ตายน้ำตื้น

วิสุทธิ์ ตูน 29 มกราคม 2552

วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11279 มติชนรายวั

“บุญจง”แจกเงิน-นามบัตร ส่อขัด”รธน.”

กฤษฎีกาชี้ทำไม่ได้ มีสิทธิถูกถอดถอน

เปิดบันทึกความเห็นกฤษฎีกามัดคอ”บุญจง วงศ์ไตรรัตน์”แจกเงินหลวงให้ชาวบ้าน พร้อมนามบัตร ส่อขัดรัฐธรรมนูญ ม.266 ชัด ระบุเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ฝ่ายค้านเข้าชื่อยื่น ปธ.สภาให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถอดถอน มท.2 ออกจากตำแหน่งได้ “สุเทพ”บอกไม่ใช่เรื่องใหญ่


กรณีที่นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนางกาญจนา วงศ์ไตรรัตน์ อดีตสมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) นครราชสีมา ภรรยาแจกเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้จากงบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้กับผู้ขอรับการสงเคราะห์ ใน ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย จำนวน 200 คน คนละ 500 บาท รวม 100,000 บาท พร้อมแจกนามบัตรนายบุญจงไปด้วย นอกจากนี้ยังมีนายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมการปกครอง และนายอำเภอโชคชัยร่วมกันแจกผ้าห่มด้วย ที่บ้านพักนายบุญจง เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมานั้น

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า การนำงบประมาณหลวงมาแจกจ่ายให้แก่ราษฎรที่บ้านของ ส.ส.ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่เป็นผู้บังคับบัญชาของนายอำเภอและอธิบดีกรมการปกครอง พร้อมกับแจกนามบัตรของตนเองในฐานะ ส.ส.เป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 ที่ห้าม ส.สใช้สถานะหรือตำแหน่งเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของพรรคการเมืองไม่ว่าโดยตรงหรือโดยทางอ้อม

เมื่อวันที่ 25 มกราคม “มติชนออนไลน์” ได้ตรวจสอบความเห็นทางกฎหมายในเรื่องนี้พบว่า มีบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (เรื่องเสร็จที่ 573/2551) เคยให้ความเห็นในลักษณะทำนองเดียวกันไว้ว่า อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ตาม และอาจเป็นเหตุให้ผู้กระทำการเช่นนั้นถูกถอดถอนได้ตามรัฐธรรมนูญ

รายละเอียดของบันทึกดังกล่าว กรุงเทพ มหานครได้มีหนังสือ ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2550 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุป ความได้ว่า ตามที่กรุงเทพมหานครได้จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 และงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551 เสร็จแล้ว ซึ่งมีประเด็นปัญหาคือ การใช้จ่ายงบแปรญัตติของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการวิสามัญที่สภากรุงเทพมหานครแต่งตั้ง จะมีการติดข้อความบนสิ่งของหรือปิดประกาศว่าเป็นงบประมาณของกรุงเทพมหานครโดยการเสนอของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครในโครงการต่างๆ ได้หรือไม่ อย่างไร

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) มีความเห็นว่า เมื่อมาตรา 284 ว่าด้วยเรื่องสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้นำบทบัญญัติมาตรา 266 มาใช้บังคับกับสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี ด้วยโดยอนุโลม

โดยบทบัญญัติดังกล่าวได้ห้ามสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซง เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

กรณีการติดข้อความบนสิ่งของหรือปิดประกาศว่าเป็นงบประมาณของกรุงเทพมหานครโดยการเสนอของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จึงอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามหมวด 12 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 2 การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และอาจเป็นเหตุให้ผู้กระทำการเช่นนั้นถูกถอดถอนได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

จากบันทึกของคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังกล่าวเห็นได้ว่า “การติดข้อความบนสิ่งของ หรือปิดประกาศว่าเป็นงบประมาณของกรุงเทพ มหานครโดยการเสนอของสมาชิกสภากรุงเทพ มหานคร” กับการ “แจกเงินหลวงพร้อมกับนามบัตรของ ส.ส.” มีนัยยะที่ไม่แตกต่างกัน

นอกจากนั้น การนำเงินหลวงมาแจกชาวบ้านที่บ้านพักของรัฐมนตรีที่เป็นผู้บังคับบัญชาของอธิบดีกรมการปกครองและนายอำเภอแทนที่จะแจก ณ ที่ว่าการอำเภอก็มีนัยยะในลักษณะเดียวกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา

ดังนั้น หากพรรคฝ่ายค้านต้องการทำเรื่องนี้ให้กระจ่างสามารถเข้าชื่อกันจำนวน 1 ใน 10 ของ ส.ส.จำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ยื่นเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอนนายบุญจงเพราะกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญทั้งในฐานะ ส.ส.และรัฐมนตรีตามมาตรา 91 และมาตรา 182(7) และอาจจะยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฐานการละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยก็ได้

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นางกาญจนา วงศ์ไตรรัตน์ อดีตสมาชิกสภาจังหวัดนครราชสีมา ภรรยานายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางไปแจกเงินช่วยเหลือชาวบ้านจำนวน 500 บาทพร้อมแนบนามบัตรของนายบุญจง ที่ จ.นครราชสีมา ว่า ไม่ทราบเหตุการณ์ ผู้สื่อ ข่าวถามว่า โดยหลักการการแจกเงินพร้อมแนบนามบัตรไปด้วยถูกต้องหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า คงวิจารณ์ไม่ได้ เพราะไม่รู้ข้อเท็จจริง เมื่อ ถามว่า เป็นการนำเงินของกระทรวง พม. ไปใช้ ถูกต้องหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ไม่ทราบว่า เขาทำอย่างไร แต่สมัยก่อนการแจกเอกสารสิทธิบางทีก็ให้ผู้ใหญ่อีกกระทรวงเป็นคนให้ เพราะชาวบ้านจะพอใจที่ได้รับของจากรัฐมนตรี ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ยกเว้นถ้ารัฐบาลให้เงินไป 500 บาท ถูกอม 400 บาท เหลือแจกเพียง 100 บาท อย่างนี้ถึงจะเป็นเรื่อง นอกจากนี้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อถามว่า เป็นการหาเสียงล่วงหน้าหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าเขาทำอย่างนั้น อย่าไปกล่าวหาเขา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาล ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี นาย บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงมหาดไทย กลุ่มเพื่อนเนวิน ได้เดินเข้าไปทักนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมชี้แจงกรณีแจกเงินให้กับชาวบ้านพร้อมนามบัตรว่า ทำถูกต้องหมด เป็นการแจกเงิน และข้าวของช่วยเหลือคนจน ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยแจกเงินพร้อมแนบนามบัตรด้วย นายอภิสิทธิ์จึงถามถึงภรรยา นายบุญจงจึงชี้แจงว่า ภรรยาของตนก็มาช่วยแจกของตามปกติ

รัฐธรรมนูญมาตรา 266

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

(2) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือ

(3) การให้ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมืองพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่ง

หน้า 1

Comments are closed.