วิปลาส

eschers

จิปาถะ
วิปลาส
1
ไม่น่าเชื่อเลยว่า ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ผมไม่รู้ว่าตัวเองมีอาการวิปริตที่เรียกว่า วิปลาส คือ สำคัญผิด คิดผิด เห็นผิด ไปจากที่เป็นจริง ในหลายเรื่องหลายราว และทุกเรื่องก็คงจะมีผลกระทบกับคนอื่นมากบ้างน้อยบ้างตามระดับของความวิปลาส ตัวอย่างเช่น ตัวละครที่ชื่อ “นางแต้ม” ในเรื่องสั้น หัวใจเปื้อนชอล์ก เป็นต้น
เรื่องนางแต้มนี้ผมเพิ่งมาประจักษ์ได้ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผม สำคัญผิด คิดผิด และเห็นผิดไปว่า เธอเป็นคนดี มีเมตตากรุณา และมีคุณธรรมจริยธรรมสูง น่าคบค้าสมาคมด้วย ควรสนับสนุนให้เป็นผู้บริหาร ถึงแม้ว่าจะมีหลายคนเอาความร้ายของเธอมาสาธยายให้ฟัง ผมก็ไม่เชื่อ ทำอย่างไรผมก็ไม่เชื่อ
2
จนกระทั่งเมื่อนางแต้มได้รับการสนับสนุนให้เป็นผู้บริหาร ลายของเธอก็ออก พฤติกรรมอันเป็นธาตุแท้ของเธอก็ปุดๆขึ้นเหมือนฟองแก๊สในบ่อขจัดน้ำเสีย ความเลวร้ายของเธอทำให้ผมเห็นอย่างชัดเจนว่า ที่แล้วๆมานั้น ผมสำคัญผิด คิดผิด และเห็นผิดไป เพราะแท้จริงแล้ว นางแต้ม เป็นคนเลว ไม่มีความเมตตากรุณาต่อใครทั้งสิ้น ขาดคุณธรรมและจริยธรรมอย่างสูง เอารัดเอาเปรียบสารพัด มีความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นเจ้าเรือน ไม่น่าคบค้าสมาคมด้วยเลย และตอนนี้ผมเข้าใจอย่างถูกต้องชัดเจนแจ่มแจ้งอย่างไม่มีข้อสงสัยแล้วว่า เธอเลวสุดๆ
3
อาจจะมีหลายคนที่เห็นว่าผมใช้คำรุนแรงเกินไป และทักท้วงว่าผมเอามาตรฐานอะไรมาวัด จึงอยากจะให้ขีดเส้นใต้ข้อความต่อไปนี้ “ใครก็ตามที่สามารถทำร้ายครอบครัวคนอื่นได้อย่างหน้าตาเฉยนั้น คำว่า เลวสุดๆ ก็ดูจะน้อยเกินไปเสียด้วยซ้ำ” ครับ คุณต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง
4
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) (2551: 373)ให้ความหมายคำว่า วิปลาส,วิปัลลาส คือ“กิริยาที่ถือโดยอาการวิปริตผิดจากความเป็นจริง, ความเห็นหรือความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากสภาพที่เป็นจริง มีดังนี้
ก.วิปลาสด้วยอำนาจจิตต์และเจตสิก 3 ประการ คือ 1. วิปลาสด้วยอำนาจสำคัญผิด เรียกว่า สัญญาวิปลาส 2. วิปลาสด้วยอำนาจคิดผิด เรียกว่า จิตตวิปลาส 3 . วิปลาสด้วยอำนาจเห็นผิด เรียกว่า ทิฏฐิวิปลาส
ข. วิปลาสด้วยสามารถวัตถุเป็นที่ตั้ง 4 ประการ คือ 1. วิปลาสในของที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง 2. วิปลาสในของที่เป็นทุกข์ว่าสุข
3. วิปลาสในของที่ไม่ใช่ตนเป็นตน 4. วิปลาสในของที่ไม่งามว่างาม (เขียนว่าพิปลาส ก็มี)
5
วิปลาสนี้คงเกิดจาก อวิชชา คือ ความไม่รู้จริง ดังนั้น เมื่อสามารถขจัดความไม่รู้จริงออกไปได้ ก็จะเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามสภาพที่เป็นจริง จิตใจก็จะโปร่งโล่ง เลิกสงสัยอีกต่อไป ดังนั้น ความรู้ที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะการไม่รู้จริงทำให้ระแวงสงสัย ทำให้กลัว ไม่กล้า ดังนิทานของหลวงปู่ อูติตถิระ ซึ่งท่านเสฐียรพงษ์ วรรณปก (2542:4) นำมาเล่าต่อ ดังนี้
6
มีหญิงสาวคนหนึ่ง ยังไม่เคยแต่งงาน ไม่รู้ว่าการแต่งงานนั้นเป็นอย่างไร รู้สึกกลัว จึงไปถามแม่ว่า “แม่ การแต่งงานเป็นอย่างไร”
แม่ตอบว่า “ มันไม่ต่างอะไรกับตีนคุดทะราดเหยียบอกหรอก”
จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้หญิงสาวกลัวฝังใจ และไม่ยอมแต่งงาน ถึงแม้จะมีคนมาสู่ขออยู่หลายราย แต่ก็ปฏิเสธไปทุกราย
สุดท้ายพ่อแม่ก็ต้องบังคับให้แต่งงาน เมื่อขัดพ่อแม่ไม่ได้ก็จำใจแต่งงาน หลังจากแต่งงานแล้วก็ไม่ยอมมีเพศสัมพันธ์กับสามี
เพราะกลัว แต่ในที่สุดสามีก็พยายามจนประสบผลสำเร็จ
หลังจากนั้น เมื่ออยู่สองต่อสองกับแม่ หญิงสาวได้ใช้กำปั้นทุบที่หลังแม่เบาๆและบอกว่า
“แม่ หนูรู้แล้วว่า การแต่งงานเป็นอย่างไร ไม่เป็นอย่างที่แม่บอกสักหน่อย”
7
ตอนที่ รศ. ดร.ทองคุณ หงส์พันธุ์ เป็นอธิการที่สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ ท่านเป็นคนหนุ่มโสดไม่เคยแต่งงาน และเนื่องจากท่านเป็นอธิการ เป็นผู้ใหญ่ เวลาครูบาอาจารย์แต่งงาน ท่านต้องขึ้นไปพูดเพื่อให้คำแนะนำคู่บ่าวสาวในเรื่องการครองชีวิตคู่ ท่านก็จะว่าของท่านเป็นตุเป็นตะไปตามเรื่อง พวกเราซึ่งอยู่ในงาน พากันพูดกระซิบไปมาว่า “ท่านไม่รู้จริงหรอก ที่ท่านว่าเป็นคุ้งเป็นแควไปนั้น ท่านเอามาจากหนังสือ”
…..
อ้างอิง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต).(2551).พจนานุกรมพุทมธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์.พิมพ์ครั้งที่ 12.
กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
เสฐียรพงษ์ วรรณปก.(2542). พุทธวิธีสอนจากพระไตรปิฏก.พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: อรุณการพิมพ์.

Comments are closed.