เรื่องสั้น หัวใจเปื้อนชอล์ก ตอน การปฏิบัติธรรม

beers

จิปาถะ
เรื่องสั้น หัวใจเปื้อนชอล์ก ตอน การปฏิบัติธรรม
1
บ่ายวันหนึ่ง ผมขับรถเข้าไปที่บ้านสี่เหลี่ยมใหญ่ บ้านสวนของถากถางอยู่ที่นั่น ถากถางเป็นศิษย์ที่คุ้นเคย
รับราชการมาตั้งแต่จบ ป.กศ.สูง และไปเรียนต่อศิลปะในระดับปริญญาตรี ในสถาบันที่ผมสอน เนื่องจากถากถางมีอายุใกล้เคียงกับผม เราจึงสนิทสนมคุ้นเคยกันมาก ตามปกติถากถางจะใช้เวลาส่วนใหญ่เขียนรูป และใช้เวลาว่างทำการเกษตรเล็กๆน้อยๆแบบพอเพียง และทำงานเพื่อสังคมในบางโอกาส
เมื่อผมไปถึง ถากถางได้ตั้งโต๊ะเตรียมพร้อมไว้แล้ว ผมเพียงแต่ทักทายและนั่งลงดื่มเบียร์เย็นเฉียบ สบายอารมณ์อย่างผู้ดื่มเบียร์เพื่อดื่มเบียร์ ถากถางต้องรับขับสู้ผมอย่างปรีดาปราโมช
2
เมื่อได้ปฏิสันถารกันพอเป็นออร์เดิร์ฟแล้ว ถากถาง ปรารภกับผมว่า “เมื่ออายุมากขึ้น เวลาที่เหลืออยู่ดูจะน้อยลงไปทุกที ร่างกายที่ได้ตรากตรำมาเป็นเวลายาวนั้นอ่อนล้าเต็มทน การใช้ร่างกายอย่างสมบุกสมบันมาตั้งแต่ยังเยาว์วัยดูเหมือนจะเป็นเงื่อนไขสำคัญ ทำให้ยากเกินไปที่จะดูแลรักษา ให้ยาวนานด้วยดีต่อไปอีกได้”
ผมบอกถากถางว่า “เธอจะต้องไปวิตกกังวลอะไร เพราะทุกสิ่งทุกอย่างก็จะสลายไปตามกาล ดังที่ ฌอง ช๊าก รุสโซ่ กล่าวว่า “ มนุษย์ไม่ได้เกิดมาเป็นพระราชา ชนชั้นสูง ราชวงศ์ หรือผู้ที่จะเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ ทุกคนล้วนเกิดมาเปลือยเปล่าและยากไร้….และมนุษย์นั้นถูกกำหนดว่าต้องตาย”(อ้างจาก ชุนโด โออายาม่า.2549.90)
“อันนั้นรู้แล้ว” ถากถางยอมรับ “แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าในช่วงสุดท้ายก่อนที่เราจะตายนี้ เราจะอยู่อย่างไรครับ”
3
“ถากถาง ผมจะบอกให้ ในพระพุทธศาสนานะ สิ่งที่ชาวพุทธยึดถือคือพระรัตนตรัยหรือแก้วสามประการ ได้แก่ “พระพุทธ คือ ผู้ตื่น พระธรรม คือ วิถีแห่งความรัก ความเข้าใจ และพระสงฆ์คือ กลุ่มชนผู้ดำรงชีวิตอย่างกลมกลืนและอย่างมีสติ แก้วทั้งสามประการนี้ย่อมประสานสัมพันธ์อย่างยากยิ่งที่จะแยกออกจากกันและกันได้ ทุกคนย่อมมีธรรมชาติแห่งความตื่นรู้ ความเข้าใจและความรักแฝงเร้นอยู่ภายใน ดังนั้น ภายในตัวเรา เราจะพบพระพุทธเจ้า นอกจากนั้นยังพบพระธรรมและพระสงฆ์ด้วย”(ฮันห์.2531.11-12)
“ที่ว่ามาน่ะอาจารย์ต้องการจะบอกอะไรผมครับ” ถากถางสงสัย
“ผมอยากจะบอกเธอว่า “เราควรจะอยู่อย่างผู้ตื่นรู้ อยู่อย่างรักและเข้าใจ และอยู่อย่างมีสติ”
“ใช่ ถูกต้องครับ แล้วอาจารย์มีวิธีเข้าไปอยู่ในสภาวะที่ว่านั้นได้อย่างไรครับ”
ต่อคราวหน้า
…………
อ้างอิง
ติช นัท ฮันห์ .(2531).สงบ งามมงคล แปล. เธอคือศานติ ลำนำแห่งลมหายใจและรอบยิ้ม.
กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อักษรสาส์น.
ภิกษุณีชุนโด อาโอยามา,ช่อฟ้า เจตนาวีระบุตร แปล.(2549).งามอย่างเซน เมล็ดพันธุ์แห่งธรรม จากมุมมองของ
ผู้หญิง.นครนายก: เสมสิกขาลัย.

Comments are closed.