จิปาถะ เรื่องสั้น อีแสบ (สภาเกาหลัง)

วันอังคารที่ 5  ตุลาคม พ.ศ. 2564

จิปาถะ เรื่องสั้น อีแสบ (สภาเกาหลัง)

5

การคอรัปชั่น ไม่ว่าเกิดที่ไหน ก็จะ เลอะเทอะ เปรอะเปื้อน สกปรกไปทุกที่  เพราะการ “คอรัปชั่น คือการทุจริตโดยใช้อำนาจจากตำแหน่งหน้าที่ของตนเพื่อประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น  โดยการใช้อำนาจเป็นเครื่องมือในการลิดรอนสิทธิและความเป็นธรรม เช่น การฉ้อราษฎร์บังหลวง กินสินบาทคาดสินบน เห็นแก่ญาติพี่น้องและพวกพ้องด้วยระบบอุปถัมภ์

ตามกฏหมายอาญา การคอรัปชั่น เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เกี่ยวกับความยุติธรรม เช่น การเบียดบังทรัพย์สินของทางราชการและของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยทุจริต  การใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ เช่น ว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงาน เป็นต้น

ในวงการศึกษา การคอรัปชั้น ถือเป็นเนื้อร้ายที่ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง มีผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาทั้งโดยรวมและปัจเจกบุคล

เนื่องจากการคอรัปชั่นในสถาบันอุดมศึกษาเป็นปัญหาหมักหมมเรื้อรังมายาวนาน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งมีคุณภาพต่ำลง จนไม่เหลือความน่าเชื่อถือ ไม่เหลือความภาคภูมิใจและเป็นที่หวังของคนในสังคมอีกต่อไป รัฐบาล คสช. ตระหนักในเรื่องนี้ จึงใช้มาตรา 44 เพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านั้น  แต่ดูเหมือนว่า ปัญหาดังกล่าวนอกจากจะยังดำรงอยู่ เหมือนเดิมแล้ว ยังสร้างปัญหาใหม่เพิ่มเข้ามาอีก เช่น เกิดมีรักษาการอธิการบดีเถื่อนที่แอบอ้าง ม.44 รักษาการอยู่ได้ถึง 4 ปี และฟ้องนักศึกษาที่เป็นลูกศิษย์ อีกทั้งเกิดมีการทุจริตตำแหน่งทางวิชาการทั้ง ม. ของรัฐ เช่น ม.สารคามบุรี และ ม.เอกชน ที่เมืองสองแคว เป็นต้น

ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดตอนนี้คือ “การบูรณาการกำลังกันระหว่างสภามหาวิทยาลัย กับอธิการบดีและทีมงานผู้บริหาร เพื่อสถาปนาอำนาจ แสวงหาและแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างโจ่งแจ้ง น่ารังเกียจ ทำให้คุณภาพของมหาวิทยาลัยถดถอยลง บุคลากรที่ดีมีคุณภาพสิ้นหวังหมดกำลังใจ คุณภาพวิชาการย่ำแย่ มีอันดับล้าหลังเช่นเดียวกับการศึกษาในระดับอื่นๆ ของประเทศ

ปัญหาการประนีประนอมจูบปากกันหาผลประโยชน์ แบบถ้อยทีถ้อยอาศัยของสภา,อธิการบดีและทีมผู้บริหาร ที่ชาวมหาวิทยาลัย เรียกกันว่า “สภาเกาหลัง” ในขณะที่ทางราชการเรียกว่า “ปัญหาธรรมาภิบาล” เกิดขึ้นใน มหาวิทยาลัย หลายแห่ง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค (มานะ)

ชาวมหาวิทยาลัยคงทราบดีอยู่แล้วว่า พรบ. 2547 ได้ กำหนดเรื่องการได้มาซึ่งสภา มหาวิทยาลัย โครงสร้างและสัดส่วนว่ามีใครมาจากไหนบ้าง  เมื่อเริ่มจะมีสภาฯ มหาวิทยาลัย จะสรรหาเลือก เสนอผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ มาเป็นกรรมการสภา ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกจำนวนหนึ่ง จากตัวแทนผู้บริหารและคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งรวมทั้งอธิการบดีด้วย เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสภาขึ้นมาแล้ว กรรมการสภาชุดนี้ซึ่งนำโดยนายกสภาฯก็จะคอยกำกับดูแลควบคุม  กำหนดทิศทางให้ มหาวิทยาลัย บริหารไปตามความเห็นชอบของกรรมการสภา รวมทั้งการแต่งตั้งผู้บริหาร มหาวิทยาลัย ในแต่ละสมัยก็ต้องผ่านความเห็นชอบของกรรมการสภา มหาวิทยาลัย  พูดง่ายๆ ก็คือ ต่างฝ่ายต่างมีส่วนในการแต่งตั้งกันไปมา ทำนอง “เอ็งเลือกข้ามา ข้าก็มาเลือกเอ็งอีกทีหนึ่ง” จุดเริ่มต้นของ “สภาเกาหลัง” ก็มาจากตรงนี้นี่แหละ และยังดำรงอยู่เป็นรังต่อขนาดใหญ่ที่เกาะกินผลประโยชน์ในมหาวิทยาลัยที่ไม่มีใครจะจัดการให้พ้นได้ และตอนนี้ก็ยังเกาหลังกันไปเกาหลังกันมาอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินอย่างไม่รู้เบื่อ  สิ้นหวังจริงๆ ครับผม

…..

https://www.facebook.com/100002036258424/posts/4347683908642775/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *