สัญญาและปัญญา

sanyas

จิปาถะ
สัญญาและปัญญา
1
ขึ้นชื่อว่าคน ก็จะต้องมีทั้งคนดีและคนไม่ดี คนไม่ดี จะใช้แต่ “สัญญา” อย่างเดียว อยากได้สิ่งใดก็จะเอาให้ได้ ไม่มีเหตุผลในการที่จะได้มาโดยชอบธรรม แต่คนดี จะใช้“ปัญญา”พิจารณาหาเหตุผลให้ได้สิ่งที่ปรารถนา ด้วยความชอบธรรม
คนดีและคนไม่ดี เกิดจาก สัญญา และ ปัญญา
2
คำว่า “สัญญา” ในที่นี้มิได้หมายถึง นิติกรรมที่เกิดขึ้นจากการตกลงกันระหว่างบุคคลสองฝ่าย แต่ “สัญญา”ในที่นี้หมายถึง ความรู้สึก ซึ่งเกิดขึ้นจากการสัมผัสสิ่งต่างๆด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สัญญาเป็นสิ่งที่ธรรมชาติได้ให้เรามาตั้งแต่เกิด หรือที่นิยมเรียกกันว่า “สัญชาตญาณ”
สัญชาตญาณ คือความรู้ที่มีมาแต่กําเนิดของคนและสัตว์ทําให้มีความรู้สึกและกระทําได้เองโดยไม่ต้องมีใครสั่งสอน เช่น สัญชาตญาณในการป้องกันตัว เป็นต้น สัญญาหรือสัญชาตญาณนี้ ไม่ได้มีเฉพาะมนุษย์กับสัตว์เท่านั้น แม้แต่ต้นไม้ก็มีสัญญา เหมือนกัน แต่มีน้อยกว่ามนุษย์และสัตว์ เช่น ผักกระเฉด หรือ ไมยราบ เป็นต้น
3
“ปัญญา” แปลว่า ความรู้ทั่วถึงเหตุถึงผลอย่างชัดเจน, รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ, รู้สิ่งที่ควรทำควรเว้น มีพรหมวิหารธรรม สามารถแยกแยะถูก-ผิด ได้ เป็นต้น ดังนั้น “ปัญญา” นี้เองที่ทำให้มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์ดิรัจฉาน หากมนุษย์มีแต่สัญญาอย่างเดียว แต่ขาดปัญญา มนุษย์ก็จะมีแต่ความรู้สึกที่ไม่มีอะไรควบคุม เมื่อมีความปรารถนาสิ่งใด ก็จะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนปรารถนา ดังนั้น มนุษย์ จึงต้องมีปัญญา รู้จักคิดหาเหตุผล มีเครื่องมือที่จะเหนี่ยวรั้งความรู้สึก รู้จักไตร่ตรองหาทางที่จะได้สิ่งที่ตนปรารถนาโดยวิธีที่ชอบธรรม
4
ในทางการปกครอง “ความชอบธรรม” คือบรรทัดฐานที่บุคคลในองค์กรได้มอบหมายให้คณะบุคคลใดคณะบุคคลหนึ่งทำหน้าที่ปกครอง โดยเชื่อว่า คณะผู้ปกครองนั้นจะกระทำการทั้งหลายด้วยอำนาจที่ใช้อย่างเหมาะสมเป็นธรรม
หากผู้ปกครองที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ที่มี “ปัญญา” กระทำการทั้งหลายอย่างเหมาะสมชอบธรรมแล้ว องค์กรนั้นก็จะเจริญก้าวหน้า บุคลากรทำการงานได้อย่างมีความสุข แต่หากผู้ปกครองไร้ “ปัญญา” ก็จะเป็นดังคำกล่าวของหลวงวิจิตรวาทการ (2553.24) ที่ว่า “มนุษย์คนใดไม่รู้จักมีความคิดหาเหตุผล ไม่รู้จักเหนี่ยวรั้งความรู้สึกที่จะทำให้ฟุ้งซ่าน และไม่รู้จักหาทางที่จะประสบสิ่งที่ตนปรารถนาโดยชอบธรรมแล้ว มนุษย์คนนั้นยังไม่เป็นมนุษย์ ยังคงเป็นสัตว์ดิรัจฉานอยู่ และสมควรจะเข้าอยู่ในหมู่สัตว์ดิรัจฉานมากกว่าในหมู่มนุษย์ด้วยกัน”
ซึ่งสอดคล้องกับ “เมิ่งจื่อ”(ส.สุวรรณ.153) ที่กล่าวไว้ และผมชอบนำมา quoted บ่อยๆ คือ “ผู้ที่ไม่มีจิตใจที่สงสารคนอื่นหาใช่คนไม่ ผู้ที่ไม่มีจิตใจละอายและเกลียดชังต่อการกระทำที่ไม่ดีหาใช่คนไม่” คำว่า “หาใช่คนไม่” ก็คือ “ดิรัจฉาน” นั่นเองจึงสมควรที่จะไปอยู่ในหมู่สัตว์ดิรัจฉานมากกว่าในหมู่มนุษย์ด้วยกัน .
……
อ้างอิง
วิจิตรวาทการ,หลวง.(2553).ลัทธิโยคีและมายาศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ สาร้างสรรค์บุ๊คส์.
ส.สุวรรณ.(2541).สำนวนจีน.พิมพ์ครั้งที่ 3 .กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พิราบ.

 

 

 

Comments are closed.