ปีนต้นไม้จับปลา

tree

จิปาถะ

 

ปีนต้นไม้จับปลา

 

มีผู้แสดงความคิดเห็นใน จิปาถะ เรื่อง อาจต้องตบกะโหลก ที่โพสต์เมื่อวันที่  20 พฤศจิกายน 2557

 

ท่านหนึ่งกล่าวว่า  “ตบไปตบมาก็งดงามเอง”

 

ส่วนอีกท่านหนึ่งกล่าวว่า “ก็พยายามตบตีแต่พองาม เหมือนหม้อไหก่อนขึ้นรูปก็ต้องทุบตีดินก่อน เมื่อดินนิ่มเหนียว ค่อยประคองให้เป็นรูป แต่ถ้าขึ้นรูปยังดูบิดเบี้ยว ก็ตบกะโหลก ทิ้งมันไป หมดเรื่องกัน”

 

แต่เพื่อนของผมอีกคนหนึ่งบอกว่า ท่านจะเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์  การที่จะเปลี่ยนคนพาลให้กลับมาเป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรมนั้นไม่สำเร็จหรอก  เหมือนคนจีนที่ชอบเปรียบเปรยความปรารถนาหรือการกระทำใดๆที่ไม่มีทางประสบผลสำเร็จว่าเหมือน“ปีนต้นไม้จับปลา”

 

สำนวนจีน“ปีนต้นไม้จับปลา”เกิดขึ้นในสมัยจั้นกั๋ว ฉีซวนอ๋อง เจ้าเมืองฉี ปรารถนาที่จะเป็นใหญ่ในแผ่นดินจีนทั้งหมด ระดมกำลังหวังพิชิตเมืองต่างๆให้อยู่ในอำนาจ

 

แต่ปราชญ์เมิ่งจื่อ ไม่เห็นด้วย ท่านเสนอแนะว่า การที่จะเอาชนะเมืองอื่นให้ได้นั้นต้องใช้ระบบคุณธรรม  ซึ่งจะต้องทำให้เกิดขึ้นในเมืองของตนก่อน คือ ทำให้ประชนชนอยู่ดีกินดีมีความสุข เมื่อปฏิบัติเช่นนี้ย่อมชนะใจประชาชนทั้งเมืองฉีเองและเมืองอื่นๆไปด้วย   ส่วนการใช้กำลัง หรือใช้อำนาจบาตรใหญ่ นั้น ไม่มีทางที่จะบรรลุเป้าหมายได้

 

ปราชญ์เมิ่งจื่อ ถาม ฉีซวนอ๋อง ว่า ที่ท่านจะใช้ทหารเสี่ยงอันตรายโจมตีเมืองอื่นนั้น ท่านมีเหตุผลอะไร

 

ฉีซวนอ๋องไม่ตอบ เมิ่งจื่อ จึงถามต่อว่า  ท่านขาดแคลนอาหารอันโอชะหรือ เสื้อผ้าอาภรณ์มีไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย หรือเพราะดนตรีไพเราะมีไม่พอให้หูฟังหรือย่างไร ถึงได้ยอมเสี่ยงอันตรายให้ไพร่พลบุกเข้าไปโจมตีเมืองอื่น ซึ่งจะทำให้ประชาชนต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก  และที่ท่านต้องการทำเช่นนั้น ก็เพราะท่านต้องการจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินจีนทั้งหมด ซึ่งข้าพเจ้าจะบอกท่านตรงๆว่า  ความปรารถนาเช่นนั้นเปรียบประดุจปีนต้นไม้จับปลา ไม่มีทางสำเร็จหรอก

 

ส่วนนางแต้มของผมเท่าที่สังเกตดูก็มีพฤติกรรมในทำนองเดียวกับ ฉีซวนอ๋อง คือต้องการมีอำนาจเหนือผู้คนในองค์กร เพื่อจะได้สามารถกำหนดโน่นนี่ได้ตามใจชอบ เมื่อสามารถควบคุมได้แล้ว  การสนองความโลภของตนก็จะประสบผลสำเร็จได้โดยง่าย ไม่มีใครกล้าขัดขวาง  แต่ผมก็จะบอกเธอตรงๆว่า ความปรารถนาเช่นนั้นเปรียบประดุจปีนต้นไม้จับปลา ไม่มีทางสำเร็จหรอก

 

………

 

อ้างอิง

 

ส.สุวรรณ.(2541).สำนวนจีน.พิมพ์ครั้งที่ 3 .กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พิราบ.