จิปาถะ : ตอบอาจารย์นพรัตน์  เจ๊กไธสง

วันพฤหัสบดีที่ 4  พฤษภาคม 2566

จิปาถะ : ตอบอาจารย์นพรัตน์  เจ๊กไธสง (โพสต์ครั้งแรกเมื่อ  3 พค. 2558)

4

ผมดีใจมาก ที่ท่านอาจารย์นพรัตน์  เจ๊กไธสงได้แสดงความคิดเห็นใน จิปาถะ เรื่อง พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่โพสต์เมื่อวันที่ 1  พฤษภาคม 2558 ความว่า “น่าจะเป็นประทับอยู่บนหลังช้างศึกนะครับ อาจารย์คงเผลอไปกระมังครับ”

ก่อนอื่นขอบอกก่อนว่า ที่ผมดีใจ เพราะอยากให้มีคนทักท้วง เพื่อจะได้อธิบาย เรื่องการประทับของพระบรมรูปฯ บนคอช้างศึก หรือประทับบนพระที่นั่งพุดตานทองหลังช้างศึก ซึ่งผมคิดว่าเป็นปัญหาที่สำคัญมาก เพราะเป็นคำกราบบังคมทูล โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่ใช่เรื่องพูดกันเล่นๆ

เมื่อตอนที่จังหวัดนำพระบรมรูปฯมาประดิษฐาน ผมก็สงสัยว่า ทำไม่พระบรมรูปฯจึงไม่ประทับบนคอช้างศึกตามที่ได้กราบบังคมทูลไว้ (ก็สงสัยแบบอาจารย์นพรัตน์นั่นแหละว่า พระบรมรูปฯประทับบนหลังช้าง เห็นกันชัดเจน แต่ทำไมถึงบอกว่าประทับคนคอช้างศึก ) แต่ท่านรู้ไหมว่า ความสงสัยของผมทำให้อธิบดีกรมศิลปากร นายนิคม มุสิกมาคะ (เสียชีวิตแล้ว) แจ้งความดำเนินคดีผมฐานหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นคดีอาญา ที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม เมื่อปี 2542

ความจริงผมควรจะเสงี่ยมเจียมตัว เพราะเพิ่งถูกสั่งไม่ฟ้องในคดีที่อธิบดีกรมศิลปกร นายสมคิด โชติกวณิชย์ (เสียชีวิตแล้ว) ได้มอบหมายให้นายประทีป เพ็งตะโก (ปัจจุบัน ผอ.สำนักศิลปกรรมที่ 3 พระนครศรีอยุธยา) นำเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 30 นาย เข้าจับกุมดำเนินคดีผมในข้อหามีโบราณวัตถุอันเป็นสมบัติของแผ่นดินไว้ในครอบครอง อันเป็นคดีอาญาเช่นกัน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 

แต่อย่า serious ครับ เพราะทั้งสองคดี อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดไปหมดแล้ว

สำหรับเรื่องพระบรมรูปฯ ต้องขอบคุณอาจารย์เจ๊ก (ผมชอบเรียกท่านว่า อ.เจ๊ก) ที่ทักท้วงมา ขอชี้แจงตามหลักฐานดังนี้ครับ

เมื่อวันศุกร์ที่  7 เมษายน  2538  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จมาทำพิธีวางศิลาฤกษ์ พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดกราบบังคมทูลว่า “พระบรมรูปฉลองพระองค์แบบนักรบตามขัตติยราชประเพณีโบราณ ประทับอยู่บนคอช้างศึก  หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์”  ผมเห็นว่าคำกราบบังคมทูลนี้สำคัญมาก มีเอกสารเป็นหนังสือและภาพประกอบชัดเจน

วันจันทร์ที่ 6  กันยายน  2542  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงเปิดพระบรม ราชานุสาวรีย์ฯ แต่ปรากฏว่าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่จะนำไปประดิษฐาน พระบรมรูปฯ ประทับบนพระที่นั่งพุดตานทองหลังพระคชาธาร ตามที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน  แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีการเปลี่ยนแบบ 

ก่อนพิธีอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์ ฯ ขึ้นประดิษฐาน ได้มีประชาชนชาวจังหวัดบุรีรัมย์รวมตัวกันคัดค้าน และตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมจึงมีการเปลี่ยนทิศทางการหันพระพักตร์ของพระบรมรูปฯไปทางทิศเหนือ คือหันพระพักตร์เข้าเมือง ทั้งๆที่แต่เดิมนั้นได้ออกแบบให้หันพระพักตร์ไปทางทิศใต้  คือ ออกนอกเมือง และได้ทำหนังสือขอคำวินิจฉัยไปยังสำนักพระราชวัง  ปรากฏเป็นข่าวและมีผู้แสดงความเห็นโต้ตอบกันไปมาในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับเป็นเวลานาน

ช่วงนั้นได้มีนักข่าวไปขอสัมภาษณ์ผม เรื่องการหันพระพักตร์ของพระบรมรูปฯ ผมได้เปิดประเด็นใหม่ที่ไม่มีใครสนใจโดยให้สัมภาษณ์ว่า การหันพระพักตร์ของพระบรมรูปฯเข้าเมืองหรือออกนอกเมืองนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ความสำคัญอยู่ที่ได้มีการเปลี่ยนแบบ  โดยเปลี่ยนที่พระทับของพระบรมรูปฯจากประทับบนคอช้างศึก เป็นประทับบนพระที่นั่งพุดตานทองกลางหลังช้างศึก ทำให้เรื่องราวของพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ที่กำหนดไว้แต่แรก เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง  เท่านั้นแหละครับ อธิบดีกรมศิลปากรก็ฟ้องดำเนินคดีผมทันที 

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อย่าได้เป็นคนขี้สงสัย  แต่ที่อาจารย์เจ๊กสงสัยว่าผมคงเผลอไปหรือเปล่า  ผมไม่ฟ้องหรอกครับ ดีใจอีกต่างหาก

……….

อ้างอิง : จังหวัดบุรีรัมย์.(2538)พิธีวางศิลาฤกษ์พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช.กรุงเทพฯ : จูน พับลิชชิ่ง.

วิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ.(2541).การประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช. จังหวัดบุรีรัมย์.อยุธยา: สำนักพิมพ์สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.

ภาพ: พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช. (จังหวัดบุรีรัมย์.พิธีวางศิลาฤกษ์ฯ 2538.-)

…..

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *