ปราสาทเขาน้อย ตัวอย่างการทำร้ายโบราณสถาน

ปราสาทเขาน้อย

ตัวอย่างการทำร้ายโบราณสถาน

รศ.วิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ

พิมพ์เผยแพร่ใน  สยามรัฐรายวัน วันที่ 17  กุมภาพันธ์  2541

“ความกระตือรือร้นแต่แรกที่จะไปดูปราสาทเขา น้อยก็เลยหมดไป เพราะปราสาทดังกล่าว คงไม่หลงเหลือวิญญาณที่แท้จริงให้ได้ชื่นชมอีกต่อไปแล้ว”

ผม กับอาจารย์เทพมนตรี ลิมปพยอม ประธานชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุและสิ่งแวดล้อม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและคุณประยุกต์ บุนนาค จากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ได้ไปชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรี จังหวังปราจีนบุรี ก็ตั้งใจว่าจะไปดูทับหลังของปราสาทเขาน้อย จังหวัดสระแก้ว (แต่เดิมอยู่ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี) ที่จัดแสดงเป็นการถาวรไว้ที่นั่น ทับหลังชุดนี้เคยนำไปจัดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทยปีพุทธ ศักราช 2533 เรื่องปราสาทเขาน้อง จังหวัดปราจีนบุรี ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครเมื่อระหว่างวันที่ 4 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2533
ส่วนปราสาทเขาน้องที่ตั้งอยู่บนยอดภูเขาน้อย ในเขตหมู่ 1 ตำบลคลองคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ใกล้เขตชายแดนไทย – กัมพูชานั้น พวกเรายังไม่ได้ไปดู เนื่องจากอยู่ไกล เวลาไม่พอ ฉะนั้น วันนี้ จะยังไม่พูดถึงปราสาทเขาน้อย แต่จะพูดถึงทับหลังที่ได้ไปดูมา

ทับหลังของปราสาทเขาน้อยที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรีนั้น มีทั้งหมด 5 ชิ้น บางชิ้นสีเขียว บางชิ้นสีขาวแต่ละชิ้นมีความงามสดุดตาสดุดใจ ผู้หลงใหลในศิลปะร่วมแบบเขมรในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง จะขอกล่าวรายละเอียดของทับหลังทั้ง 5 ชิ้น แต่พอสังเขป ดังนี้

ทับหลังหมายเลข 1 เป็นทับหลังประตูทางเข้าปราสาทองค์กลาง แกะสลักด้วยหินทรายเดิมยังติดอยู่เหนือกรอบประตูทุกทางเข้าปราสาทแต่เมื่อปี พ.ศ. 2531 ได้ถูกลักลอบถอดออกไป แต่หน่วยศิลปากรที่ 5 ได้ติดตามเอากลับคืนมาได้เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2531 ในสภาพที่แตกหักออกเป็นสองท่อน ทับหลังชิ้นนี้ แกะสลักเป็นรูปมกรมีคนขี่ มกรคายมาลัยออกมาเป็นวงโค้งรูปปีกกาต่อเนื่องเป็นท่อนเดียวกัน บนท่อนพวงมาลัย แกะสลักเป็นพวกดอกได้รูปไข่ 3 พวง ใต้ท่อนพวงมาลัย แกะสลักเป็นพวงมาลัยและพวงอุบะขอบด้านบนแกะสลักเป็นพวงดอกไม้รูปไข่วางตามแนวนอนลวดลายของทับหลังมีลักษณะคล้ายกับทับหลังของศิลปะเขมรแบบสมโบร์ ไพรกุก มีอายุราว พ.ศ. 1150 – 1200
ส่วนทับหลังอีก 4 ชิ้น พบที่ปราสาทองค์ด้านทิศเหนือในขณะขุดแต่ง เมื่อปี 2531 – 2532 ได้แก่

ทับหลังหมายเลข 2 พบบริเวณทางเข้าปราสาทด้านทิศตะวันออกเป็นทับหลังแกะสลักด้วยหินทรายเนื้อละเอียดสีเขียวเป็นภาพบุคคลนั่งประคองอัญชลีอยู่บนแท่นที่ส่วนปลายของทับหลังทั้งสองข้าง ตรงกลางเป็นท่อนพวงมาลัยที่ปลายทำเป็นลายใบไม้โค้งเข้าหากัน บนท่อนพวงมาลัยแกะสลักเป็นพวงดอกไม้รูปไข่ 3 พวง ใต้ท่อนพวงมาลัยแกะสลักเป็นพวงมาลัยและพวงอุบะลวดลายของทับหลังมีลักษณะคล้ายคลึงกับทับหลังของศิลปะเขมรแบบไพรกเม็ง มีอายุราว พ.ศ. 1180 – 1250

ทับหลังหมายเลข 3 พบบริเวณประตูหลอกด้านทิศใต้แกะสลักด้วยหินทรายเนื้อหยาบสีขาว เป็นภาพมกรมีคนขี่ ยื่นบนแท่น มกรคายท่อนพวงมาลัยออกมาเป็นวงโค้งรูปปีกกาต่อเนื่องเป็นท่อนเดียวกัน บนท่อนพวงมาลัยแกะสลักเป็นพวงดอกไม้ 3 พวงใต้ท่อนพวงมาลัยแกะสลักเป็นพวงมาลัยและพวงอุบะ ลวดลายของทับหลังมีลักษณะคล้ายคลึงกับทับหลังของศิลปะเขมรแบบสมโบร์ไพรกุก

