นิรโทษกรรม

วิสุทธิ์ ตูน  22  เมษายน  2552

วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11365 มติชนรายวัน

แกน”พธม.”ค้านนิรโทษ ลั่นต่อต้าน!

“ประสงค์”เตือน”อภิสิทธิ์” ทำลายกระบวน”ยุติธรรม” ระวังมิคสัญญี-ปูทางปฏิวัติ

พรรคร่วมรัฐบาลขานรับแก้ รธน. เห็นตรงกันรื้อปมตัดสิทธิคดียุบพรรค “เสนาะ”ซัดฉบับเผด็จการ ให้นิรโทษกรรมทั้งคณะปฏิวัติ-คดีอาญา พันธมิตรยันเคลื่อนไหวต้านแน่ ให้เร่งคดีจบก่อนค่อยปฏิรูป “ประสงค์”ซัดรัฐบาลคิดผิด เตือน”มาร์ค”อย่าพาสังคมเข้าสู่กลียุค ปูทางให้ทหารปฏิวัติ

@ “เพื่อแผ่นดิน”เดินหน้าแก้รธน.

พรรคร่วมรัฐบาลหนุนการนิรโทษกรรมนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิในคดียุบพรรค และ แก้รัฐธรรมนูญ ในมาตราที่มีปัญหา เพื่อ คลี่คลายปัญหาความแตกแยกในสังคม ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณผ่านรายการ “เชื่อมั่นประเทศกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา โดยนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน (พผ.) ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน ว่าจะนัดประชุมคณะกรรมการบริหารและ ส.ส.ของพรรคเพื่อแผ่นดินในเร็วๆ นี้ เพื่อหารือแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 เพราะเป็นตัวปัญหาที่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม จุดอ่อนที่เห็นอย่างชัดเจนคือ บทลงโทษจากการกระทำผิดในการเลือกตั้ง ซึ่งโยงมาถึงการยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคคนอื่น 5 ปี ทั้งที่ไม่รู้ อีโหน่อีเหน่ด้วย แต่ต้องมารับกรรมไปด้วย จึงถือเป็นบทลงโทษที่ไม่เป็นสากล มีประเทศไทยประเทศเดียวในโลกที่เขียนกฎหมายเช่นนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า กองทัพและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ออกมาแสดงความวิตกว่า หากมีการนิรโทษกรรมจะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พ้นผิดไปด้วย นายชาญชัยกล่าวว่า “โอ้ย ทำไมไปคิดอย่างนั้น เรื่องสิทธิทางการเมืองมันต้องเสมอภาคกันทั้งประเทศ ส่วนเรื่องส่วนตัวก็ว่ากันไป และเราต้องเปิดเวทีให้คนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดงเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดและแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย”

@ “ชาติไทยพัฒนา”เล็งรื้อ3มาตรา

ด้านนายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า พรรคยังไม่ได้หารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการนิรโทษกรรมความผิดทางการเมือง แต่มีแนวคิดกันอยู่แล้ว ทั้งนี้ ไม่อยากให้เรียกว่านิรโทษกรรม เพราะการนิรโทษกรรมคือ บุคคลนั้นๆ ต้องกระทำความผิด จึงมีการนิรโทษกรรมให้ แต่กรณีนี้ไม่มีการกระทำผิด จะไปนิรโทษกรรมได้อย่างไร แต่จะต้องคืนความเป็นธรรมให้ ซึ่งพรรคเห็นด้วยที่จะให้คืนความเป็นธรรมให้บรรดาคนที่ไม่ได้กระทำความผิด ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 พรรคเคยคุยกันในเบื้องต้นว่าควรแก้ไขใน 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 68 มาตรา 237 โดยแก้ไขเรื่องการยุบพรรค ให้เป็นโทษเฉพาะบุคคล ไม่ใช่ว่าทำผิดคนเดียวแล้วไปเผาบ้านเขา และมาตรา 190 เรื่องการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

