ศัตรู และ ปรปักษ์

suttooจิปาถะ
ศัตรู และ ปรปักษ์
คำว่า ศัตรู ตามพจนานุกรมอิเล็คโทรนิคฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายไว้ว่า ศัตรู [สัดตฺรู] น. ข้าศึก, ปรปักษ์, เช่น ศัตรูจากภายนอกประเทศ เพลี้ย เป็นศัตรูพืช, ผู้จองเวร เช่น ๒ ตระกูลนี้เป็นศัตรูกันมาหลายชั่วคนแล้ว. (ส. ศตฺรุ; ป. ตฺตุ) ตามพจนานุกรมฯ แสดงให้เห็นว่าศัตรูและปรปักษ์มีความหมายเดียวกัน
ส่วน หลวงวิจิตรวาทการ(2531) กล่าวว่า “มีคำสองคำในภาษาไทย ซึ่งความหมายไม่เหมือนกันคือ “ศัตรู” คำหนึ่ง “ปรปักษ์” อีกคำหนึ่ง ศัตรู หมายถึงผู้คิดทำลายล้าง แต่ปรปักษ์หมายถึงผู้ที่มีความคิดเห็นผิดกัน” และได้อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ศัตรู กระทำด้วยเจตนาร้าย ด้วยอกุศลจิต ด้วยพยาบาท ส่วนปรปักษ์ กระทำด้วยเจตนาดี ไม่ใช่ดีต่อตัวเรา แต่ดีต่อสิ่งอื่น เช่น เจตนาดีต่อชาติบ้านเมือง ต่อหลักธรรม หลักวิชาหรือทางการอันหนึ่งอันใดซึ่งเขาเชื่อโดยสุจริตว่าเขาเป็นฝ่ายถูก และสรุปว่า ทั้งศัตรูและปรปักษ์อาจกระทำร้ายเราทารุณได้เท่าๆกัน (48)
ผมได้นำข้อมูลที่กล่าวมานั้น ตรวจสอบพฤติกรรมของตนเอง และสรุปเป็นเบื้องต้นได้ว่า ผมไม่ใช่ศัตรูของใคร แต่จะเป็นปรปักษ์ต่อการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม ดังนั้นผมจึงไม่น่าจะเป็นคนที่เลวร้ายอย่างที่หลายคนคิดเอาเอง
แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผมจะไม่เป็นศัตรูของใคร แต่อาจจะมีใครที่มองเห็นผมเป็นศัตรูก็ได้ ดังนั้น ผมจึงต้องรักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี และได้ปฏิบัติตน ดังนี้
1. ผมจะรักษาสุขภาพ โดยการรับประทานอาหารแต่พอดี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พบแพทย์ตามเวลาที่
กำหนด และปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เพราะผมเชื่อว่าเมื่อเกิดปัญหา ไม่ว่าจะหนักหรือเบา ร่างกายที่แข็งแรงเท่านั้น จึงจะสามารถใช้สติปัญญาที่เล่าเรียนมาให้เป็นประโยชน์แก้ปัญหาเหล่านั้นให้ลุล่วงไปได้
2. ผมจะไม่ประมาท และระมัดระวังตัวอยู่เสมอ คือมีสติอยู่ทุกขณะ ตัวอย่างเช่น เวลาจะถอดปลั๊กไฟ ก็ต้องให้แน่ใจว่ามือไม่เปียกน้ำเพราะถ้าเกิดตายไปด้วยความประมาท ถูกไฟดูดตาย คนที่เกลียดผมก็จะหัวเราะเยาะเอาเปล่าๆ เสียชื่อเสียงหมด
3. ผมจะกระตือรือร้นอยู่เสมอ ศึกษาค้นคว้าหาประเด็นที่น่าสนใจ สืบค้นข้อมูล เพื่อหาทางขจัดบุคคลหรือกลุ่ม
บุคคลที่ทุจริตคิดมิชอบ ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้น ผมค่อนข้างมั่นใจว่ามีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์น้อยมาก
4. ผมจะไม่วิตกกังวลกับสิ่งที่ทำ เพราะไม่ได้มุ่งที่ผลสำเร็จ เช่น ผมนำเสนอข้อมูลที่ไม่ชอบมาพากลหรือเขียน
ตำหนิใครไป เขาจะอ่านหรือไม่อ่านผมไม่สนใจ ความสุขของผมอยู่ที่คิดเอาเองว่าเขาอ่านที่เขียนตำหนิเขาไปแล้ว ความสุขของผมอยู่ตรงนี้ เหมือนกับเวลาเราเห็นสิ่งของที่เราอยากได้ เราก็ชื้อเลย ทั้งๆที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าจะซื้อไปทำไม ความปิติอยู่ที่ได้ซื้อแล้ว
แค่ 4 ข้อ ที่ว่ามา ก็เหลือกินแล้ว ที่สำคัญ ผมได้ทำตามที่ นัมโบกุ มิซูโน [(6)] แนะนำว่า “หากท่านทำให้ร่างกายและจิตใจตกอยู่ในความเงียบสนิท แม้จะเพียงวันละครึ่งนาที หรือหนึ่งนาที ก็จะทำให้ร่างกายหนุ่มขึ้น และอายุยืนขึ้น”
เรามาร่วมกันเป็นปรปักษ์กับมนุษย์ชั่วร้ายกันเถอะ
……
อ้างอิง
นัมโบกุ มิซูโน.(2536).อาหารกำหนดชตากรรมของท่าน.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สาระ.
วิจิตรวาทการ,หลวง.(2531) กุศโลบาย.พิมพ์ครั้งที่ 6.กรุงเทพฯ : บริษัท สารมวลชน จำกัด.