ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

จิปาถะ :  ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

วันที่ 20 กันยายน 2564 – 4 นักศึกษาคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ กฤตพรต สุพรรณนอก, สุนิชา บัวแก้ว, สิรีธร สีหานาม, อัมรา จานรัมย์ และอีก 1 นักกิจกรรมกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก จตุพร แซ่อึง เดินทางไปที่สำนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ในนัดฟังคำสั่งอัยการ คดีที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ให้ตัวแทนเข้าแจ้งความดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กรณีป้ายประท้วงค่าเทอมและเรียกร้องอธิการบดีที่โปร่งใสถูกติดในมหาวิทยาลัย เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2564

เวลา 9.00 น. เมื่อนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 5 ราย เดินทางไปถึงสำนักงานอัยการจังหวัดบุรีรีมย์ เจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการแจ้งว่าคดีนี้อัยการมีคำสั่งฟ้อง ให้ผู้ต้องหาไปที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์พร้อมกันเพื่อยื่นฟ้องในช่วงเวลา 10.00 น.

ภูริพงศ์ แสนสุข พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ บรรยายฟ้องว่า วันที่ 28 มกราคม 2564 จำเลยทั้งห้า ร่วมกันกระทำความผิดโดยการแสดงข้อความหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาใส่ความ มาลิณี จุโฑปะมา ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ด้วยการร่วมกันนำป้ายผ้าจำนวน 4 ป้าย มีข้อความว่า

“เราต้องการอธิการที่โปร่งใส”, “ค่าเทอมนศ.ก็โกง”, “ม.สารขัณฑ์อันดับ 1 แห่งภาคอีสาน?”, “มาลิณีออกไป” ไปติดที่ป้ายชื่อมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, ที่ภาพของผู้เสียหายภายในมหาวิทยาลัย, ที่ป้ายประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย และที่รั้วมหาวิทยาลัย ตามลำดับ

และได้ร่วมกันโพสต์รูปป้ายดังกล่าวลงในเพจเฟซบุ๊กชื่อ บุรีรัมย์ปลดแอก พร้อมข้อความว่า “โพสต์นี้แด่นักศึกษาราชภัฏบุรีรัมย์ น้องๆ ที่เคยประท้วงในมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ครั้งที่แล้ว ได้ออกมาแสดงความเคลื่อนไหวเพื่อโจมตีและขับไล่รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ที่เป็นอธิการบดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเขาได้เกษียณอายุราชการไปแล้วกว่า 6 ปี แต่ยังสามารถดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยได้ สิ่งนี้ทำให้อาจารย์และนักศึกษาไม่พอใจเป็นอย่างมาก และต้องถูกโกงค่าจ้างและค่าเทอมมาตลอดหลายปี”

ข้อความดังกล่าวได้แสดงต่อครู อาจารย์ และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และประชาชนทั่วไปอ่านข้อความแล้วย่อมทำให้เข้าว่า มาลิณี จุโฑปะมา เป็นคนมีความประพฤติไม่ดี เป็นคนคดโกงและไม่มีความโปร่งใสในการทำงาน โกงเงินค่าเทอมนักศึกษา การกระทำของทั้ง 5 เป็นการร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียงชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง

อัยการระบุว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328

หลังศาลรับฟ้อง จำเลยทั้ง 5 คน ต้องไปรอที่ห้องควบคุมตัวในศาลจังหวัดบุรีรัมย์ จากนั้นเวลาประมาณ 11.00 น. ผู้พิพากษาคอนเฟอเรนซ์มาที่ห้องดังกล่าว ให้จำเลยทั้ง 5 คน ยืนเรียงแถวหน้ากระดาน และศาลได้เรียกรายชื่อทั้งหมด ก่อนอธิบายคำฟ้องของอัยการ และนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 20 ธันวาคม 2564

จากนั้นศาลได้กล่าวว่า เนื่องจากจำเลยส่วนใหญ่ในคดีนี้มีสถานะเป็นนักศึกษา จึงจะปล่อยตัวชั่วคราว โดยการให้สาบานตนตามความเชื่อทางศาสนาว่าจะมาตามที่ศาลนัด แทนการทำสัญญาประกัน อย่างไรก็ตาม มีเพียงอัมรา จานรัมย์ คนเดียวที่ทำการสาบานตน ขณะที่จำเลยที่เหลืออีก 4 คน แถลงต่อศาลว่า ไม่ได้นับถือศาสนาใดๆ จึงไม่สามารถสาบานตนตามความเชื่อทางศาสนาได้ 

ทำให้อัมราได้รับการปล่อยตัวก่อนคนอื่นในช่วง 11.30 น. ต่อมา ภัทรพงษ์ วรรณพงษ์ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวกฤตพรต, สุนิชา, สิรีธร และจตุพร โดยไม่วางหลักประกัน ก่อนศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ใช้หลักประกันในเวลา 13.30 น.