@ “เติ้ง”วอน”มาร์ค-แม้ว”จูบปาก

นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวถึงแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้กระแสความต้องการแก้รัฐธรรมนูญมีมากขึ้น แต่เห็นว่าการแก้บางมาตรานั้น ต้องดูเรื่องความเหมาะสม ส่วนการนิรโทษกรรม ต้องแยกคดีอาญาจากการเมือง อย่าเอามาเกี่ยวข้องกัน เพราะใครไม่ได้ทำผิด แต่ไปบอกว่าผิด เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ส่วนการเรื่องปลดล็อคให้บ้านเลขที่ 111 และ 109 คน ด้วยการนิรโทษกรรมนั้น ต้องทำให้ชัดเจน ว่าขอบเขตอยู่ตรงไหน ยามนี้บ้านเมืองจะเอาเรื่องอย่างนี้ไปกดคงไม่ไหว ถ้าทำได้คงจะดีขึ้น ที่อยู่ใต้ดินก็คงอยู่บนดิน ไม่ใช่ให้แอบอยู่ข้างหลังเป็นนอมินี เป็นหุ่นเชิดไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า เสนอให้นายกรัฐมนตรีคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ นายบรรหารกล่าวว่า ความจริงตนกับ พ.ต.ท.ทักษิณนับถือกันแบบพี่น้อง แต่ตอนนี้ห่างมาพอสมควร ตอนนี้มีภาคเอกชนบางคนเสนอว่ารัฐบาลควรเจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเรื่องผู้เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ส่วนตัวขอวิงวอนทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ถ้าจูบปากกันไม่ได้ จูบแก้มกันก็ยังดี เมื่อถาม ว่าจะเป็นคนกลางในการเจรจาหรือไม่ นายบรรหารกล่าวว่า เชื่อไม่มีใครยอมรับตน และบารมีไม่ถึง ยังต่ำต้อย

@ “ภูมิใจไทย”เสนอ6ประเด็น

นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้หารือกับพรรคแล้วเห็นว่าจะต้องแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นจุดยืนเดิมของพรรคอยู่แล้วทั้งหมด 6 ประเด็นคือ 1.ส.ว.ควรจะมาจากเลือกตั้งทั้งหมด 2.ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งควรเป็นเขตเดียวเบอร์เดียว 3.แก้ไขมาตรา 190 4.แก้ไขมาตรา 237 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเฉพาะผู้ทุจริตเลือกตั้งเท่านั้น 5.แก้ไขเรื่องเกี่ยวกับกรณีข้อห้ามของ ส.ส.หรือส.ว.ไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาทิ เลขานุการรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี และ 6.มาตรา 266 การใช้ตำแหน่งหน้าที่ ส.ส. และ ส.ว. ตอนนี้เป็นข้อจำกัดในการทำงานของสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ซึ่งบางครั้ง ส.ส.ออกไปเยี่ยมประชาชนพบปัญหาความเดือดร้อน แต่ ส.ส.ไม่สามารถไปประสานงานกับข้าราชการได้

“สำหรับข้อเสนอการนิรโทษกรรมนั้น โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นการออกกฎหมายให้ประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ไม่ได้ออกเพื่อคนส่วนรวม อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับที่ประชุมพรรคจะมีความเห็นอย่างไร ผมพร้อมจะยอม รับ” นายบุญจงกล่าว

@ “เพื่อไทย”ให้ตัดทิ้งที่เกินปี”40

นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน คณะทำงานฝ่านกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะเสนอให้รัฐบาลนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นตัวเทียบเคียงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมาตราใดที่รัฐธรรมนูญ ปี 2550 มี แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่มี พรรคเพื่อไทยก็จะขอให้ตัดมาตราดังกล่าวทิ้งไป ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรา 309 นั้น หาก ตัดทิ้งไปก็จะไม่มีผลต่อคดีความของ พ.ต.ท. ทักษิณ

นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ยังยืนยันว่าจำเป็นต้องมีการแก้ไขแน่นอน และขอเสนอว่าประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่ควรแก้ไขคือมาตรา 237 เพื่อนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยว ข้องกับการกระทำความผิดกรณียุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ส่วนประเด็นอื่นที่จะต้องตามมาอาจต้องไปแก้ในอนาคต

“ขณะนี้ต้องทำให้เกิดความสมานฉันท์ โดยเร็วที่สุด การแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่าใช้รัฐธรรมนูญฉบับใดมาเป็นตัวตั้ง เพราะจะทำให้เกิดการโต้แย้ง ส่วนเรื่องนิรโทษกรรมต้องทำให้ชัดเจนว่าเป็นความผิดทางการเมือง อย่าไป เอารวมผิดกับเรื่องอาญา ไม่เช่นนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ประสบผลสำเร็จ” นายประสพ สุขกล่าว

@ “เสนาะ”แนะตัดทิ้งบทเฉพาะกาล

นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช แถลงภายหลังเปิดบ้านพักเมืองทองธานี ให้สมาชิกพรรค นักการเมือง และผู้ใกล้ชิด รดน้ำดำหัวเนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีต้องการที่จะให้แก้รัฐธรรมนูญ ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ขอให้ทำตามที่พูด เพราะจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น อย่ามัวแต่เอาชนะกันอย่างเดียว

“รัฐธรรมนูญ ปี 2550 เป็นฉบับที่นักวิชาการเขียนขึ้นโดยที่มีอคติต่อการเมือง ให้อำนาจองค์กรอิสระ ให้มีอำนาจตัดสินยุบพรรค ลิดรอนและตัดสิทธินักการเมือง ทั้งที่ทุกคนก็รู้ดีอยู่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ถ่ายทอดมาจากการปฏิวัติ เป็นรัฐธรรมนูญที่ถอดแบบมาจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เผด็จการ ไม่ชอบธรรม เป็นกบฏ จึงเห็นว่าควรที่จะยุติ การใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 หันกลับมาใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 และตัดบทเฉพาะกาลทิ้งทั้งหมด โดยเพิ่มบทเฉพาะกาล 2552 เข้าไปแทน โดยให้มีการนิรโทษกรรมให้หมด ทั้งคณะปฏิวัติ รวมถึงองค์กรอิสระที่ถูกตั้งขึ้น หรือแม้แต่คดีอาญาที่ไม่ชอบธรรม ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินของศาลเพียงศาลเดียว เพราะถือว่าไม่ชอบธรรม ควรจะให้มีการอุทธรณ์ ฎีกา” นายเสนาะกล่าว

@ ย้ำจุดยืนตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

เมื่อถามว่าพรรคประชาราชจะจับมือกับพรรคภูมิใจไทย เพื่อที่จะต่อรองตำแหน่งในรัฐบาลเพิ่มหรือไม่ นายเสนาะกล่าวว่า ข่าวลือคือข่าวที่พูดกันไป “ผมยังยืนว่า ผมอยู่กับฝ่ายที่ถูกต้อง ซ้ายถูกผมก็ไปซ้าย ขวาถูกผมก็ไปขวา ถ้าใครทำอะไรที่ไม่ถูก ให้อะไรผมก็ไม่เอา” เมื่อถามว่าหากมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในครั้งหน้าจะมีพรรคประชาราชหรือไม่ นายเสนาะกล่าวว่า “จะปรับแบบไหน ผมขอบอกว่า การได้มาซึ่งนายกฯที่ไม่ชอบ ถึงจะปรับอย่างไร ในเมื่อหัวไม่ชอบ แล้วหางจะชอบได้อย่างไร จึงต้องเอาหัวให้ชอบเสียก่อน”

