พุทธศาสนานิกายเซน

zen

จิปาถะ
พุทธศาสนานิกายเซน
วันนี้ขอนำเพื่อน FB มารู้จักกับพุทธศาสนานิกายเซน (Zen) ซึ่งเป็นพุทธศาสนานิกายที่เน้นการฝึกการเจริญสติ หรือการวิปัสสนา เพื่อขจัดความคิดปรุงแต่งที่เกิดควบคู่กับอวิชชาอันนำมาซึ่งกิเลสตัณหา เพราะสติเป็นสิ่งที่ควบคู่กับปัญญา และการเจริญสติที่ต่อเนื่องคือสมาธิที่แท้จริง อันอาจทำให้แสงแห่งความเป็นพุทธะได้ส่องสว่างขึ้นอย่างฉับพลันได้
“ตามหลักพื้นฐานของนิกายเซน ซึ่งได้แก่เรื่อง “ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ” มนุษย์หรือสัตว์โลกทั้งหลายมี “ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ อยู่ในตัวมาตั้งแต่ต้น กิเลสตัณหาซึ่งเกิดจากความคิดปรุงแต่งและอวิชชาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง มาห่อหุ้มธรรมชาติของความเป็นพุทธะนั้นไว้ มนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลายจึงวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏและความทุกข์ ต่อเมื่อขจัดกิเลสตัณหาและความคิดปรุงแต่งได้หมดสิ้น ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะก็จะปรากฏขึ้นมาในทันที”(ทวีวัฒณ์.ม.ป.ป. 2)
พระพุทธศาสนานิกายเซน เป็นพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงแพร่หลายไปทั่วโลก ตามประวัติศาสตร์ เซนเกิดขึ้นในประเทศจีนช่วง คริสตศตวรรษที่ 7-8 จากการผสมผสานกันระหว่างพุทธศาสนามหายานกับลัทธิ เต๋า อันมีอยู่เดิม และแพร่หลายไปยังเกาหลีและญี่ปุ่น ในปัจจุบันความสนใจเกี่ยวกับพุทธศาสนานิกายเซน แพร่หลายอยู่ในประเทศทางตะวันตก
ในประเทศจีน เมื่อท่านโพธิธรรม บรรลุธรรม อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้รับมอบบาตร จีวร สังฆาฏิพร้อมทั้งธรรม สืบทอดตำแหน่งพระสังฆปริณายกองค์ที่ 28 ในประเทศอินเดีย เดินทางไปประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ. 1063 จากนั้นพระพุทธศาสนานิกายเซนก็เจริญรุ่งเรืองในประเทศจีนและต่อมาได้เจริญรุ่งเรืองในประเทศญี่ปุ่น (ท่านโพธิธรรม เป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่ 1 ของจีน)
“คำว่า “เซน” (Zen) เป็นภาษาญี่ปุ่น มาจากคำว่า “ฌาน” (Ch’ an, Ch’ an-an) ในภาษาจีน ตรงกับคำว่า “ฌาน” ในภาษาบาลี และคำว่า “ธฺยานะ” (’dhyana)ในภาษาสันสกฤต แปลว่าสมาธิ (meditation)” (ทวีวัฒณ์.ม.ป.ป. 2)
สำหรับพุทธศาสนานิกายเซน ความสำคัญจะอยู่ที่
1) การเจริญสติ หรือ วิปัสสนา เรียกว่า“ซาเซน” (Zazen)
2) โกอาน (Koan) คือปริศนาธรรม หรืออุบายสำคัญอย่างหนึ่งในการปฏิบัติ ซาเซน
3) ม็อนโด คือ การสนทนาธรรม
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของการสนทนาธรรม ครับ
“เพื่อช่วยให้ศิษย์ข้ามแม่น้ำให้ถึงฝั่งนิพาน อาจารย์เซนมักจะยื่นเสาหลักแห่งอุบายให้ ศิษย์อาจอาศัยเกาะหลักนี้ไป แต่หากดวงตาเขายังปิดอยู่ และดวงจิตก็ยังมืดมัว เขาก็จะไม่พบเสาหลัก ภิกษุรูปหนึ่งถามอาจารย์คามตันว่า
“อะไรคือพุทธะ”
“ทุกสิ่งทุกอย่าง”อาจารย์ตอบ
“อะไรคือจิตของพุทธะ” พระถามสืบไป
“ไม่มีอะไรถูกปิดซ่อน” อาจารย์ตอบ
“ข้าพเจ้าไม่เข้าใจ”
“เธอได้พลาดโอกาสไปเสียแล้ว” อาจารย์ตอบ (ติช นัท ฮันห์.2522.121-122)
……
อ้างอิง
ติช นัท ฮันห์.(2522).พจนา จันทรสันติ แปล.กุญแจเซน.พิมพ์ครั้งที่ 3.กรุงเทพฯ : ศึกษิตสยาม.
ทวีวัฒณ์.ปุณฑริกวิวัฒน์.(ม.ป.ป.).ประทีปแห่งเซ็น.กรุงเทพฯ เซ็นเตอร์ : พับลิคเคชั่น.
ละเอียด ศิลาน้อย(2532) ปล่อยว่างอย่างเซน.พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า.
สุภาณี ปิยพสุนทรา.(2554).สว่างอย่างเซน.กรุงเทพฯ : แสงดาว.

Comments are closed.