ชาร์ล็อตต์ แมงมุมเพื่อนรัก

the rat

จิปาถะ
ชาร์ล็อตต์ แมงมุมเพื่อนรัก
ผมยังติดใจพฤติกรรมของเจ้าหนู เทมเปิลตัน ในเรื่อง ชาร์ล็อตต์ แมงมุมเพื่อนรัก เพราะช่างมีพฤติกรรมที่คล้ายกับนางแต้มของผมเอามากๆ ดังความที่พ่อห่านแม่ห่านสรุปว่า
“พวกหนูเป็นสัตว์ไม่มีศีลธรรม ไม่รู้สึกผิดชอบชั่วดี ไม่มีความละอาย ไม่มีความเห็นใจ ไม่มีสมบัติผู้ดี ไม่มีความเมตตา ไม่มีความสงสาร ไม่มีความเป็นมิตร ไม่มีความรู้สึกใดๆทั้งสิ้น..สัตว์ทุกตัวรู้ดี (E.B White.56)

พฤติกรรมอันน่ารังเกียจของหนูนั้นมีมากกว่าที่ห่านสรุปอีกเยอะ เช่น เห็นแก่กิน เจ้าเล่ห์ ชอบสะสม สอดรู้สอดเห็น ชอบกัดแทะ หากินกลางคืน รบกวนผู้อื่น ที่แย่มากๆก็คือ จะทำอะไรก็จะคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ตนเองจะได้เป็นอันดับแรกก่อน ถ้าไม่ได้ ก็ไม่ยอมทำ เช่น เมื่อแกะขอร้องให้หนูช่วยหาข้อความในนิตยสารให้ ชาร์ล็อตต์ เพื่อช่วยหมู วิลเบอร์ เจ้าหนูเทมเปิลตันกลับพูดว่า
“ก็ปล่อยให้มันตายไปซะ” หนูพูด “ยังกะฉันสนใจนักนี่”( E.B White.103) แต่เมื่อแกะอธิบายว่า ถ้าไม่ช่วยหมู วิลเบอร์ หมูก็จะตาย เมื่อถึงฤดูหนาว แกก็จะไม่มีอาหารกิน หนูเห็นจะเสียประโยชน์จึงตกลงใจช่วย

อีกตอนหนึ่ง เมื่อหมูวิลเบอร์ขอร้องให้หนูเทมเปิลตัน ช่วยขึ้นไปนำถุงไข่ของ ชาร์ล็อตต์ มาให้ เจ้าหนูก็ไม่ยอมทำให้ พูดโยกโย้ไปมา จนหมูต้องให้สัญญาว่า
“ถ้าเธอช่วยเอาถุงไข่ของ ชาร์ล็อตต์ มาให้ฉัน นับแต่บัดนี้ เวลา เลอร์วี่ เอาอาหารมาให้ ฉันจะให้เธอกินก่อน อยากกินอะไรในรางก็กินได้เลย ฉันจะยังไม่กิน รอจนกว่าเธอจะกินอิ่มเสียก่อน เจ้าหนูลุกขึ้น “แน่ใจนะ” เขาถามย้ำ “ฉันสัญญา จากใจฉันเลย”( E.B White.183)
เจ้าหนูเทมเปิลตัน ผู้เห็นแก่กิน จึงตกลงใจช่วย อย่างไรก็ยังถือว่าเจ้าหนูยังมีความดีอยู่ เพราะยังคิดช่วยเพื่อน เพียงแต่ต้องได้ค่าตอบแทนเท่านั้น

ในพระพุทธศาสนา หนูก็ยังพอมีความดีกับเค้าอยู่บ้างเหมสือนกัน ถึงแม้ว่าจะมีเพียงองค์เดียว เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์อื่น
ดังความปรากฏในมิลินท์ปัญหา ที่ว่าด้วยอุปมาต่างๆ พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน ผู้ปฏิบัติต้องถือองค์ 1 แห่ง หนู นั้นเป็นไฉน พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร ปกติของหนูที่วิ่งไปข้างโน้นวิ่งไปข้างนี้ ก็ด้วยหวังต่ออาหารฉันใด ผู้ประกอบความเพียรก็ต้องเที่ยวไปข้างโน้นบ้างข้างนี้บ้าง เพื่อมุ่งต่อการทำโยนิโสมนสิการ*อย่างเดียวฉันนั้น”
สรุปว่า หนูยังพอมีความดีอยู่บ้าง ส่วนนางแต้ม อาจจะหายากสักหน่อย
….
*โยนิโสมนสิการ : การพิจารณาโดยแยบคาย เพื่อเข้าถึงความจริงโดยการสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับ แยกองค์ประกอบจนมองเห็นตัวสภาวะและความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย หรือตริตรองให้รู้จักสิ่งดีสิ่งชั่ว ยังกุศลธรรมให้เกิดขึ้นโดยอุบายที่ชอบ(พระพรหมคุณาภรณ์.336)
……..
อ้างอิง
พระพรหมคุณาภรณ์.(ป.อ.ปยุตฺโต)(2551).พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์.กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
E.B White.แปลโดย คณา คชา.(2552).ชาร์ล็อตต์ แมงมุมเพื่อนรัก ( Chalotte’ s Web ).พิมพ์ครั้งที่ 31.
กรุงเทพฯ : แพรวเยาวชน, สนพ.

 

Comments are closed.