ระวังนิ้วจะขาด

วิสุทธิ์ ตูน  20  เมษายน  2552

มติชนรายวัน  20  เมษายน  2552

นิรโทษกรรมคดีการเมือง “มาร์ค”เปิดทาง หวังแก้ปัญหาความขัดแย้ง
ดึงทุกพรรคร่วมมือปฏิรูป ส่งปมรื้อรธน.ใน2สัปดาห์ พท.จี้ยุบ-ตั้งรบ.เฉพาะกาล
“มาร์ค”ส่งสัญญาณแก้ รธน. นิรโทษกรรมคดีการเมือง ให้ทุกพรรคสรุปปัญหาใน 2 สัปดาห์ เดินหน้าฟื้นการท่องเที่ยว กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ปัดข้อหา”รบ.-ทหาร”สองมาตรฐาน เร่งดำเนินคดี”เหลือง-แดง”อย่างเท่าเทียม ให้ ผบ.ตร.ออกทีวีพูลชี้แจงความคืบหน้า 20 เม.ย. “เพื่อไทย”เล็งเสนอที่ประชุมสภา 2 ข้อ ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลแก้รัฐธรรมนูญที่มีปัญหา

@ “มาร์ค”ส่งสัญญาณนิรโทษฯ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณเรื่องการนิรโทษกรรม แต่ไม่รวมความผิดทางอาญา และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มองว่าไม่เป็นกลางและไม่เป็นประชาธิปไตย เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม โดยให้ทุกพรรคการเมืองสรุปปัญหาภายใน 2 สัปดาห์ จากนั้นนำมาขอฉันทามติจากสังคม

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์” ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 เมื่อวันที่ 19 เมษายนว่า ก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวาย ตนและรัฐบาลได้เริ่มกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขกฎหมายหรือปฏิรูปทางการเมือง และได้เสนอให้มีคนกลาง แต่ยังไม่ได้รับการขานรับจากฝ่ายค้าน ซึ่งอาจระแวงเรื่องความไม่เป็นกลาง ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งหลักจะให้ทุกพรรคการเมืองไปสรุปปัญหาในรัฐธรรมนูญ ความไม่เป็นกลางและไม่เป็นประชาธิปไตยมีประเด็นใด ให้เวลารวบรวม 2 สัปดาห์ ก่อนนำมาพิจาณาเพื่อขอฉันทามติจากสังคมถึงวิธีแก้ไขต่อไป เชื่อไม่ใช้เวลามากเกินไป

“แม้แต่ในประเด็นที่มีการพูดถึงว่าความผิดทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม สมควรจะได้รับการแก้ไขหรือไม่ ตรงนี้ผมก็เปิดใจกว้างพร้อมที่จะรับฟัง แต่ผมขอย้ำอีกครั้งว่าเราต้องแยกความผิดทางการเมืองออกจากความผิดทางอาญา ความผิดทางอาญา เช่น การก่อการจลาจล การยุยงปลุกปั่นที่อยู่นอกเหนือจุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ รวมถึงความผิดอื่นๆ เช่น การใช้อำนาจรัฐไปในทางที่ไม่ถูกต้อง การทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นต้น เหล่านี้ต้องแยกออกมา ไม่ควรนำมารวมกัน เพราะว่าในส่วนหลังนี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด” นายอภิสิทธิ์กล่าว

@ เดินหน้าทำบ้านเมืองสงบสุข

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงเหตุการณ์ความวุ่นวายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตอนหนึ่ง ตั้งแต่กลุ่มม็อบบุกล้มการประชุมผู้นำอาเซียนและประเทศคู่เจรจา หรืออาเซียน +3 +6 จนต้องเลื่อนออก ไปและได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรง เพราะมีการ ยกระดับการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธมาเป็นการปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รวมถึงแยกต่างๆ ใน กทม. เพื่อให้เกิดการจลาจลและสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ในวันที่ 14 เมษายน

“มีหลายคนถามผมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับผมนั้นผมรู้สึกอย่างไร ผมก็บอกว่าผมก็เป็นคนคนหนึ่งเป็นมนุษย์ธรรมดา ความรู้สึกก็ต้องมี ใครที่ผ่านเหตุการณ์ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เหมือนผมก็ต้องมีความรู้สึก แต่สิ่งที่ผมใช้ในการทำหน้าที่ผมคือ ต้องแยกและถอดความรู้สึกส่วนตัวทั้งหลายออกไป และสวมหมวกเพียงแค่การดำรงตำแหน่งหน้าที่ในการดูแลประชาชนอย่างเสมอภาคให้บ้านเมืองสงบสุขและเดินไปข้างหน้าได้ ถ้าประชาชนไม่ว่าจะคิดอ่านทางการเมืองอย่างไร ถ้าทำได้อย่างนี้จะเป็นหนทางที่นำความสงบสุขกลับคืนสู่บ้านเมืองอย่างแท้จริง” นายอภิสิทธิ์กล่าว

@ กระตุ้นท่องเที่ยว-เร่งดำเนินคดี

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า รัฐบาลจะถือการฟื้นฟูการท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ และจะเสนอมาตรการต่างๆ เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว รวมถึงได้ชี้แจงกับนักธุรกิจและผู้ประกอบการท่องเที่ยวแล้ว ซึ่งทุกฝ่ายก็เข้าใจถึงเหตุผลการ คง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ นอกจากนี้ยังพิจารณาถึงมาตรการการชุมนุมที่อาจจะออกกฎหมายว่าด้วยการชุมนุม

“รัฐบาลทราบดีว่าประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล อาจจะมีเรื่องค้างคาใจและอาจจะเห็นว่ามีการดำเนินการสองมาตรฐาน โดยอาจเปรียบเทียบการชุมนุมปีนี้กับปีที่แล้ว ต้องขอบอกว่ารัฐบาลไม่มีสองมาตรฐาน โดยเฉพาะการทำงานของกองทัพกับรัฐบาลภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.ก. ที่ต้องยืนยันว่าทหารไม่ได้เลือกข้าง และยืนยันจะสะสางทุกคดีอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าคดีจะเกิดขึ้นในช่วงที่เป็นรัฐบาลหรือไม่ โดยได้กำชับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ให้ดำเนินคดีโดยด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงที่นายอภิสิทธิ์เดินทางมายังตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 08.45 น. เพื่อเตรียมตัวจัดรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่มารออยู่ก่อนแล้วได้เอ่ยทักขึ้นว่า “เมื่อคืนหลับสบายดีหรือไม่” ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้หยุดคิดพักหนึ่ง ก่อนตอบว่า “ครับๆ สบายดี”

@ ขอบคุณ”ผบ.เหล่าทัพ”ที่ร่วมมือ

ต่อมา เวลา 10.00 น. นายอภิสิทธิ์ได้เรียกประชุมกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (กอฉ.) ที่ตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อประเมินสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองล่าสุด โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายสุเทพ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการกองทัพไทย ในฐานะผู้อำนวยการ กอฉ. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) พล.ร.อ. กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสนาธิการทหารบก ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม 1 ชั่วโมง 30 นาที นายอภิสิทธิ์ และ พล.ต.อ.พัชรวาทได้เดินทางกลับออกไปก่อน คงเหลือเพียงการประชุมกลุ่มย่อยของฝ่ายทหารเป็นเวลา 30 นาทีเท่านั้น

นายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายกฯได้ขอบคุณผู้บัญชาการ (ผบ.) เหล่าทัพทุกคน ที่ร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติหน้าที่ แต่แสดงความกังวลกรณีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ จึงกำชับให้ดูแลเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่ได้รับบาดเจ็บอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ยังกำชับให้ผู้เกี่ยวข้องชี้แจงข้อกล่าวที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงให้สาธารณชนรับทราบด้วย

@ ประเมินแล้วยังไม่เลิก”ฉุกเฉิน”

นายปณิธานกล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังหารือเรื่องห้วงเวลาที่เหมาะสมในการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หากสถาน การณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลายก็จะประกาศให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะพิจารณาในหลายประเด็นคือ เรื่องความปลอดภัยของผู้นำ และ ครม. เรื่องความเคลื่อนไหวทั้งในและต่างประเทศ และเรื่องแนวโน้มในการชุมชน แม้ขณะนี้ปัจจัยต่างๆ จะคลี่คลายลงมาก มีแนวโน้มเป็นบวก แต่ต้องขอเวลาประเมินอีกระยะหนึ่ง เพราะต้องยอมรับว่ายังมีความพยายามเคลื่อนไหวปลุกระดมประชาชนในหลายพื้นที่ เช่น สนามหลวง จึงมีความจำเป็นต้องคงกองกำลังทหารและตำรวจบางส่วนไว้ตามจุดสำคัญๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ ยังมีข่าวเรื่องการลอบสังหารผู้นำอยู่หรือไม่ นายปณิธานกล่าวว่า ถือว่าแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังไม่สามารถไว้ใจได้ การรักษาความปลอดภัยของนายกฯ ยังเข้มงวดอยู่ เพื่อให้สถานการณ์คืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ทั้งนี้ หากใครรู้สึกว่าไม่ได้รับความปลอดภัยก็สามารถแจ้งข้อมูลมาที่นายสุเทพ ซึ่งที่ผ่านมานักเคลื่อนไหวทางการเมืองก็เริ่มแจ้งมาแล้ว

@ ผบ.ตร.ออกทีวีพูลแจงทุกคดี

นายปณิธานกล่าวต่อว่า สำหรับความเคลื่อน ไหวในต่างประเทศจะออกมาในลักษณะการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนกับสื่อ ซึ่งรัฐบาลต้องชี้แจงอย่างเป็นระบบต่อไป รวมถึงการติดตามความเคลื่อนไหวในการเดินทางออกนอกประเทศของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงต้องเฝ้าระวัง บางคนเข้าใจว่าเดินทางออกไปแล้ว ส่วนจะเป็นใครอย่างไรนั้น เดินทางออกนอกประเทศเพื่อวัตถุประสงค์ใดนั้น ผบ.ตร.จะแถลงรายละเอียดให้ทราบผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยในช่วงบ่ายวันที่ 20 เมษายน โดยเล่าถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดีความต่างๆ เรื่องการจับกุมบุคคลหลายกลุ่ม ไม่เฉพาะผู้ก่อความไม่สงบในรอบ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาเท่านั้น ตลอดจนการได้รับผลกระทบของบางสื่อจากการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

เมื่อถามว่า กอฉ.ขานรับข้อเสนอเรื่องการเปิดเจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามข้อเสนอของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน นายปณิธานกล่าวว่า ขณะนี้มีการพิจารณาข้อเสนอหลายข้อ ทั้งด้านความปลอดภัยและด้านการเมือง ซึ่งในส่วนของพรรคการเมือง นายกรัฐมนตรีจะชี้แจงในการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 22-23 เมษายนอีกครั้งหนึ่ง โดยวันนี้ไม่มีการหยิบยกเรื่องการเปิดเจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณขึ้นหารือในที่ประชุม

@ ทหารรายงานสถานการณ์ดีขึ้น

แหล่งข่าวนายทหารระดับสูง เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ประสงค์ให้ กอฉ.รายงานสถานการณ์ให้ทราบเป็นระยะ เพื่อต้องการทราบความเคลื่อน ไหวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม โดยนาย อภิสิทธิ์ระบุว่า หากสถานการณ์สงบ ก็อยากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทันที ซึ่งที่ประชุมยังมีการรายงานว่า ขณะนี้มีการชุมนุมของบางกลุ่มเล็กน้อยที่บริเวณสนามหลวง ซึ่งนายอภิสิทธิ์บอกว่า หากการชุมนุมปกติตามสิทธิก็อยากอะลุ้มอล่วยแม้จะอยู่ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่หากเป็นการชุมนุมเคลื่อนไหวที่มีการปลุกปั่น อยากให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพชี้แจงข้อเท็จจริงทันที ทั้งนี้ ผู้บัญชาการเหล่าทัพได้รายงานสถานการณ์ว่า แนวโน้มสถานการณ์น่าจะดีขึ้น ค่อนข้างเข้าสู่ภาวะปกติ และกำลังทหารเริ่มลดกำลังลง ไม่อยู่ในระดับสูงสุดเหมือนช่วงที่ผ่านมา

