นิทาน ปีศาจขโมยเวลา 5 (นายกระจกเงา 1)

dos

จิปาถะ

นิทาน ปีศาจขโมยเวลา 5  (นายกระจกเงา 1)

5

นิทานซ้อนนิทานเรื่องที่สองก็คือ เรื่องนายกระจกเงา  เรื่องมีอยู่ว่า

กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว ที่บ้านชั้นเดียวหลังขนาดกะทัดรัด ริมถนนข้างคลองชลประทาน ในจังหวัดภาคกลางตอนล่าง มีผู้สูงวัยคนหนึ่งชื่อนายกระจก นามสกุลกรอบทอง  คนทั่วไปเรียกเขาว่ากระจกเงา ไม่มีใครเรียกกระจกทอง หรือกระจกกรอบ ที่เป็นเช่นนี้คงเป็นเพราะ ชื่อกระจกเงานั้นตรงตามคุณสมบัติของเขา  เพราะเขาจะมองสิ่งต่างๆได้อย่างชัดเจนใสแจ๋วทะลุปรุโปรงทุกแง่ทุกมุม และไม่ว่าใครจะเรียกเขาว่าอย่างไร เขาก็ไม่เห็นจะเดือดเนื้อร้อนใจอะไร

นายกระจกเงานั้น นอกจากจะเป็นครูสอนศิลปะแล้ว เขายังเป็นคอลัมนิสต์ เขียนบทความวิภาควิจารณ์ผลงานศิลปะของศิลปินที่มีชื่อเสียง ผลงานได้รับการเผยแพร่ในวารสารระดับแนวหน้าของเมืองไทยหลายฉบับ และด้วยทัศนะที่กว้างไกลในแง่มุ่มต่างๆอย่างละเอียด กว้างขวางและชัดแจ๋วเหมือนมองในกระจกเงา จึงเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และด้วยปลายปากาที่เฉียบคมดั่งขอบกระจก เขาจึงเป็นนักวิจารณ์ศิลปะที่อยู่ในระดับแนวหน้า

นอกจากนั้นเขาชอบฟังเพลงแทบทุกประเภทและ และอ่านบทกวี โดยเฉพาะของคาลิล ยิบราน และสร้างสรรค์ผลงานกวีด้วยภาษาที่งดงาม กลั่นกรองมาอย่างรอบคอบรัดกุม มีความหมายกินใจและแฝงไว้ด้วยปรัชญาของความจริง ความดี และความงามได้อย่างเฉียบคม

เนื่องจากเขาเป็นครูสอนศิลปะ หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว เขาจึงใช้เวลาว่างเขียนภาพสถานที่สำคัญๆของจังหวัดที่เขาอยู่และจังหวัดที่เขาเคยทำงานอยู่ ในลักษณะที่เหมือนจริง ด้วยเทคนิคสีอะเครลิคบนแคนวาส ภาพที่เขาเขียนนั้นมีทั้งภาพในอดีตและปัจจุบัน เช่น ภาพโบราณสถานวัดวาอารามต่างๆ อาคารร้านค้าเก่าๆ และหมู่บ้านตามแม่น้ำลำคลอง ผลงานของเขามีรูปแบบเฉพาะ เป็นงานศิลปะ มีความหมายตรงตามที่ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ว่า “ศิลปะ” นั้น ความหมายสำคัญอยู่ที่ความงาม, แล้วก็ความเป็นสิ่งที่ต้องใช้ฝีมือ คือ ทำยาก, แล้วก็ให้สำเร็จประโยชน์จนถึงที่สุดในความมุ่งหมายแห่งเรื่องนั้นๆ (พุทธทาสภิกขุ .2501.8) ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินเช่นนั้นมาอย่างยาวนาน

จนกระทั่ง  วันหนึ่งปีศาจขโมยเวลาได้เดินเข้ามาหาเขาในขณะที่เขากำลังทำงานอยู่  และเอ่ยทักทายว่า

“สวัสดีครับ คุณกระจกเงา”

เขาผละจากงาน  หันหน้ามาทางแขกที่มาเยือนและกล่าว “สวัสดีครับ”  พร้อมผายมือไปทางเก้าอี้เป็นการเชื้อเชิญ “นั่งซิครับ มีอะไรให้รับใช้ครับ” แขกที่มายังไม่ทันจะตอบว่าอะไรเขาก็ลุกมานั่งที่เก้าอี้ผ้าใบ “ผมขอนั่งตรงนี้นะครับ เผื่อเอนได้บ้าง” “ไม่เป็นไรครับ” ปีศาจขโมยเวลากล่าวก่อนที่จะนั่งลงตามคำเชิญ และเอ่ยขึ้นว่า

“ขอโทษนะครับ มารบกวนเวลาการทำงานของคุณพอดี ทำให้ต้องเสียเวลา”

“ไม่เป็นไรครับ ไม่เสียเวลาหรอก ผมมีเวลามากมายเหลือเฟือ และไม่รีบร้อนอะไร ”

“อะไรนะ” ปีศาจขโมยเวลาขมวดคิ้ว ทำหน้าฉงน “คุณว่าคุณมีเวลาเหลือเฟืออย่างนั้นหรือ”

“ถูกต้องแล้ว”

“คุณกระจกเงา คุณเข้าใจผิดไปเสียแล้ว…ตอนนี้คุณอายุเท่าไรล่ะ

“70 ปี”

“ฮ่า ฮ่า ฮ่า !” ปีศาจขโมยเวลาหัวเราะ “อายุคุณพอดีกับระดับอายุเฉลี่ยของชายไทย ซึ่งอยู่ระหว่าง 70 กว่าๆ ดังนั้นคุณมีเวลาเหลืออยู่น้อยมาก”

“ถูกต้องครับ ผมเข้าใจเรื่องนี้ดี และก็เตรียมตัวเตรียมใจพร้อมอยู่แล้ว ผมเห็นด้วยกับทัศนะของ เปาโล คูเอลญ.(2546:148-149) ที่กล่าวไว้ในเรื่องเมืองทดสอบบาป ความว่า “ฉันคิดว่าพอแก่ตัวลงคนเราจะเข้าใจเองว่า ความตาย เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะเผชิญหน้ากับมันด้วยความสงบ ความรู้เท่าทันและการปลง  หลายครั้งที่ความตายทำให้เราคลายทุกข์ที่ไร้สาระบางอย่างได้”

คำตอบของกระจกเงาและทัศนะของเปาโล คูเอลญ ที่กระจกเงายกมาอ้างทำให้ปีศาจขโมยเวลาฟังแล้วถึงกับเงียบไป

……………

เปาโล คูเอลญ.(2546).กอบชลี และ กันเกรา แปล.เมืองทดสอบบาป (   The Devil and Miss Prym.).(2) กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์ จำกัด.

พุทธทาสภิกขุ (2501).คู่มือมนุษย์.กรุงเทพฯ.ศูนย์สืบพระพุทธศาสนาวัดชลประทานรังสฤษฏ์.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *