จิปาถะ  ปัญญา (ฉายซ้ำ โพสต์เมื่อ 6 กค.15)

วันจันทร์ที่ 3  มกราคม 2565

จิปาถะ  ปัญญา (ฉายซ้ำ โพสต์เมื่อ 6 กค.15)

ปัญญา

1.มีเพื่อนถามมาว่า ทำไมสัตว์จึงมีแต่ “สัญญา”ไม่มี “ปัญญา” ก็ตอบแบบง่ายๆได้เลยว่า ธรรมชาติสร้างมาเช่นนั้นเอง แต่ถ้าจะตอบให้มีข้อมูลอ้างอิงบ้าง ก็ต้องตอบว่าเพราะพระผู้เป็นเจ้าสร้างสิ่งมีชีวิตที่เป็นต้นไม้ และสัตว์ต่างๆขึ้นก่อน จากนั้นจึงสร้างมนุษย์ ไม่ได้สร้างในคราวเดียวกัน คุณสมบัติของสิ่งที่สร้างคนละคราวจึงแตกต่างกัน ดังปรากฏ ในพระคัมภีร์ (ซาเลเซียน.1957: 6-7) ความว่า “แล้วพระองค์ทรงสร้างของมีชีวิตต่างๆ เช่น ต้นไม้ ต้นหญ้า และสัตว์บก สัตว์น้ำ ทุกชนิด แต่ในบรรดาของมีชีวิตเหล่านี้ ไม่มีสิ่งใดเลยที่มีสติปัญญารู้บาปบุญคุณโทษ จึงไม่สามารถดีขึ้นหรือเลวลงได้ มีแต่สัญชาตญาณ คือความรู้สึกสำหรับหาเลี้ยงตัว ป้องกันตัว และสืบพันธุ์เท่านั้น”

2.ส่วนมนุษย์นั้นพระองค์ทรงสร้างขึ้นทีหลัง ดังปรากฏในพระคัมภีร์(ซาเลเซียน.1957: 7) ความว่า “ต่อมา พระผู้เป็นเจ้า ทรงสร้างมนุษย์ชาย-และหญิงคู่แรก ชื่อ อาดัมและเอวา มีร่างกายเช่นเดียวกับสัตว์ สำหรับดำรงชีวิตในโลกนี้ชั่วคราว แต่มีจิตใจเช่นเดียวกับเทวดา สำหรับรู้จัก,รัก และปรนนิบัติพระผู้เป็นเจ้า”

ดังนั้น ตามบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์จึงอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราว มีสติปัญญารู้บาปบุญคุณโทษ ซึ่งทำให้แตกต่างไปจากสัตว์ มีหน้าที่ปรนนิบัติพระผู้เป็นเจ้า ถ้าไม่ปฏิบัติตามที่พระผู้เป็นเจ้าต้องการ ก็จะถูกลงโทษ

3.“ปัญญา” นั้น ไม่ใช่ธรรมชาติที่มีมาแต่กำเนิด ปัญญาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง มนุษย์ที่มีปัญญา คือ มนุษย์ที่มีความคิดความอ่านเป็นของตนเอง รู้จักเปรียบเทียบ หาข้อสันนิษฐาน หรือวินิจฉัยสิ่งต่างๆได้เอง มีความรู้ความเข้าใจหยั่งแยกได้ในเหตุผล ดีชั่ว มีคุณ มีโทษ มีประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์ เป็นต้น

4.ในทางพระพุทธศาสนาได้แสดงที่เกิดของปัญญาไว้ 3 ประการ คือ (วิจิตรวาทการ.2553 : 25)

1) จินตามยาปัญญา – ปัญญาที่ได้มาด้วยการคิด(Wisdom obtained by thought)

2) สุตมยาปัญญา – ปัญญาที่ได้มาด้วยการเรียน(Wisdom obtained by study)

3) ภาวนามยาปัญญา – ปัญญาที่ได้มาด้วยการตรองค้นอย่างลึกซึ้ง (Wisdom obtained by meditation)

5.จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า “ปัญญา” จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์รู้จักคิด รู้จักสันนิษฐานเปรียบเทียบ ด้วยตนเอง รวมทั้งการศึกษาเล่าเรียนก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญญา จากนั้นจึงนำประสบการณ์ ข้อคิดที่เคยคิด เคยเรียนหรือสดับตรับฟังมาตรองดูอย่างลึกซึ้งอีกครั้งหนึ่ง เพื่อแสวงหาความคิดใหม่ที่เป็นของตนเอง

6.อย่างไรก็ตาม สัตว์มิได้มีสติปัญญารู้บาปบุญคุณโทษ มีแต่สัญชาตญาณ จึงไม่สามารถดีขึ้นหรือเลวลงได้ ซึ่งเป็นปกติเช่นนั้น แต่มนุษย์เช่นนางแต้มมีสติปัญญารู้บาปบุญคุณโทษ แต่ไม่ใช้ปัญญาหรือใช้ปัญญาเพื่อเบียดเบียนเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จึงไม่สามารถดีขึ้นได้ มีแต่จะเลวลงไปเรื่อยๆ เพราะ มีแต่สัญชาตญาณ คือความรู้สึกสำหรับหาเลี้ยงตัว ป้องกันตัว และสืบพันธุ์เท่านั้นเอง

……….

อ้างอิง :ซาเลเซียน,สำนักงาน.(1957)ประวัติการณ์สังเขปจากพระคัมภีร์.พิมพ์ครั้งที่ 5.กรุงเทพฯ.บริษัทไทยหัตถการพิมพ์ จำกัด.

วิจิตรวาทการ,พลตรี,หลวง.(2553).ลัทธิโยคีและมายาศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่ 2 .กรุงเทพฯ สาร้างสรรค์บุ๊คส์.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *