จิปาถะ  กาย  (ฉายซ้ำ โพสต์เมื่อ 9 กค.15)

วันอังคารที่ 4 มกราคม 2565

จิปาถะ  กาย  (ฉายซ้ำ โพสต์เมื่อ 9 กค.15)

1.ต้องขอออกตัวก่อนว่า เรื่องสัญญาและปัญญา ที่ผมนำเสนอไปแล้วนั้น ผมไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไรหรอก ผมเก็บความมาจากหนังสือเรื่อง ลัทธิโยคีและมายาศาสตร์ ของพลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งเป็นเรื่องวิชาลึกลับ(Occult Sciences) ที่เกี่ยวกับอำนาจของดวงจิต หลักสำคัญของลัทธิโยคี คือการฝึกจิตให้แน่วแน่เป็นสมาธิ ซึ่งท่านกล่าวว่าเป็นคุณธรรมอันประเสริฐที่สุดที่มนุษย์จะพึงมี (2553.3)

ดังนั้น หากต้องการเข้าใจเรื่องเหล่านี้อย่างถ่องแท้ ก็หาหนังสือของหลวงวิจิตรฯ ดังกล่าวมาอ่าน ส่วนที่ผมเขียนนั้นก็จับแพะชนแกะไปตามเรื่อง ทีแรกกะว่าจะเขียนในลักษณะเรื่องสั้น เพราะไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมาก ผิดบ้างถูกบ้างก็เป็นเรื่องความไม่รู้หรือความโง่ของตัวละคร แต่ได้เริ่มเขียนแบบนี้แล้ว ก็จะพยายามต่อไป ได้ไม่ได้ก็อย่าได้ว่ากันนะครับ

2.เรามักจะคิดเอาเพียงง่ายๆว่า มนุษย์นั้นคือสภาพอันหนึ่งที่มีส่วนประกอบเพียง 2 อย่างเท่านั้น คือ กายกับใจ  แต่ในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์มีส่วนประกอบต่างๆอย่างสมบูรณ์และสลับซับซ้อนมากยิ่งกว่าที่เราจะเข้าใจได้แจ่มแจ้ง  สิ่งแรกที่จะต้องพิจารณาก็คือ อะไรเป็นตัวจริงของเรา “หลักทั่วไปในทางพระพุทธศาสนาถือว่าตัวตนของเราไม่มี แต่ในลัทธิโยคีถือว่าตัวจริงของมนุษย์ คือดวงวิญญาณ ที่มีอยู่ชั่วกัลปาวสาน (ลัทธิโยคีเขาไม่มีนิพพาน) ถึงแม้ว่าร่างกายหรือสิ่งอื่นๆจะเปลี่ยนแปลงทำลายเกิดใหม่อย่างไร ดวงวิญญาณซึ่งเป็นตัวจริงจะอยู่คงที่ คงเป็นดวงวิญญาณดวงเดิมอยู่เสมอ”(2553.12)

3.“ในลัทธิโยคี ถือว่าในตัวมนุษย์เรามี 7 ชั้น ได้แก่ 7 ) ดวงวิญญาณ 6)ดวงจิต 5) ปัญญา 4)สัญญา 5)ปราณ 2)เจตภูต หรือกายทิพย์ 1) ร่างกาย (2553.12-13)

ดวงวิญญาณจะอยู่ชั้นในที่สุดและสิ่งอื่นๆเท่ากับเป็นกำแพง 6 ชั้น ล้อมรอบดวงวิญญาณ ซึ่งผมได้นำเสนอเรื่องปัญญาและสัญญา แต่พอสังเขปไปแล้ว วันนี้จะว่าเรื่องกาย ต่อด้วยส่วนอื่นๆ พอสังเขปเช่นกันไปตามลำดับ

4.ในบรรดาส่วนประกอบของสภาพที่เราเรียกว่ามนุษย์นั้น กาย ถือได้ว่าเป็นส่วนที่เห็นได้ง่ายอยู่นอกสุดและหยาบที่สุด แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่า กาย นั้นไม่สำคัญ เพราะถ้าไม่มีกาย ส่วนประกอบอื่นๆก็ดำรงอยู่ไม่ได้ ดังนั้นจึงจะต้องรักษากายไว้ให้ดี ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นภาระสำคัญและหนักหน่วงที่จะต้องรักษาไว้ให้นานและดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ ทั้งนี้เพื่อรักษาสภาพอันหนึ่งที่เรียกว่าคน หรือ มนุษย์นี้

