ดุจเข้าไปในร้านปลาเค็ม

จิปาถะ

ดุจเข้าไปในร้านปลาเค็ม

จากความคิดเห็นของผู้ช่วยศาสตราจารย์นิพนธ์ ทวีกาญจน์ ในจิปาถะ เรื่อง สังคหวัตถุธรรม 4 โพสต์เมื่อ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 ความว่า “พวกรับของโจรผมว่ามีความผิดเหมือนกัน แม้ความผิดจะน้อยกว่า ก็ถือว่า คบพวกคนชั่วเป็นมิตร ย่อมนำพาสังคมไปทางที่ผิดได้ อยู่ใกล้คนที่ขาดเมตตาตัวเองก็จะขาดเมตตาไปด้วยอย่างไม่รู้สึกตัว”

จากความคิดเห็นดังกล่าว สอดคล้องกับสำนวนจีนสำนวนหนึ่ง ความว่า “ดุจเข้าไปในร้านปลาเค็ม” สำนวนนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือ ขงจื่อเจียอี่ ความว่า

“อยู่กับคนดี ดุจเข้าไปในห้องเลี้ยงกล้วยไม้ กลิ่นหอมอบอวน นานๆเข้าจะไม่รู้สึกหอม นั่นเป็นเพราะเคยชินกับกลิ่นหอมนั่นเอง อยู่กับคนไม่ดี ดุจเข้าไปในร้านปลาเค็ม กลิ่นเหม็นฉาวโฉ นานๆเข้าจะไม่รู้สึกเหม็น นั่นเป็นเพราะเคยชินกับกลิ่นเหม็นนั่นเอง”(ส.สุวรรณ.67)

คำสอนนี้ สอนให้รู้จักเลือกอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ดี กล่าวคือ เมื่ออยู่ในหมู่คนดี เหมือนอยู่ในห้องเลี้ยงกล้วยไม้ กลิ่นหอมของกล้วยไม้ก็จะหอมติดตัว มีสง่าราศีหน้าตาสดใส ผิวพรรณมีน้ำมีนวล แต่ถ้าอยู่ในหมู่คนชั่ว ก็จะพลอยชั่วไปด้วย เหมือนอยู่ในร้านขายปลาเค็ม กลิ่นเหม็นของปลาเค็มจะเหม็นติดตัว ขาดสง่าราศี หน้าตาเศร้าหมอง ผิวพรรณซูบซีก เค็ม

ดังนั้น ความสำคัญจึงอยู่ที่ว่า จะสำนึกรู้หรือไม่เท่านั้นว่า กลิ่นที่อยู่รอบตัวนั้นเป็นกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นหอม บางคนรู้ทั้งรู้ว่าอยู่กับกลิ่นเหม็นก็ยังทนอยู่ได้ แถมยังร่วมมือช่วยเขาทำร้ายคนอื่นอีกด้วย จัญไรจริงๆ

อ้างอิง
ส.สุวรรณ.(2541).สำนวนจีน.พิมพ์ครั้งที่ 3 .กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พิราบ.