ทั้งนี้ 1 ในจำเลยที่อัยการยื่นฟ้องคดีครั้งนี้ คือ อัมรา ได้ให้การยืนยันในชั้นสอบสวนว่าไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ติดป้ายวิจารณ์รักษาการอธิการบดี และก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อนายกสภามหาวิทยาลัยและประธานสภานักศึกษา แต่สุดท้ายอัยการยังมีคำสั่งฟ้องเธอเป็นคดีความต่อเนื่องเช่นเดียวกับคนอื่นๆ

อัมรากล่าวว่า ทำใจไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องมีการส่งฟ้อง ส่วนตัวรู้สึกสงสัยว่าทำไมต้องเสียเวลา เสียการเรียน แล้วต้องมาโดนฟ้อง กับเรื่องที่ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ก็ยืนยันจะสู้ให้ถึงที่สุด เพื่อความเป็นธรรมและเป็นการปกป้องชื่อเสียงของตัวเอง

“ปัจจุบันหนูเป็นนักศึกษาครู หนูตั้งใจเข้ามาเรียนในสถาบันแห่งนี้ เพื่อศึกษา ฟูมฟักความเป็นครูที่ดีสู่สังคมในอนาคต ซึ่งหนูได้รับการปลูกฝังความเป็นครูจากที่นี่มาอย่างดี หากเด็กของหนูทำผิดจริง หนูจะใช้ความรักความเมตตาอบรมสั่งสอนศิษย์ ดีกว่าการใช้กฎหมายในการสั่งสอนและปิดปากผู้อื่น ซึ่งไม่มีใครเขาทำกัน”

ด้านจตุพร แซ่อึง จากกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก คิดว่าอธิการบดีควรมีการคุยหรืออธิบายในข้อที่นักศึกษาสงสัยและอยากตรวจสอบ  ไม่ควรแจ้งความเพราะทำให้นักศึกษาต้องเสียทั้งเวลา และต้องกลายเป็นผู้ต้องหา

สำหรับเรื่องนี้กฤตพรต หนึ่งในนักศึกษาที่กลายเป็นจำเลยจากกิจกรรมติดป้ายประท้วงอธิการบดีสะท้อนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตนเองในการถูกฟ้องคดีครั้งนี้ว่า “หากจะไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูอาจจะมีปัญหาภายหลัง เพราะมีคดีอาญาติดตัว และส่งผลในเรื่องการเรียนเพราะมีอาจารย์บางคนเพ่งเล็งพฤติกรรมพวกเราว่าจะทำกิจกรรมอะไรอีกบ้าง”

ทั้งนี้กฤตพรตเคยเปิดเผยว่าเรื่องที่พวกเขาต้องการอธิการบดีที่โปร่งใส สั่งสมมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 ที่เคยทวงถามเรื่องการคืนค่าเทอมนักศึกษาปี 1 และอยากให้มหาวิทยาลัยออกประกาศหรือชี้แจงเรื่องที่เคยถามเกี่ยวกับเงินค่าบำรุงการพัฒนาการเรียนการสอนที่เขาเสียไปตั้งแต่ปี 2562 นั้นถูกนำไปใช้อย่างไรบ้าง

และอีกส่วนอยากเรียกร้องให้นักศึกษาปี 1 ที่จ่ายค่าเทอมแรกเข้าพร้อมค่าบำรุงการพัฒนาการเรียนการสอนรวมเป็นเงิน 9,900 บาท โดยช่วงโควิด -19 ที่มีการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์สลับกับเรียนในห้อง ทางมหาวิทยาลัยได้ประกาศเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ว่างดเว้นค่าบำรุงการพัฒนาการเรียนการสอนที่ปกติต้องจ่าย 1,000 บาท แต่ยังไม่เห็นว่า ทางมหาวิทยาลัยได้จัดการคืนค่าเทอมส่วนนั้นให้นักศึกษาปี 1 แต่อย่างใด การติดป้ายครั้งนั้นจึงเป็นการสะท้อนปัญหาและเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่าเจตนาอื่น

อ่านข่าวบนเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/35487

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *