานเจดีย์ทำเป็นฐานเชียงกลมซ้อนกัน 3 ชั้น ลดหลั่นกันขึ้นไป เหนือฐานเชียงทำชั้นฐานบัว จากส่วนที่เหลืออยู่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าทำกี่ชั้น เหนือฐานขึ้นไปเป็นองค์ระฆังถัดจากองค์ระฆังเหลือส่วนที่เป็นบัลลังก์อยู่เล็กน้อย มีความสูงประมาณ 10.00 เมตร
เจดีย์หมายเลข 3.2

เป็นเจดีย์ฐานกลมเช่นเดียวกับเจดีย์หมายเลข 3.1 แต่องค์ระฆังใหญ่และเตี้ยกว่า มีเหลืออยู่เพียงครึ่งองค์มีความสูงประมาณ 8.00 เมตร
หมายเลข 4 ปรางค์ มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ 6 เมตร ก่อด้วยอิฐยังเหลือผนังเรือนธาตุทางมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้บ้างเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่ได้พังทะลายลงมากองอยู่ที่พื้น
หมายเลข 5 วิหารน้อย มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 3 เมตร ยาว 6 เมตร สูง 4 เมตร ผนังก่ออิฐหนา .55 เมตร ส่วนหลังคาพังทะลายลงแล้วเหลือส่วนจั่ว ด้านหน้าซึ่งหันไปทางทศตะวันออก มีประตูทางเข้า 1 ประตู กว้าง .80 เมตร สูง 2.00 เมตร ภายในมีฐานสี่เหลี่ยมก่อปูนกว้าง .75 เมตร ยาว 1.10 เมตร สูง .08 เมตร มีชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายตั้งอยู่ 3 ชิ้น รอบ ๆ อาคารพบกระเบื้องมอญขนาดกว้าง .11 เมตร ยาว .22 เมตร หนา .05 เมตรเป็นจำนวนมาก

บทวิเคราะห์
การสำรวจศึกษาโบราณสถานวัดสิงหารามในส่วนที่ยังเหลืออยู่ พบว่าวัดสิงหารามเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่และมีความสำคญในอดีตอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ปัจจุบันโบราณสถานแห่งนี้ถูกปล่อยปละละเลยยังไม่ได้รับการขดแต่งตามหลักวิชาการและเหลือหลักฐานให้ศึกษาได้ไม่มากนัก จากการศึกษาครั้งนี้ได้ข้อค้นพบบางประการ ดังนี้

  1. รูปแบบศิลปกรรม
    1. พระวิหารมีรูปแบบโครงสร้างที่ใช้เสาสองแถว รับน้ำหนักโครงสร้างหลังคา และใช้ผนังรองรับน้ำหนักชายคาแทนคันทวยหรือค้ำยันและการทำช่องหน้าต่างเป็นลายลูกกรง มีรูปแบบเช่นเดียวกับพระวิหารในวัดพระศรีสรรเพชญ์ จ. พระนครศรีอยุธยา ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงยกที่พระราชมณเฑียรให้เป็นพุทธาวาส เมื่อปี พ.ศ. 1991
    2. พระวิหารซึ่งตั้งอยู่บนฐานไพที มีกำแพงแก้วล้อมรอบมีช่องบันไดขึ้น – ลง มีรูปแบบเช่นเดียวกับพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ จ. พระนครศรีอยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2047 ในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2
    3. เจดีย์ทรงลังกา 2 องค์ที่ตั้งอยู่บนฐานไพทีหลังพระวิหาร ก่ออิฐไม่สอปูน ซึ่งการก่ออิฐเช่นนี้เป็นลักษณะการก่ออิฐสมัยอยุธยาในยุคแรก ๆ
    4. ภายในพระวิหาร พบชิ้นส่วนของพระพุทธรูปขนาดใหญ่แกะสลักด้วยหินทรายจำนวนหลายชิ้น ซึ่งการสร้างพระพุทธรูปด้วยหินทรายนั้น เป็นที่นิยมกันในสมัยอยุธยายุคแรก ๆ เช่นกัน
    5. จากรูปแบบศิลปกรรมที่กล่าวมา อาจสันนิษฐานได้ว่า วัดสิงหารามสร้างขึ้นก่อน วัดบรมพุทธาราม หรือก่อน พ.ศ. 2226 ซึ่งเป็นปีที่พระเพทราชาโปรดให้สร้างวัดบรมพุทธาราม
  2. จากหลักฐานที่ยังเหลืออยู่ เช่น การประดับลายลวดบัวลูกแก้วอกไก่ที่ฐานพระวิหาร การประดับฐานสิงห์ที่กรอบประตูทางเข้า การประดับลายบัวที่เสาอิง มีรูปแบบเช่นเดียวกับวัดบรมพุทธาราม ซึ่งบูรณะในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และขนาดของกระเบื้องปูพื้นพระวิหาร มีลักษณะเช่นเดียวกับกระเบื้องปูพื้นพระอุโบสถวัดกุฏีดาว ซึ่งบูรณะโดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเช่นกัน ทำให้อาจสันนิษฐานได้ว่าวัดสิงหารามนี้คงจะได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ในปี พ.ศ. 2269 สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยบูรณะไปพร้อมกับวัดบรมพุทธาราม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน
  3. วัดสิงหารามนี้คงเป็นวัดขนาดใหญ่ เพราะมีอาณาบริเวณกว้างขวาง ทั้งนี้เนื่องจากสิ่งก่อสร้างที่ปรากฏตามผังตั้งอยู่ห่างกันมาก เช่น พระปรางค์ ( หมายเลข 4 ) อยู่ห่างจากวิหารไปทางทิศเหนือถึง 24.00 เมตร และพระวิหารน้อย ( หมายเลข 5 ) ตั้งอยู่ห่างจากพระวิหารไปทางทิศใต้ถึง 27.40 เมตร นอกจากนั้นพระอุโบสถซึ่งไม่เหลืออยู่ให้เห็นในปัจจุบัน แต่ปรากฏอยู่ผังเดิมอยู่ห่างจากวิหารไปทางทิศตะวันออกถึง 29.00 เมตร บริเวณเนื้อที่ว่างเหล่านี้ แต่เดิมคงจะมีสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ แต่คงจะพังทะลายสูญหายไปนานแล้ว
  4. เนื่องจากบริเวณตำบลป่าตอง เป็นนิวาสสถานเดิมของสมเด็จพระเพทราชา ดังนั้นก่อนที่พระเพทราชาจะขึ้นครองราชและสร้างวัดบรมพุทธารามนั้น วัดสิงหารามซึ่งมีอยู่ก่อนจะต้องเป็นวัดที่สำคัญอย่างแน่นอน

บทสรุป
จากหลักฐานเท่าที่ศึกษาและข้อค้นพบ พอจะเป็นเครื่องชี้และยืนยันได้ว่า วัดสิงหารามเป็นวัดที่มีความสำคัญและทรงคุณค่ายิ่งทั้งทางศิลปะ โบราณคดี และประวัติศาสตร์อีกวัดหนึ่งในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดที่เก่าแก่อาจมีอายุถึงสมัยอยุธยาตอนกลางถึงตอนต้นควรที่จะได้ช่วยกันดูแลรักษา และอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง อันได้แก่ กรมศิลปากร และเจ้าของสถานที่ที่โบราณสถานแห่งที่ตั้งอยู่ อันได้แก่สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา และประชาชนทั่วไป ทั้งนี้เพื่อให้มรดกอันล้ำค่านี้เหลือไว้ให้ลูกหลานของเราได้ชื่นชมและเพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าต่อไป

หนังสืออ้างอิง

เฉลิม สุขเกษม. “กรุงศรีอยุธยา” อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยากับคำวินิจฉัยของพระยาโบราณ
ราชธานินทร์ เรื่องศิลปและภูมิสถานอยุธยาและจังหวัดพิจิตร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์
สามมิตร, 2514.
บรรจบ เทียมทัด. “วัดบรมพุทธารามและวัดสิงหาราม” พระราชวังและโบราณสถานในจังหวัด พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักนายกรัฐมนตรี, 2511.
บริบาลบุรีภัณฑ์, หลวง. “วัดพระศรีสรรเพชญ์” พระราชวังและโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักนายกรัฐมนตรี, 2511.
. เรื่องโบราณคดี. กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, 2531.
ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ 39 (ภาคที่ 64) พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2512.
ศิลปากร, กรม. แผนแม่บทนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์
สมาพันธ์, 2533.
. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์วัดพระเชตุพน. กรุงเทพฯ :
คลังวิทยา, 2514.

9 thoughts on “วัดสิงหาราม อารามร้าง

  1. เมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา วัดนี้ยังอยู่กลางป่าซึ่งอุดมไปด้วยสัตว์นานาชนิด เช่น เสือปลา อีเห็น เม่น ไก่ป่า และกระต่าย ที่เด็ก(ชาย)วัยรุ่นอย่างพวกผมชอบเข้าไป”ท่องไพร”กันเป็นประจำ เพราะทั้งสนุกและตื่นเต้นไม่น้อยทีเดียวครับ

Comments are closed.