“นายกรัฐมนตรียังเป็นห่วงเรื่องสิทธิการทำงานของสื่อมวลชนในช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะถูกกระทบกระเทือน ดังนั้น ในวันที่ 20 เมษายน นายกรัฐมนตรีจะมีการออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจในช่วงเย็น เพื่อทำความเข้าใจและชี้แจงกับประชาชนถึงสถานการณ์อีกครั้ง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกังวลความสับสนของสังคมในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในช่วงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังนั้น ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงประชาชนเพื่อให้เข้าใจข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง” แหล่งข่าวกล่าว

@ วิปรบ.ยันไม่เปลี่ยนม้ากลางศึก

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิป รัฐบาล กล่าวถึงกรณีที่จะมีการเปิดประชุมสภาในวันที่ 22-23 เมษายน ว่า จะประชุมวิปทั้ง 3 ฝ่าย ในวันที่ 21 เมษายนนี้ การประชุมร่วมกันของรัฐสภาในคราวนี้ นอกจากรัฐบาลจะได้มีโอกาสที่จะรับฟังความคิดเห็นทั้งสองสภาอย่างกว้างขวาง ยังเปิดโอกาสให้อภิปรายกันอย่างเต็มที่ รัฐบาลก็มีโอกาสที่จะได้ชี้แจงต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และสิ่งที่สังคม ภาคเอกชน นักวิชาการ อยากเห็นว่ารัฐสภาได้หาทางออกให้กับประเทศในการคลี่ คลายสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิรูปทางการเมือง หรือเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“ระยะเวลาที่ผ่านมาคนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับความมั่นคงได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ หากแต่สถานการณ์การเมืองของประเทศในขณะนี้เกิดวิกฤตเป็นพิเศษ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยจะไม่มีการเปลี่ยนม้ากลางศึก รัฐบาลจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลสำคัญและประชาชน อยากเรียกร้องผู้ที่คิดร้ายต่อประเทศ ควรตระหนักถึงความสงบเรียบร้อยของประเทศและพี่น้องประชาชนด้วย เพราะกระทบต่อความมั่นคงก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ” นายชินวรณ์กล่าว

@ “ชุมพล”ขอ1.7หมื่นล.ฟื้นท่องเที่ยว

นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยถึงมาตรการเร่งการฟื้นฟูการท่องเที่ยวด้วยการประกาศให้การท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติว่า ในวันที่ 21 เมษายน จะเสนอแผนฟื้นฟูระยะที่ 2 ที่เคยเสนอเข้า ครม.แล้วนำไปปรับเปลี่ยน โดยแผนนี้จะเป็นการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในระยะเวลา 3 ปี ใช้งบประมาณ 17,000 ล้านบาท เพราะเรื่องการท่องเที่ยวถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากภายหลังการปิดสนามบินครั้งที่แล้วความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวยังไม่ดีขึ้น โดยก่อนการประชุม ครม. เวลา 08.30 น.นายกฯได้นัดหมายให้สภาอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการท่องเที่ยว ทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัดมาประชุม โดยอาจจะมีมาตรการเยียวยาถึงผลกระทบที่ได้รับจากเหตุการณ์การจลาจลครั้งที่ผ่านมาและข้อเสนอแนะสำหรับฟื้นฟูการท่องเที่ยวด้วย

@ เสนอแก้รธน.ไม่ให้พรรคอ่อนแอ

นายชุมพลยังกล่าวถึงการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมืองว่า ขณะนี้พรรคยังไม่ได้นัดประชุมหารือกันเพื่อพิจารณาในประเด็นที่เห็นว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 แต่เบื้องต้นเห็นว่ามีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา อาทิ มาตรา 68, 237 ที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรค ประเด็นที่ว่าด้วยที่มาของ ส.ส.ที่ควรกลับไปเหมือนกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เป็นเขตเดียวเบอร์เดียว ส่วนที่มาของ ส.ว.นั้นเห็นว่าควรกลับไปสู่การเลือกตั้งทั้งหมด นอกจากนี้ควรแก้ไขบทบัญญัติที่ว่าด้วยอำนาจของ ส.ส.ที่เปิดทางให้ ส.ส.มีอิสระตามรัฐธรรมนูญในการโหวตไม่ไว้วางใจหัวหน้าพรรคของตัวเองที่มองว่าเป็นการให้อำนาจ ส.ส.มากเกินไป ซึ่งประเด็นนี้ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอและส่งผลให้รัฐบาลอ่อนแอด้วย นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ว่าด้วยที่มาของคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระที่มองว่าให้อำนาจตุลาการเข้ามายุ่งเกี่ยวมากเกินไป ตรงนี้ต้องปรับปรุง เพราะทำให้มองว่าคณะกรรมการสรรหามีอำนาจเหนือวุฒิสภา ทั้งนี้ยังมองว่ามาตรา 190 ก็มีปัญหามาก

“กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรานี้ต้องรวบรวมประเด็นที่เห็นว่าไม่เป็นธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นประเด็นที่สร้างเสถียร ภาพของรัฐบาลและไม่ให้พรรคการเมืองอ่อนแอ จากนั้นก็โยนให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์จนตกผลึกแล้วนำมารวบรวมเพื่อเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน” นายชุมพลกล่าว

@ พท.สงสัย”กม.ฉุกเฉิน”ไม่ชอบ

นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มีหลายคนในพรรคตั้งข้อสงสัยถึงข้อกฎหมายการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เพราะมาตรา 5 ที่ระบุว่าเมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นและนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรใช้กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารร่วมกันป้องกัน แก้ไขปราบปราม ระงับยับยั้ง ฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อบังคับใช้ แต่ในกรณีที่ไม่อาจขอความเห็นชอบจาก ครม.ได้ทันท่วงที นายกรัฐมนตรีอาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปก่อน แล้วดำเนินการให้ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ภายใน 3 วัน หากมิได้ดำเนินการขอความเห็นชอบจาก ครม.ภายในเวลาที่กำหนด หรือ ครม.ไม่ให้ความเห็นชอบ ให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุดลง

นายพีรพันธุ์กล่าวว่า การที่นายอภิสิทธิ์ประกาศใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าว ไม่มีความชัดเจนว่าผ่านความเห็นชอบของ ครม.หรือไม่ ซึ่งหากไม่ผ่านการพิจารณาถือว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวต้องสิ้นสุดลงทันที ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการใดๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นการสลายมวลชนโดยการใช้กำลังทางทหารอย่างไม่ชอบ เพราะเหตุการณ์ไม่รุนแรงถึงขนาดนั้น ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะหยิบยกคำสั่งของศาลปกครองที่เคยวินิจฉัยกรณีสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ขึ้นมาเทียบเคียงกับกรณีดังกล่าวด้วยว่ารัฐบาลได้ดำเนินการตามขั้นตอนจากเบาไปหาหนักหรือไม่ กรณีนี้อาจเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วย

@ จี้ยุบสภา-ตั้งรบ.ชั่วคราวแก้รธน.

นายพีรพันธุ์กล่าวว่า ในวันที่ 20 เมษายน คณะทำงานของพรรคเพื่อไทยจะประชุมเพื่อวางกรอบและกำหนดตัวบุคคลที่จะอภิปราย รวมถึงเรียงลำดับเนื้อหาเพื่อไม่ให้การอภิปรายสะเปะสะปะ โดยเบื้องต้นแบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ 1.เหตุความขัดแย้งคืออะไร 2.การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีที่มาอย่างไร 3.การใช้กำลังทหารชอบธรรมหรือไม่ และ 4.ความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะผู้เสียชีวิตมีจำนวนเท่าใด ซึ่งขณะนี้พรรคเพื่อไทยอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานต่างๆ โดยจะเรียงลำดับเหตุการณ์ให้ถูกต้องชัดเจน ซึ่งอาจจะมีการฉายภาพและเสียงในที่ประชุมสภาด้วย

“เบื้องต้นพรรคเพื่อไทยจะเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลในการประชุมรัฐสภา 2 ข้อคือ 1.ให้ยุบสภา เพื่อจัดเลือกตั้งใหม่ และ 2.ตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้น ร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตราที่จำเป็นและเป็นปัญหาบางส่วน โดยใช้ระยะเวลา 1-2เดือน จากนั้นจัดการเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่แก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง” นายพีรพันธุ์กล่าว

หน้า 1