5.ร่างกายของมนุษย์ มีผิวหนังที่หุ้มห่อร่างกาย ผิวหนังนี้มีรูเล็กๆอยู่ทั่วไป เรียกว่าขุมขน ทุกขุมขนมีชีวิตและมีความรู้สึก มีปัญญา และมีความสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ไปตามปกติ เช่น รับเอาสิ่งที่มีประโยชน์เข้าไปในร่างกาย หรือขับของเสียออกจากร่างกาย ขุมขนเหล่านี้ยังมีความสามารถในการรักษาตนเอง เช่น เมื่อเกิดบาดแผลเล็กน้อยก็มีเครื่องทำให้แผลหายเองโดยไม่ต้องใส่ยา แต่ถ้ามีบาดแผลหรือโรคร้ายที่เกินกำลัง จึงต้องอาศัยการรักษา

6.เมื่อความตายมาถึง รูขุมขนบนผิวหนังก็จะตายไปด้วย ช่องหรือรูเล็กๆจะแยกออก ทำให้ศพพองโตขึ้นอืด ต่อจากนั้นธาตุต่างๆที่ประชุมกันอยู่เป็นร่างกายก็แยกกันออกไป ส่วนที่เข้นแข็งก็กลายเป็นดิน ส่วนที่เหลวก็กลายเป็นน้ำ และเมื่อร่างกายถูกทำลายไปแล้ว ปราณและดวงวิญญาณก็ออกจากร่างไป ไปสถิตอยู่ตามที่ต่างๆ อาจเกิดในร่างใหม่ หรือเป็นสัมภเวสีวนเวียนอยู่ตามเส้นทางสัญจรไปมาทั่วไป “ลัทธิโยคีนั้นจึงถือว่า ความตายมิได้ทำอะไรให้สูญ ความตายเป็นการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น และเมื่อเป็นดังนี้ ความตายจึงไม่ใช่ของที่น่าพึงกลัวเลย”(14) ซึ่งสอดคล้องกับ ประมวล เพ็งจันทร์ความว่า “ถึงวันหนึ่งเราจะมีความสุข แม้กระทั่งยามเมื่อเราเจ็บป่วยใกล้จะตาย เพราะอะไรครับ เพราะความรู้สึกเจ็บป่วยใกล้ตาย คือหมายความถึงว่า ภาระแห่งการแบกรับสังขารนี้ เรากำลังจะปลดเปลื้องแล้ว ถ้าหากสังขารนี้เราต้องแบบต้องถือ เราจะโยนทิ้งก็ไม่ได้ ถึงที่หมายแล้ว เราวางสิ่งนี้ลงด้วยความรู้สึกขอบพระคุณเป็นที่สุด”(2552.150)

7.เนื่องจากเราไม่สามารถปลดเปลื้องการแบบรับสังขารนี้ได้ตามใจ ทางเลือกของเราก็คือ ดูแลสังขารนี้ต่อไปให้ดีที่สุด ใช้บั้นปลายชีวิตที่เหลืออีกไม่นานนัก ด้วยความเชื่อมั่นในความดีงาม เกื้อกูลอาทรซึ่งกันและกัน ด้วยดวงใจที่เบิกบาน และกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างมีความสุข

………

ประมวล เพ็งจันทร์.(2552) เราจะเดินไปไหนกัน.กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ.

วิจิตรวาทการ,พลตรี,หลวง.(2553).ลัทธิโยคีและมายาศาสตร์.พิมพ์ครั้งที่ 2 .กรุงเทพฯ สาร้างสรรค์บุ๊คส์.

ความคิดเห็น Ni Pon : เมื่อร่างกายถูกระวาง ส่วนที่เคยอยู่ร่วมกับร่างกาย เดินทางไปอย่างไร ไปไหน เราไม่รู้ ที่รู้คือต้องกำจัดร่างที่ถูกทิ้งไว้ จะเก็บจะเผาก็ทำไปตามความเชื่อ แล้วทุกอย่างก็จบสิ้น ตั้งแต่ก่อนคริสต์กาลนับพันปี ชาวอียิปต์โบราณก็ไม่ได้โศกเศร้าในเรื่องความตาย ถ้าเราเข้าใจอย่างที่ท่านประมวล เพ็งจันทร์ กล่าวว่า ภาระแห่งการแบกสังขารได้ปลดเปลื้องลงแล้ว. แต่ความรู้สึกว่าการพลัดพรากเปืนทุกข์ การจัดการเรื่องศพจึงดูเป็นเรื่องเศร้าหมอง แต่..ไม่นานเราก็ลืม ลืมไปด้วยว่าคนคนนั้นเคยมีตัวตนในโลกนี้ โลกเป็นที่อยู่ของคนเป็นๆเท่านั้น

….

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *