โบราณวัตถุ
บุรีรัมย์ จังหวัดชายแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ของประเทศไทย เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณที่สำคัญ เพราะปรากฏว่ามี แหล่งโบราณคดี และโบราณวัตถุสถานกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เช่น ชุมชนโบราณ ปราสาทหิน และแหล่งเตาเผา เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก มีทั้งพระพุทธรูป เทวรูป ใบเสมา และวัตถุอื่นๆ โบราณวัตถุบางส่วนได้นำไปเก็บรักษาไว้ตามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีการจำหน่ายจ่ายแจกและสูญหาย บางชิ้นถูกนำออกไปยังต่างประเทศ ที่สามารถนำกลับคืนมาได้ก็มี และที่ไม่สามารถนำกลับคืนมาได้ก็มี ในที่นี้ขอนำเสนอโบราณวัตถุเพียงบางส่วนที่น่าสนใจ ดังนี้
1.พระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์
พระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์เป็นปฏิมากรรมที่เกี่ยวเนื่องในศาสนาพุทธ ลัทธิหินยานและมหายาน พบทั่วไป ที่น่าสนใจ ได้แก่พระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์จากบ้านฝ้าย ต.ไทยสามัคคี อ. ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งนายเสนอ นาคินทรชาติ ขุดได้โดยบังเอิญ และได้มอบให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งขาติพระนคร เมื่อเดือนมีนาคม พศ 2514 เป็นพระพุทธรูป 1 องค์ และพระโพธิสัตว์ 2 องค์ พระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ดังกล่าว มีรายละเอียด ดังนี้
1.1 พระพุทธรูปประทับยืนตรง หล่อด้วยสำริด สูง 1.10 เมตร พระกรทั้งสองข้างยื่นออกไปข้างหน้า พระกรขวาอยู่ในท่าแสดงธรรม หรือวิตรรกมุทรา พระกรซ้ายนิ้วพระหัตถ์หักหายไป พระเมาลีเป็นรูปกรวย เม็ดพระศกเป็นรูปก้นหอยเล็กๆ พระขนงโก่งต่อกันคล้ายปีกกา มีอูรณาหรือ อุณาโลมอยู่ตรงกลางพระนลาฏ ห่มจีวรคลุมบางแนบพระองค์ ส่วนที่ชำรุดและซ่อมแล้วคือ พระเศียรหักตรงพระศอ พระอังสา พระหัตถ์ซ้ายและข้อพระบาท ด้านหลังมีรอยซ่อมด้วยปูน “เป็นพระพุทธรูปสำริดสมัยทวารวดีที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบในประเทศไทย”
(ฉวีวรรณ วิริยะบุศย์.2516:23)
1.2 พระโพธิสัตว์ ประทับยืนในท่าสัมภังค์ หล่อด้วยสำริด สูง 1.37 เมตร มี 4 กร พระกรหน้าทั้งสองข้างยื่นออกไปข้างหน้าแสดงท่าคล้ายวิตรรกมุทรา พระกรซ้ายด้านหลังยกขึ้นทำท่าคล้ายถือสิ่งของ ส่วนพระกรขวาด้านหลังหักตรงข้อศอก พระเกศาทำเป็นวงซ้อนกัน 4 ชั้นทรงภูษาสั้นบางแนบพระองค์ มีเข็มขัดเส้นเล็กคาดเอว
1.3 พระโพธิสัตว์ ประทับยืนในท่าตริภังค์ หล่อด้วยสำริด สูง .47 เมตร ทรงชฏามุกุฏ ทรงภูษาสั้น มีเข็มขัดผ้าเส้นเล็กๆคาดทับอยู่เหนือพระโสณี และผูกชายเป็นโบว์ที่ด้านหน้า ชายผ้าห้อยอยู่ทางด้านขวาและริ้วชายผ้าทำเป็นเส้นบางๆ พระกรหักตรงข้อศอก พระชงฆ์หักตรงพระชานุ
2. เทวรูป
เทวรูปเป็นปฏิิมากรรมที่เกี่ยวเนื่องในศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์ พบทั่วไป มีทั้งแกะสลักด้วยหินทรายและหล่อด้วยสำริด เช่น พระนารายณ์ พระอุมา พระพรหม และเทพประจำทิศต่างๆ ที่น่าสนใจได้แก่เทวรูปจากปราสาทหินพนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ขอนำเสนอตัวอย่างเพียง 2 องค์ คือ
