จิปาถะ
จงเป็นธุระเลี้ยงดูทั้งกายและใจ
พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “เพ็ชรในหิน” ซึ่งเป็นหนังสือที่พิมพ์เผยแพร่ เพื่อเป็นหิตานุหิต*ประโยชน์ บำรุงความรู้พุทธศาสนิกชนผู้แสวงหาหนทางสัมมาปฏิบัติ โรงพิมพ์พิศาลบรรณนิติ์ กรุงเทพฯ พิมพ์เมื่อ ร,ศ, 127 (พ.ศ.2451) ความตอนหนึ่งว่า
“ร่างกายนั้นต้องการบริหารเลี้ยงดูด้วยอาหาร จึงจะอ้วนพีมีความศุขสำราญ แลใจนั้นก็ต้องบริหารเลี้ยงดูด้วยอาหารเหมือนกัน จึงจะมีกำลังเจริญขึ้นเปนศุขสำราญได้ แต่อาหารที่เลี้ยงกายนั้น จะเอาไปเลี้ยงใจไม่ได้ กายนั้นต้องเลี้ยงด้วยข้าวสุกแลขนมกับอาหารอื่นๆข้างฝ่ายโลก แต่ใจนั้นต้องเลี้ยงด้วยวิชาความรู้ต่างๆข้างฝ่ายธรรม คนพาลมักมัวเพลินเปนธุระเลี้ยงดูแต่ร่างกายอย่างเดียว ครั้นกายทำลายแล้วใจก็เหี่ยวแห้งด้วยอดอาหารได้ความทุกข์ยากลำบากมาก ผู้มีปัญญาเปนผู้ไม่ประมาท เป็นธุระเลี้ยงดูทั้งกายและใจให้อ้วนพีมีความเจริญทั้งสองฝ่าย เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาจึงประสบความศุขทั้งโลกนี้แลโลกหน้าด้วย.(วิธิธวรรณปรีชา.ร,ศ, 127.64-65)
ส่วนผมนั้น ไม่เคยเอาธุระบำรุงเลี้ยงดูทั้งร่างกาย และจิตใจมาตั้งแต่แรก เมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา ร่างกายก็ทำท่าจะไปไม่ไหว ใจก็เช่นเดียวกัน ในโค้งสุดท้ายนี้ จึงหันมาเป็นธุระทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งดูเหมือนว่าจะสายเกินไปไม่น้อย
แต่ก่อนนั้นนอกจากไม่เป็นธุระในการเลี้ยงดูร่างกายแล้ว ยังใช้ร่างกายอย่างฟุ่มเฟือย อาหารที่ใช้บำรุงร่างกายก็มักจะเป็นอาหารที่มีอันตราย เช่น ลาบเลือด ไข่มดแดง กุ้งเต้น ฯลฯ ส่วนเครื่องดื่มก็เป็นประเภทที่ให้โทษ เช่น สุรา เบียร์ สาโท กระแช่ น้ำตาลเมา เป็นต้น และสิ่งที่สูดดมเข้าไปก็เป็นพวกควันพิษ เช่น บุหรี่ ยาเส้น ฯลฯ โชคดีที่ไม่ได้กินยาบ้า นอกจากนั้นร่างกายยังพักผ่อนไม่เพียงพอ เช่น เล่นดัมมี่จนดึกดื่นเที่ยงคืนถึงสว่าง ดังนั้นเมื่อเข้าสู่วัยชรา โรคภัยไข้เจ็บต่างๆก็จะพากันมารุมเร้าให้ต้องเจ็บปวดทุกข์ทรมานได้หนักหนาสากรรจ์ทีเดียว
สิ่งที่เป็นวัตรปฏิบัติในตอนนี้ก็คือ ต้องไปหาหมอไม่ให้ขาด เพราะไม่ต้องการให้หมอมาหา ถ้าหากหมอมาก็จะเอารถ ambulance มาพร้อม อันตรายมากครับ ดีไม่ดีอาจต้องอยู่กับหมอไปเลย คิดแล้วสยอง!
…..
ศัพท์
* หิตานุหิตประโยชน์ = ประโยชน์เกื้อกูล
ร.ศ. 127 + 2324 = พ.ศ. 2451
อ้างอิง
วิวิธวรรณปรีชา.(ร,ศ, 127). เพชรในหิน กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์พิศาลบรรณนิติ์
Comments are closed.