นิทาน

book
จิปาถะ
นิทาน
นิทาน เป็นเรื่องเล่าของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง เรื่องเล่านั้นอาจเป็นเรื่องจริงล้วนๆ หรือผสมผสานเรื่องที่เกิดขึ้นจริงกับจินตนาการของผู้เล่าเพื่อสร้างความน่าตื่นเต้นเร้าใจ หรือสร้างความสนุกสนานให้แก่ผู้ฟัง จากนั้นก็มีการเล่าสืบต่อกันมามีการเพิ่มเติมเสริมแต่งให้พิสดารมากยิ่งขึ้นจนห่างไกลไปจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้น แต่บางครั้งนิทานก็เกิดขึ้นจากจินตนาการของนักเล่านิทานล้วนๆ ซึ่งมักจะตื่นเต้นโลดโผนเร้าใจเกินจริง เต็มไปด้วยอภินิหารต่างๆนาๆ ตามจินตนาการที่หลากหลายของผู้เล่า ซึ่งต่อมาได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร จนอาจกล่าวได้ว่า นิทาน เป็นวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดก็น่าจะว่าได้
อย่างไรก็ตามนิทานส่วนใหญ่นั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะอบรมสั่งสอนกุลบุตรกุลธิดาให้เป็นคนดีมีศีลธรรมจรรยา มีหลายประเภท เช่น นิทานชาดก นิทานพื้นบ้าน ฯลฯ ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องสนุกที่แฝงคติธรรม นิทาน บางเรื่องตลกขบขันคาบลูกคาบดอกทำให้ได้หัวเราะกันเป็นที่
ครื้นเครงสนุกสนาน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งผู้ฟังและผู้เล่า
ส่วนคนที่แต่งเรื่องนิทานอย่างเช่น อิสป ถือว่าสุดยอด นิทานอีสปเป็นนิทานอมตะที่ได้รับการยกย่องทั่วโลก ทุกเรื่องแฝงไปด้วยคติธรรม เปรียบเทียบความดี ความชั่ว ได้อย่างเฉียบคม และจบลงด้วยประโยค “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า..”จนกลายเป็นสัญลักษณ์เฉพาะของนิทานอีสป มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นอื่นๆและนิทานชาดกอีกกว่า 500 เรื่อง ซึ่งแต่ละเรื่องมุ่งเน้นสอนให้เป็นคนดีมีศีลธรรมแทบทั้งสิ้น อ่านกันไม่หวาดไม่ไหว ส่วนผมเองก็เล่านิทานของคนอื่นทั้งนั้น ไม่มีปัญญาพอที่จะแต่งเองได้ นานๆอาจคิดเรื่องตลกได้สักเรื่อง ถ้าเผลอลืมจดไว้ ก็เป็นอันว่าหมดกัน
ตัวละครในนิทานนั้น มีทั้งคนและสัตว์ เป็นตัวอย่างของพฤติกรรมที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ หรือเป็นตัวอย่างของความดีความงาม เช่น ความเมตตา ความกตัญญูกตเวที เป็นต้น ส่วนพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ อันได้แก่ความชั่วร้าย ไม่ดี ไม่งาม เช่น ความโลภ การเอารัดเอาเปรียบ การไม่กตัญญูรู้คุณ เป็นต้น
ตัวละครในนิทานนั้นจะมีทั้งคนและสัตว์หรือทั้งคนและสัตว์ปนกันไป สัตว์ที่นำมาเป็นตัวอย่างในนิทานนั้นมักจะเป็นอุปนิสัยของสัตว์นั้นๆ เช่น ถ้าโง่ ก็ใช้ลา ถ้าเจ้าเล่ห์ก็เป็นหมาจิ้งจอก ดุร้ายก็เป็นเสือ ไม่กตัญญูรู้คุณก็จะเป็นหมาป่า เป็นต้น
นิทานวันนี้ก็เป็นเรื่องของหมาป่า ปรับมาจากเรื่องหมาป่าภูเขาจงซาน จากหนังสือ จงซานหลางจ้วน แต่งโดย หม่าจงซี สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644) เรื่องย่อๆมีอยู่ว่า
ที่ภูเขาจงซาน นายพรานหมู่หนึ่งกำลังตามล่าหมาป่าซึ่งหนีกระเจิดกระเจิง ผ่านไปพบคนใจบุญคนหนึ่ง หมาป่าได้ขอร้องให้ช่วยชีวิต
คนใจบุญก็ตกลงช่วย โดยให้หมาป่าเข้าไปซ่อนอยู่ในถุงสัมภาระ เมื่อผูกปากถุงแล้วคนใจบุญก็นั่งพักอยู่ข้างทาง
ต่อมาหมู่นายพรานตามมาถึง ได้ถามคนใจบุญว่า เห็นหมาป่าวิ่งผ่านมาทางนี้หรือไม่ คนใจบุญตอบว่า “ข้าไม่เห็นอะไรวิ่งผ่านมาเลย” อีกทั้งแสดงความเห็นว่า บริเวณนี้มีทางแยกหลายทาง คงตามหายาก ทำให้หมู่นายพรานเลิกรากลับไปเมื่อเห็นว่ากลุ่มนายพรานกลับไปไกลแล้ว คนใจบุญก็แก้ปากถุงสัมภาระปล่อยให้หมาป่าออกมา เมื่อหมาป่าออกมาจากถุงแล้ว แทนที่จะหนีไป แต่หมาป่าไม่ยอมไป กล่าวกับคนใจบุญว่า “ท่านช่วยชีวิตข้าแล้ว ขอให้ช่วยข้าให้ตลอดเถิด” คนใจบุญถามว่าเจ้าจะให้ข้าช่วยอะไรอีก
หมาป่าตอบว่า เวลานี้ข้ารู้สึกหิวมาก ขอให้ข้ากินท่านก็แล้วกัน
คนใจบุญกล่าวว่า เจ้านี้ช่างไม่มีมโนธรรมเสียเลย ข้าช่วยชีวิตเจ้าไว้ เจ้ากลับจะมากินข้าเสียอีก
หมาป่าไม่สนสนใจกระโดดเข้าใส่คนใจบุญซึ่งหลบและหนีได้อย่างหวุดหวิด วิ่งไล่ตามกันจนไปพบชายชราผู้หนึ่ง
คนใจบุญจึงกล่าวกับหมาป่าว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ให้ชายชราเป็นผู้ตัดสินว่าเจ้าควรจะกินข้าหรือไม่ หมาป่าก็ตกลง
จากนั้นทั้งหมาป่าและคนใจบุญก็แย่งกันอธิบายเรื่องราวให้ชายชราฟัง เมื่อเล่าจบ ชายชรากล่าวว่า คำพูดของพวกเจ้า ข้าจะเชื่อข้างใดข้างหนึ่งก็คงไม่ได้ เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ให้พวกเจ้าแสดงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ข้าดู จากนั้นข้าก็จะตัดสินว่าใครผิดใครถูกต่อไป
ดังนั้น หมาป่าจึงมุดเข้าไปในถุงสัมภาระอีก คนใจบุญก็เอาเชือกผูกปากถุงไว้
ชายชราได้กล่าวกับคนใจบุญว่า ท่านจงเอามีดแทงเข้าไปในถุงก็จะหมดเรื่อง คนใจบุญตอบว่า ข้าทำไม่ได้ ข้าสงสารมัน
ชายชราพูดว่า ไอ้พวกอกตัญญูอย่างนี้ ท่านยังไม่กล้าฆ่ามันอีกหรือ ท่านใจบุญเกินไปเสียแล้ว
ชายชราจึงใช้มีดแทงเข้าไปในถุงสัมภาระและโยนทิ้งไว้ข้างทาง
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ใครที่มีพฤติกรรมเยี่ยงหมาป่านี้ สมควรตายอยู่ข้างทาง
อ้างอิง
เว่ย จินจื่อ.(ม.ป.ป.)นิทานอุปมาอุปไมยจีนกรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ยินหยาง.

 

Comments are closed.