2.1 พระพรหม ประทับยืนในท่าสัมภังค์ แกะสลักด้วยหินทราย มีสี่พักต์ สี่กร ทรงชฏามุกุฏประดับด้วยแนวลูกประคำ ทรงภูษาจีบเป็นริ้ว ชายภูษาทำเป็นรูปสมอเรือสองชั้น ห้อยอยู่ด้านหน้า คาดทับด้วยสายรัดพระองค์ผ้าโดยคลี่ชายภูษาอีกชายหนึ่งเป็นรูปพัด เหนือสายรัดพระองค์นั้น มีชายสายรัดห้อยอยู่ พระกรหักตรงข้อศอก พระชงฆ์หักตรงพระชานุ แต่เดิมจัดแสดงอยูู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ ปัจจุบันได้ย้ายไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
2.2 เทพนารี ประทับยืนในท่าสัมภังค์ แกะสลักด้วยหินทราย ทรงชฏามุกุฏ ประกอบด้วยมวยพระเกศา มีวงพระเกศาใหญ่ห้อยตกลงมายังเชิงมวย ทรงภูษาจีบเป็นริ้วเว้าลงมากใต้พระอุทรและมีชายหางปลาซึ่งมีขนาดใหญ่ตอนปลาย เบื้องหน้าขมวดชายพกมีขนาดเล็กเหนือสายรัดพระองค์ผ้าซึ่งคาดบนพระโสณี พระกรขวาหักที่ข้อศอก พระกรซ้ายหักที่พระอังสา ข้อพระบาทหัก ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร
3. ใบเสมา
ใบเสมา คือ “เขตกำหนดเป็นที่ร่วมกระทำสังฆกรรมของสงฆ์ ตามพุทธบัญญัติกำหนดให้มีขนาดไม่น้อยกว่าเขตหัถตมาสของภิกษุ 21 รูป และมีขนาดไม่ใหญ่กว่า 3 โยชน์ การกำหนดเขตนั้นได้มีอนุญาตให้ทำเครื่องหมายเขตด้วยนิมิต ระบุไว้ในบาลีมี 8 ชนิด คือ ภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ น้ำ จำนวนนิมิตไม่ปรากฏแน่ชัด แต่จะต้องมีไม่น้อยกว่า 3 เพื่อความสมบูรณ์ในการครอบคลุมพื้นที่ และเท่าที่ปรากฏในทางปฏิบัติทั่วไป มีจำนวนถึง 9 แต่ในกรณีที่มีการผูกมหาสีมา อาจมีนิมิตตั้งแต่ 12 ถึง 16 ก็ได้ ปัจจุบันนิยมทำนิมิตเป็นรูปศิลากลมฝังลงในดินและทำใบเสมาปักคล่อมไว้เพื่อเป็นที่หมายของลูกนิมิต” (โชติ กัลยาณมิตร.2518:749)
จังหวัดบุรีรัมย์พบใบเสมาที่เขาอังคาร อำเภอนางรอง และบ้านปะเคียบ ตำบลปะเคียบ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ใบเสมาที่พบทำด้วยศิลา มีขนาดแตกต่างกัน เป็นหลักฐานที่แสดงถึงการแพร่กระจายอิทธิพลของศิลปสมัยทวารดีที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ทางภาคกลางของประเทศไทย
3.1 ใบเสมาเขาอังคาร แกะสลักด้วยหินภูเขาไฟ จำนวน 15 แผ่น มีขนาดสูงตั้งแต่ 1.08 เมตร ถึง 2.10 เมตร ฐานกว้างระหว่าง .23-.90 เมตร หนาตั้งแต่ .15-.32 เมตร มีเพียงแผ่นเดียวที่ไม่ได้
แกะสลักเป็นรูปใดๆ แผ่นที่สมบูรณ์ เป็นภาพสลักที่เป็นของเดิม ทางวัดได้นำไปประดิษฐานไว้ในอาคารด้านตะวันออกคล้ายให้เป็นใบเสมาประธาน แกะสลักเป็นรูปทิพยบุคคลในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ประทับยืนในท่าตริภังค์เล็กน้อยบนแท่นสี่เหลี่ยม ด้านบนเป็นฉัตร สองข้างเป็นพัดโบก ทรงภูษาสั้น มีชายพกข้างขวา ซึ่งเป็นลักษณะศิลปกรรมแบบทวารวดีท้องถิ่นอีสาน (ศิลปากร.2532:104) ส่วนใบเสมาอีก 14 แผ่น อยู่นอกอาคาร แกะสลักเป็นสองแบบ แบบหนึ่งเป็นรูปทิพยบุคคล มีการสร้างต่อเติม ทำให้ลักษณะเปลี่ยนไปหลายประการแต่ยังคงเค้าเดิมให้เห็นว่าส่วนใหญ่ประทับยืนอยู่เหนือดอกบัว หัตถ์ถือดอกบัว ทรงภูษาสั้น มีชายพกข้างขวา อีกแบบหนึ่งสลักเป็นรูปสถูปและดอกบัว,ธรรมจักร ตามแบบศิลปสมัยทวารวดี แต่มีบางแผ่นที่ด้านหนึ่งแกะสลักเป็นรูปสถูป ดอกบัว แต่อีกด้านเป็นรูปทิพยบุคคล จึงอาจสันนิษฐานว่า ใบเสมารูปสถูป, ดอกบัว ธรรมจักร มีมาแต่เดิม ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เจริญขึ้นในแถบนี้จึงนำใบเสมาเก่ามาใช้โดยสลักรูปทิพยบุคคลเพิ่มเติมขึ้น
3.2 ใบเสมาบ้านปะเคียบ เป็นหินทรายและศิลาแลง บางชิ้นแกะสลักเป็นสถูปแบบหยาบๆ มี 3 กลุ่ม กลุ่มแรกอยู่ในบริเวณวัดทรงศิรินาวาส ปัจจุบันนำไปใช้ทำใบเสมาของพระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่ กลุ่มที่สอง ชาวบ้านขนย้ายมาจากที่ต่างๆ รวมกับของที่มีอยู่เดิมในบริเวณที่เรียกว่า “สวนศิลาจากรึก” สี่แยกกลางหมู่บ้าน กลุ่มที่สามเป็นศิลาแลง อยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน ใกล้กับคูเมืองด้านตะวันตก เข้าใจว่าใบเสมาคงอยู่ในตำแหน่งนี้มาแต่เดิม นอกจากนั้น ยังมีการนำใบเสมาบางส่วนไปทำใบเสมาพระอุโบสถที่สร้างใหม่ของวัดสุพลศรัทธาราม บ้านโนนสูง ต. บ้านแพ ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้เคียงกัน
จากตัวอย่างโบราณวัตถุเพียงบางส่วนตามที่เสนอมา จะเห็นได้ว่ามีทั้งรูปแบบที่เป็นศิลปแบบเขมรหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าสมัยลพบุรี เช่น เทวรูปแบบต่าง ๆ และรูปแบบศิลปสมัยทวารวดีที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ทางภาคกลางและภาคอีสานตอนบน เช่น พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ และใบเสมา โบราณวัตถุดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จังหวัดบุรีรัมย์เป็นจัวหวัดที่เป็นเขตเชื่อมต่อของวัฒนธรรมที่แตกต่างกันซึ่งแพรกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณนี้ ดังนั้น ความน่าสนใจและความมีเสน่ห์ของโบราณวัตถุที่พบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบเสมาที่เขาอังคารจึงอยู่ที่รูปแบบของศิลปะที่ผสมผสานกันระหว่างศิลปะแบบเขมรและศิลปะทวารวดีรวมไปถึงลักษณะชาติพันธ์ของผู้คนในท้องถิ่นด้วย นอกจากนั้นพระโพธิสัตว์ 2 องค์ และพระพุทธรูปสมัยทวารวดีอีก 1 องค์ จากบ้านฝ้าย อำเภอลำปลายมาศ อาจเกี่ยวเนื่องกับอาณาจักรศรีจนาศะ ที่เป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญ นอกเหนือจากอารยธรรมเขมรและทวารวดีในบริเวณนี้ด้วยก็ได้
หนังสืออ้างอิง
ฉวีวรรณ วิริยะบุศย์.”ประติมากรรมสำริดจากบ้านฝ้าย อ.ลำปลายมาศ”
ประติมากรรมสำริดชิ้นเยี่ยมจากบ้านฝ้าย ลำปลายมาศ บุรีรัมย์. โรงพิมพ์การศาสนา.2516.
ศิลปากร,กรม แผนที่ทางโบราณคดีจังหวัดบุรีรัมย์. ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.2532.
โชต กัลยาณมิตร. พจนานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปเกี่ยวเนื่อง. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย.2518.
สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์.ปราสาทเขาพนมรุ้ง. พิมพ์ครั้งที่2.สำนักพิมพ์มติชน.2535.
เป็นข้อเขียนบทความวิชาการ ที่ดีมากครับ จะเข้ามาอ่านเรื่อยๆ ครับ
🙂
😮 😆 💡 😀 👿 😥 😎 ➡ 😕 ❓ ❗ 😐 😡 😈 🙂 😯 🙁 🙄 😛 😳
😯 😆 😆 😈 😮 ➡ 😎 👿 ❓ ❗
ไม่รู้ว่าใคร COPY ใคร กับบทความนี้ ตามนี้
http://www.mapculture.org/mambo/index.php?option=com_content&id=0&Itemid=58&limit=9&limitstart=450
ครับผม