ฌฺมัวะปราซาดทมอฺ(ชื่อปราสาท)

ฌฺมัวะปราซาดทมอฺ(ชื่อปราสาท)

รศ.วิสุทธิ์  ภิญโญวาณิชกะ

ภาพ : ปราสาทเขาน้อย  จังหวัดสระแก้ว

“ในอดีต ปราสาทที่ได้เอ่ยนามมาแล้วนั้น ล้วนมีความสำคัญ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของผู้เสื่อมใสศรัทธา มีผู้คนดูแลรักษาเป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันปรากฏว่า ปราสาทเหล่านั้นอยู่ในสภาพปรักหักพัง ขาดคนเอาใจใส่ดูแลรักษา อาจทำให้มองเห็นสัจธรรมของความเจริญรุ่งเรืองและความเสื่อมของอำนาขและความดับสูญของสรรพสิ่งทั้งปวง”

ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของผู้ที่ไม่รู้ภาษาเขมร แต่สนใจศึกษาศิลปะเขมร และสถาปัตยกรรมร่วมแบบเขมรในประเทศไทยหรือปราสาทหิน ก็คือ ชื่อปราสาท ทั้งนี้เพราะชื่อปราสาทต่างๆ ที่ตั้งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปทางภาคอีสานโดยเฉพาะอย่างยิ่งอีสานตอนใต้นั้น มาจากหลายภาษา มีทั้งภาษาไทย ภาษาลาว ภาษาเขมร ภาษาส่วยและภาษาท้องถิ่น บางชื่อก็มาจากต่างภาษาผสมกัน จึงทำให้จำยาก ออกเสียงลำบาก และไม่เข้าใจความหมายของชื่อเหล่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม ชื่อของปราสาทส่วนใหญ่จะเป็นภาษาไทย ส่วนที่เป็นภาษาลาว ก็เข้าใจได้ง่าย เพราะภาษาคล้ายคลึงกัน และคุ้นเคยดีอยู่แล้ว แต่ซื่อที่เป็นภาษาเขมร เช่น ปราสาทสดกก๊อกธมกิ่งอำเภอโคกสูง จังหวัด สระแก้ว ฟังไม่ค่อยคุ้นหู ก็อาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ชื่อที่เป็นภาษาเขมร ก็มีไม่มากนัก พอจดจำทำความเข้าใจกันได้ ก็จะขอนำชื่อเหล่านั้นสัก 2 – 3 ชื่อมาวิเคราะห์หาความหมาย พอให้เข้าใจเพื่อเป็นส่วนช่วยเสริมในการศึกษาศิลปะเขมรและศิลปะร่วมแบบเขมร ในประเทศไทยต่อไป
การวิเคราะห์ภาษาคงต้องหาคนช่วย เพราะรู้ภาษาเขมรเพียงเล็กน้อย ก็ได้ผู้ช่วยศาสตราจารย์สัทธา อาริยะธุกันต์ อาจารย์ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ผู้เชียวชาญด้านการอ่านจารึกและภาษาโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาเขมร ช่วยกันวิเคราะห์ ดังนั้น ความดีก็คงต้องมอบให้แก่ท่านและขอขอบพระคุณอย่างสูงไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย

ชื่อของปราสาทที่เป็นภาษาเขมรนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่แถวจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีษะเกษ อุบลราชธานี สระแก้ว ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนประเทศเขมา ส่วนจังหวัดที่อยู่ห่างชายแดนออกไป เช่น จังหวัดนครราชสีมา ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สกลนคร ฯลฯ ชื่อปราสาทมักจะเป็นภาษาไทยหรือภาษาลาว จะหลงเหลือเป็นภาษาเขมรอยู่บ้างก็น้อยมาก เช่น ปราสาทนารายณ์เจงเวง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นต้น
บทความนี้ จะนำชื่อปราสาทหินที่เป็นภาษาเขมร มาวิเคราะห์ความหมายที่น่าจะเป็นไปได้ และสมเหตุสมผลสัก 2 – 3 ชื่อเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้าต่อไป ปราสาทดังกล่าวได้แก่

1. ปราสาทตระเปียงเตีย ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเกาะ ตำบลลำดวน อำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทที่มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสก่อด้วยอิฐซ้อนกันขึ้นไปสี่ชั้น ยอดทำเป็นทรงดอกบัวตูมมีประตูทางเข้าทางทิศตะวันออก รูปแบบศิลปกรรมเป็นแบบลาวรุ่นสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (กรมศิลปากร.2538:125) ปราสาทแห่งนี้กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขต โบราณสถานแล้วโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478 และเล่มที่ 99 ตอนที่ 155 วันที่ 21 ตุลาคม 2525 เนื้อที่ 1 งาน 33 ตารางวา
ตระเปียงเตีย เป็นภาษาเขมร ถ้าแปลตามตัวอักษร “ตระเปียง” แปลว่า บ่อหรือหลุมที่มนุษย์ขุดขึ้น เป็นสระน้ำ หรือ บาราย ซึ่งปราสาททุกแห่งมักจะมี โดยผู้สร้างปราสาทจะขุดขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในศาสนสถาน-ชุมชน และใช้ดินที่ขุดขึ้นจากสระปรับบริเวณที่จะสร้างปราสาท หรือแหล่งน้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ส่วน “เตีย” แปลว่า เป็ด รวมแล้ว แปลความให้สละสลวยว่า หนองเป็ดน้ำ
นกเป็ดน้ำนั้น ตามปกติมักจะอพยพย้ายถิ่น เมื่ออากาศในแถบที่มันอาศัยอยู่หนาวจัด จะพากันหลบลมหนาวมาหากินในแถบที่อากาศอบอุ่นกว่า
ตระเปียงเตีย ในอดีต น่าจะมีอากาศอบอุ่นสบาย เป็นแหล่งที่มีสัตว์น้ำชุกชุม จึงทำให้มีนกเป็ดน้ำมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
แหล่งโบราณคดี ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ถ้ำเป็ดทอง” (มีจารึกของพระเจ้าจิตเสน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 ) อยู่ที่อำเภอประคำ จังหวัดบุรีรัมย์ ในอดีต อากาศก็คงอบอุ่นสบายดี จึงมีนกเป็ดน้ำมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน
ถ้ำเป็ดทองนี้ ชาวบ้านเล่าขานกันต่อๆ มาว่า วันดีคืนดี (วันเพ็ญ) จะมีเป็ดสีทองลอยเต็มลำน้ำ แต่ไม่เคยมีใครจับตัวมันได้เลยบริเวณนั้นจึงกลายเป็น “อาถรรพ์สถาน” แต่ปัจจุบันชาวบ้านถากถางทำไร่หมด ตัวถ้ำก็ทรุดจนเกือบจะไม่เห็นจารึกแล้ว
อย่างไรก็ตาม การจะทราบว่าปราสาทชื่ออะไรจริงๆ คงต้องหาหลักฐานมาประกอบการสันนิษฐานมากมาย เช่น จารึกที่ปรากฏอยู่ที่ปราสาทแห่งนั้น เป็นต้น แต่การค้นพบ และการตั้งชื่อปราสาทโดยทั่ว ๆ ไป มักตั้งตามภูมินามที่ปรากฏในปัจจุบัน หรือตั้งตามนามผู้สร้าง ตามภาพหรือลวดลายที่ปรากฏบนปราสาท ตามนิทานปรัมปรา หรือ ความเชื่อ (ลัทธิ) ดังนั้น ตระเปียงเตีย จึงเป็นชื่อปราสาทที่ตั้งภูมินาม เพราะมีสระหรือหนองน้ำปรากฏอยู่

2. ปราสาททนง ตั้งอยู่ที่บ้านปราสาททนง ตำบลปราสาททนง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทแห่งนี้เดิมเป็นเนินดินขนาดใหญ่ปัจจุบันได้มีการขุดแต่งแล้วโดยหน่วย ศิลปากรที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2537 พบฐานปราสาทที่ก่อด้วยศิลาแลง 2 ฐานอยู่ใกล้เคียงกัน ตามทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทยของกรมศิลปากร เล่ม 3 จังหวัดสุรินทร์ ไม่ปรากฏหลักฐานการขึ้นทะเบียน
นามปราสาททนง เฉพาะ ทนง ออกสำเนียงเขมรว่า “ทะน็วง” แปลเป็นภาษาไทย คือ ประดู่ แปลโดยรวมคือปราสาทประดู่ซึ่งเป็นภูมินามของบริเวณนั้นว่ามีต้นประดู่เกิด ขึ้นมาก การตั้งชื่อปราสาทตามชื่อต้นไม้ มีปรากฏที่อื่นอีกเช่นปราสาทระแงง(ปราสาทศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์) ซึ่งคำนี้เป็นภาษาเขมร แปลเป็นภาษาไทยคือ ต้นติ้ว หรือ แต้ว ซึ่งมีใบออกรสเปรี้ยว ดอกสีขาวออกชมพู ชาวบ้านนำยอดหรือดอกมาประกอบผักจิ้มหรือแกง ส่วนประดู่ ดอกจะเป็นสีเหลืองอ่อน ออกดอกตามก้านเรียงกันไป ดอกไม่ย้อยเป็นพวงเหมือนดอกชัยพฤกษ์ คนโบราณอาจใช้ดอกประดู่เป็นส่วนประกอบในพิธีกรรมก็เป็นได้ แต่ความสมเหตุสมผลของชื่อปราสาททนง น่าจะเพราะใช้ไม้ประดูสร้างส่วนสำคัญของปราสาท เช่น ประตูหรือฝ้าเพดาน เป็นต้น

3. ปราสาทปลายบัด ตั้งอยู่บนเขาปลายบัดบ้านโคกเมือง ตำบลจระเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ โบราณสถานแห่งนี้มีปราสาทก่ออิฐ เสากรอบประตูและทับหลังทำด้วยหินทราย และบรรณาลัยก่อด้วยศิลาแลง เสากรอบประตูทำด้วยหินทรายทั้งปราสาทและบรรณาลัยอยู่ในสภาพปรักหักพัง ตามทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทยของกรมศิลปากร เล่ม 2 จังหวัดบุรีรัมย์ ไม่ปรากฏหลักฐานการขึ้นทะเบียน
“ปลายบัด” หรือ “ไปรบัด” ไม่ทราบสำเนียงที่ชาวบ้านดั้งเดิมออกเสียงอย่างไร แต่ชื่อที่เป็นทางการคือ ปราสาทปลายบัด ซึ่งถ้าให้สันนิษฐานด้านการกลายเสียง ก็จะได้รสชาติมากยิ่งขึ้น ดูคำว่า “ไปรบัด” ก่อน ถ้าชาวบ้านออกสำเนียงเช่นนี้ ก็แปลว่า ป่าหาย แต่ถ้าเอาคำว่า “ปลายบัด” มาตีความ ก็สามารถตีความได้เป็น 2 นัยคือ
ข้อแรก “ปลาย” เป็นภาษาไทย แปลว่า ยอด ส่วนคำว่า “ บัด “ เป็นภาษาเขมาแปลว่า หาย รวมความว่า ยอดหาย ปราสาทปลายบัดก็แปลว่าปราสาทยอดหาย ที่แปลว่า ปราสาทยอดหายนั้น บางทีชาวบ้านมองปราสาทนี้ซึ่งบังยอดเขาอยู่ มองไม่เห็นยอด จึงเรียกว่าปราสาทยอดหาย หรือปราสาทสร้างไม่เสร็จตามทฤษฎีการสร้างปราสาทของผู้มีอำนาจโบราณ คือ ต้องสร้างไม่ให้เสร็จ บังเอิญค้างเฉพาะส่วนยอดไว้ และสมัยต่อมาก็ไม่มีใครไปสร้างเพิ่มเติม ยอดปราสาทที่สร้างไม่เสร็จก็คงอยู่เช่นนั้น ชาวบ้านที่พบเห็น จึงเรียกว่า “ ปราสาทปลายบัด” หรือปราสาทยอดหายเรื่อยมา
มีข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งของชื่อปราสาทปลายบัด คือ อาจมาจากการเพี้ยนเสียงว่า “ปราสาทปลายบาตร” ที่สันนิฐานอย่างนี้ก็ เพราะศาสนสถานบางแห่ง ได้รับอิทธิพลศาสนาพุทธ ยอดปราสาทอาจทำเป็นรูปคล้ายบาตรพระ ชาวบ้านจึงเรียกตามที่เห็นว่าปราสาทปลายบาตร นานๆ เข้าเสียงจึงกร่อนเป็นปลายบัดได้
ข้อสอง “ปลาย” เป็นภาษาเขมรเพี้ยนมาจากคำว่า “บาราย” ซึ่งคนเขมรพื้นบ้านยังใช้คำว่า “ปลาย” กันทั่วไปในการเรียกหนองน้ำคำเขมรอื่นๆ ที่มีการกลายสียงระหว่าง “ร” และ “ล” มีหลายคำเช่น ก็อนด็อร ออกเสียงเป็น ก็อนด็อล (แปลว่า หนู) ขน็อร ออกเสียง ขน็อล (แปลว่าขนุน) เป็นต้น ดังนั้นคำว่าบารายอาจ เพี้ยนเป็นปลายและแปลรวมว่า “หนองน้ำหาย” ซึ่งถ้าดูสภาพพื้นที่ของปราสาทที่ตั้งอยู่บนยอดเขา แต่ไม่มีแหล่งน้ำใกล้ ๆ ต้องลงไปหาแหล่งน้ำที่เชิงเขาก็น่าจะสันนิษฐานอย่างนั้นได้

4. ปราสาทนารายณ์เจงเวง ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดสกลนครเป็นปราสาทขนาดเล็กสมัยบาปวน องค์ปราสาทมีประตูทางเข้าทางทิศตะวันออก ส่วนประตูอีก 3 ด้าน เป็นประตูหลอกทับหลังของปราสาทเป็นภาพแกะสลักเรื่องพระกฤษณะต่อสู้กับสิงห์ ส่วนหน้าบันแกะสลักเรื่องศิวนาฏราชและนารายณ์บรรทมสินธุ์
คำว่า “เจงเวง” เป็นภาษาเขมรที่แปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจากแปลว่า “พระบาทยาว” รวมความแปลว่า “ปราสาทนารายณ์พระบาทยาว” “เจง” มาจากเจิง แปลว่า ขา (พระบาท) “เวง” มาจาก “แวง” แปลว่ายาว นับเป็นชื่อปราสาทที่ออกสำเนียงตามการพูดมากกว่าจะดูที่การสะกดเพราะชื่อ หมู่บ้านส่วนใหญ่มักออก “แวง” ทั้งนั้น เช่น บ้านหนองแวง บ้านหนองแวงควง บ้านโคกแวง บ้านสามแวง บ้านดงแวง ฯลฯ ชื่อปราสาทนี้ออกจะแสดงถึงความชั่งสังเกตของชาวบ้านที่ไปพบเห็นว่า ภาพแกะสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์บนหน้าบันด้านทิศเหนือของปราสาท มีจุดเด่นที่พระนารายณ์มีพระบาทยาว จึงตั้งชื่อปราสาทว่า นารายณ์เจงเวง หรือ อาจตั้งตามเทวนิยายเรื่อง วามนาวตาร วิษณุตรีวิกรม หรือที่รู้จักกันดีว่า “นารายณ์ย่างสามขุม” เรื่องก็มีอยู่ว่าท้าวพลีซึ่งเป็นอสูรได้ทำพิธีบูชายัญ ทำให้มีฤทธิ์เพิ่มขึ้นมากมาย จนสามารถยึดมนุษย์โลกและเทวโลกได้ ทำให้ฝ่ายเทพเดือดร้อน เป็นเหตุให้พระนารายณ์ต้องอวตารลงมาปราบ พระนารายณ์ได้อวตารลงมาเกิดเป็นพราหมณ์เตี้ยชื่อวามน และเข้าไปร่วมพิธีบูชายัญกับท้าวพลี จนสามารถทำให้ท้าวพลีไว้เนื้อเชื่อใจ และสัญญาว่าจะให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่พราหมณ์เตี้ยต้องการ พราหมณ์เตี้ยขอแผ่นดินเพียงสามก้าว ซึ่งท้าวพลีก็ยินดียกให้ พราหมณ์เตี้ยจึงเนรมิตกายให้ใหญ่ขึ้นจนสุดประมาณได้ และก้าวสามก้าวก็ได้โลกทั้งสาม คือมนุษย์ บาดาล และสวรรค์ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ตั้งชื่อปราสาทแห่งนี้ว่านารายณ์พระบาทยาวก็ได้

5. ปราสาทสดกก๊อกธม ตั้งอยู่ที่ตำบลโคกสูง กิ่งอำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว เป็นปราสาทขนาดเล็กสมัยบาปวนสร้างในสมัยพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ในพุทธศตวรรษที่ 11 ปราสาทสดกก๊อกธม ตั้งอยู่ในกำแพงแก้วที่มีโคปุรุหรือทางเข้าทั้ง 4 ทิศ หน้าปราสาทมีบรรณาลัย 2 หลังนอกกำแพงแก้วเป็นบารายโดยรอบเว้นทางเข้าด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ขณะนี้กรมศิลปากรกำลังทำการบูรณะ
“สดก” เป็นภาษาเขมร แปลว่า รก ทึบ หนา ก๊อก อาจมาจากคำว่า “กก” แปลว่านก ประเภทนกยาง นกกระสา หรือมาจาก กุก ซึ่งแปลว่าต้นกก ที่ชาวบ้านนำมาทอเสื่อ หรือ ก๊อก เพี้ยนมาจากคำว่า “โคก” ซึ่งแปลว่า โคก เนิน ส่วน ธม แปลว่า ใหญ่ ถ้าจะแปลตามที่แจกศัพท์ คำว่า “สดกก๊อกธม” อาจแปลได้ว่า
ปราสาทนกยางใหญ่มีจำนวนมาก
ปราสาทที่มีต้นกกขึ้นหนาแน่นมาก (ลำต้นใหญ่)
ปราสาทโคกใหญ่ (ป่า) รก ทึบ
ส่วนที่มีการเรียก “กก” แปลเป็นโคนไม้ ตามภาษาไทยพื้นบ้าน อาจแปลได้เช่นกันว่า ปราสาทที่มีโคนไม้ใหญ่ๆ หนาทึบแต่ถ้าจะแปลให้ได้ความสมเหตุสมผล ก็คือ ปราสาทที่มีต้นกกขึ้นรกหนาทึบมากกว่า เพราะโดยรอบปราสาทมีบารายและมีต้นกกขึ้นเต็มไปหมด

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะแปลหรือเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม ความสำคัญของปราสาทสดกก๊อกธม มิใช่อยู่แต่เพียงเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่เท่านั้น แต่จารึกพบที่ปราสาทแห่งนี้ จำนวน 2 หลักนั้น มีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ ราชวงศ์เขมรเป็นอย่างมากเพราะจารึกได้กล่าวถึงลำดับราชวงศ์ของกษัตริย์เขมร ไว้ค่อนข้างละเอียด
สรุปได้ว่า ชื่อปราสาทหินซึ่งส่วนหนึ่งเป็นภาษาเขมรนั้น มักเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นใหม่ตามภูมินามที่ปราสาทนั้นตั้งอยู่ หรือตั้งตามชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียง บุคคลหรือครอบครัวแรกที่อพยพเข้ามาอยู่ในบริเวณนั้น ตั้งตามภาษาถิ่นที่ชุมชนเหล่านั้นใช้สื่อสาร ตามลักษณะของรูปภาพและลวดลายที่ประดับตกแต่งปราสาท หรือตามนิยาย ปรัมปราและความเชื่อของชุมชน การรู้ความหมายของชื่อปราสาทคงจะเพิ่มรสชาติในการศึกษาศิลปะร่วมแบบเมรใน ประเทศไทยให้แก่ผู้สนใจมากยิ่งขึ้น เพราะอย่างน้อยก็ได้เห็นสภาพโดยรวมบริเวณชุมชนที่ปราสาทนั้นตั้งอยู่ แต่จะให้ดีก็ต้องเข้าไปสัมผัสชุมชน สัมผัสปราสาทเหล่านั้นด้วยตัวท่านเอง เป็นบรรยากาศอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจมากครับ
แต่อย่างไรก็ตาม ในอดีต ปราสาทที่ได้เอ่ยนามมาแล้วนั้นล้วนมีความสำคัญ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของผู้ที่เสื่อมใสศรัทธา มีผู้คนดูแลรักษาอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ปราสาทสดกก๊อกธม ปรากฏว่ามีผู้ดูแลทั้งข้างขึ้นและข้างแรมถึง 151 คน แต่ในปัจจุบันปรากฏว่า ปราสาทเหล่านั้นอยู่ในสภาพปรักหักพัง ขาดคนเอาใจใส่ดูแลรักษา อาจทำให้มองเห็นสัจธรรมของความเจริญรุ่งเรืองความเสื่อมของอำนาจและความดับ สูญของสรรพสิ่งทั้งปวง

81 thoughts on “ฌฺมัวะปราซาดทมอฺ(ชื่อปราสาท)

  1. การแปลความหมายของปราสาทปลายบัดที่บอกว่า ปลายแปลว่ายอด นั้นไม่สมเหตุสมผลเลย ปราสาทนี้ตั้งอยู่บนเขาปลายบัด น่าจะวิเคราะห์ที่ชื่อของสถานที่ตั้งของปราสาทก่อนนะครับ แต่น่าจะเป็นความหมายอีกอันที่บอกว่าปลายหมายถึงหนองน้ำมากกว่าครับ เพราะว่าคำว่าปลาย บ้านผมหมายถึง ทางน้ำไหลขนาดเล็ก (เล็กกว่าลำห้วย) และก็การที่บอกว่าเพราะว่าบางทีชาวบ้านมองไม่เห็นยอดปราสาทเพราะว่าโดนยอดเขาบังก็ยิ่งไม่สมเหตุสมผล ยอดเขาจะบังยอดปราสาทที่อยู่บนเขาได้อย่างไรครับ

Comments are closed.