ทับหมายเลข 4 พบที่บริเวณประตูหลอกด้านทิศตะวันตกแกะสลักด้วยหินทรายเนื้อละเอียดสีเขียว เป็นรูปสิงห์ยืนบนแท่นที่ส่วนปลายของทับหลังทั้งสองข้าง ตรงกลางเป็นลายท่อนพวงมาลัยที่ทำปลายเป็นวงโค้งเข้าหากัน บนท่อนพวงมาลัย แกะสลักเป็นพวงดอกไม้รูปไข่ 5 พวง ใต้ท่อนพวงมาลัยแกะสลักเป็นพวงมาลัยสลับพวงอุบะ ลวดลายของทบหลังมีลักษณะคล้ายคลึงกับทับหลังของศิลปะเขมรแบบไพรกเม็ง

ทับหลังหมายเลข 5 พบที่บริเวณประตูหลอก ด้านทิศเหนือแกะสลักด้วยหินทรายเนื้อหยาบสีค่อนข้างขาว เป็นภาพมกร มีคนขี่ยืนบนแท่นที่ส่วนปลายของทับหลังทั้งสองข้าง มกรคายท่อนพวงมาลัยแกะสลักเป็นพวงดอกไม้รูปไข่ 3 พวง ใต้ท่อนพวงมาลัยแกะสลักเป็นพวงมาลัยสลับพวงอุบะ ลวดลายของทับหลังมีลักษณะคล้ายคลึงกับทับหลังของศิลปะเขมรแบบสมโบร์ ไพรกุก
ทับหลังแต่ละชิ้นล้วนเป็นทับหลังที่น่าสนใจศึกษาแทบทั้งสิ้นเพราะเป็นทับหลังสมัยก่อนเมืองพระนคร ที่พบในประเทศไทย ซึ่งมีอายุเก่าแก่ถึงพุทธศตวรรษที่ 12 – 14

ความจริงที่พวกเราไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติปราจีนบุรีนั้นเพราะสงสัยกันว่า ทับหลังจากปราสาทเขาน้อย โดยเฉพาะทับหลังหมายเลข 4 น่าจะมีมากกว่า 1 ชิ้น เพราะภาพถ่ายจากหนังสือและภาพโปสการ์ด มีลักษณะแตกต่างกัน พวกเราคิดว่า ภาพดังกล่าวไม่น่าจะถ่ายมาจากโบราณวัตถุชิ้นเดียวกัน ก็เลยต้องไปดูและเมื่อไปถึง ก็ไม่ต้องพิสูจน์อะไร เพราะทราบจากเจ้าหน้าที่ว่าทับหลังจากปราสาทเขาน้อยนั้น ได้มีการจำลอง โดยวิธีถอดพิมพ์จากของจริงไว้หลายชุด และเท่าที่ทราบ มี 4 ชุด แต่ละชุดเก็บไว้ตามที่ต่าง ๆ ดังนี้

ชุดที่ 1 เป็นทับหลังที่เชื่อกันว่าเป็นของจริง เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑแห่งชาติปราจีนบุรี
ชุดที่ 2 เป็นทับหลังจำลอง ติดตั้งแทนของจริงไว้ที่ปราสาทเขาน้อย จ. สระแก้ว
ชุดที่ 3 เป็นทับหลังจำลองเก็บไว้ที่เมืองศรีมโหสถ อ.โคกปีบ จ.ปราจีนบุรี
ชุดที่ 4 เป็นทับหลังจำลอง มี 3 ชิ้น ไม่ครบชุด เป็นทับหลังหมายเลข 2 จำนวน 2 ชิ้น และทับหลังหมายเลข 4 จำนวน 1 ชิ้น พิงไว้ข้างฝาบ้านพัก ที่สำนักงานโบราณคดีฯ ปราจีนบุรี

ข้อมูลนี้ช๊อคผมมากครับ ตื้อไปหมด งุนงง สับสน คิดไม่ออก ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องจำลองทับหลังกันเป็นจำนวนมากถึงขนาดนนั้นและทำไมต้องนำทับหลังจำลอง(ของปลอม) ไปติดตั้งแทนของจริง เสียความรู้สึกหมด มันเป็นการทำร้ายโบราณสถาน เปรียบเสมือนการที่เราตั้งใจจะไปชมสิ่งของอันล้ำค่า และอุตสาห์ดั้งด้นไปจนถึงที่แต่ปรากฎว่า สิ่งที่ได้เห็นนั้นเป็นเพียงของปลอม จึงเกิดความรู้สึกว่าถ้าจะดูของปลอมก็ไม่จำเป็นต้องใช้ความพยายามถึงขนาดนั้น ดูที่ไหนก็ได้ ดังนั้นความกระตือรือร้นแต่แรกที่จะไปดูปราสาทเขาน้อยก็เลยหมดไป เพราะปราสาทดังกล่าว คงไม่หลงเหลือวิญญาณที่แท้จริงให้ได้ชื่นชมอีกต่อไป

หนังสืออ้างอิง

วิสันธนี โพธิสุนทรปราสาทเขาน้อย จังหวัดปราจีนบุรีกรมศิลปากร2533.

……..

พิมพ์เผยแพร่ใน สยามรัฐรายวัน วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2541

Comments are closed.