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากนายกฯมาโดยมิชอบ นายอภิสิทธิ์ต้องลาออกหรือไม่ นายเสนาะ กล่าวว่า “เคยบอกไปแล้วว่า หากผมเป็นนายกฯ ผมจะลาออกโดยมีเงื่อนไขให้ยุติการชุมนุมของทุกสี และให้มีการตั้งรัฐบาลเพื่อชาติร่วมกัน ใช้พรรคประชาธิปัตย์เป็นเจ้าภาพ ก็ได้ หรือหากต้องการให้มีฝ่ายค้าน พรรคประชาราชที่มีอยู่ 9 คน ก็พร้อมที่จะเป็น ฝ่ายค้านให้”

@ โฆษก”แม้ว”ให้แก้รธน.ก่อน

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา โฆษกส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเดินทางมาไต่สวนพยานโจทก์ครั้งแรกคดีหวยบนดิน กล่าวถึงกรณีที่จะมีการแก้รัฐธรรมนูญ และมีการเสนอนิรโทษกรรมอดีตกรรมการบริหารพรรคซึ่งถูกยุบว่า การแก้เรื่องนิรโทษกรรม ไม่ใช่เรื่องหลักในการแก้ปัญหาสังคมไทย แต่ปัญหาเกิดจากโครงสร้างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่อำนาจอธิปไตยอยู่กับศาลและองค์กรอิสระ ไม่ได้อยู่กับประชาชนอย่างแท้จริงทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น สำหรับคนไทยต้องคิดว่าการอยู่ร่วมกันอย่างไรจึงจะมีความสุข ควรได้เท่าที่ควรได้ ไม่ตกอยู่ในมือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

“เวลานี้ควรเร่งเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่าการนิรโทษกรรม อีกทั้งต้องจัดสรรอำนาจให้ถูกต้อง แม้ผมจะเป็น 1 ใน 111 อดีตกรรมการบริหารไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิทาง การเมือง และจะได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรม แต่ผมเห็นว่าปัญหาบ้านเมืองสำคัญกว่า” นายพงศ์เทพกล่าว

@ “ชัย”อยากให้ลูก2คนพักผ่อน

นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าใครจะเป็นผู้เสนอประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ โดยขณะนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของ นพ.เหวง โตจิราการ ก็ยังค้างอยู่ในสภา แต่จะเสนอเข้ามาใหม่ก็ได้

“สำหรับลูกชาย 2 คน คือนายเนวิน กับนายศักดิ์สยาม ที่ถูกเพิกถอนสิทธินั้น ผมเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะต้องนิรโทษกรรม ไม่อยากให้ลูกเล่นการเมืองในเวลานี้ ปล่อยให้พักผ่อนอยู่กับบ้านไปก่อน และสุดท้ายขึ้นอยู่กับฟ้าดินว่าจะให้อยู่ต่อไปแบบนี้อีกกี่ปี และขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากในสภาว่าจะมีความเห็นเรื่องการนิรโทษกรรมไปในทางใด” นายชัยกล่าว

@ ทหารไม่ขัดออกกม.นิรโทษฯ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามผู้สื่อข่าว เรื่องเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมนักการเมืองคดียุบพรรคหรือไม่ว่า เป็นกลไกรัฐสภาว่าจะออกมาอย่างไร และต้องเป็นภาพรวมของทั้งประเทศ ทั้งนี้ ต้องแยกให้ได้ว่าคดีอาญาทุกอย่างต้องเดินไปตามศาล ไม่ใช่เรื่องของการเมือง

ด้าน พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การนิรโทษกรรมให้กับนักการเมืองเป็นเรื่องของรัฐบาลที่พยายามทำให้เกิดความสมานฉันท์เร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความสงบโดยเร็ว หากทำอย่างนี้แล้วคงจะทำให้พลิกสถานการณ์ไปได้ในระดับหนึ่ง เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่หากแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้นักการเมือง พล.อ.อภิชาตกล่าว ว่า เป็นความห่วงใยของประชาชน และส่วนราชการที่ดูแลอยู่ หากให้ฝ่ายการเมือง มาแก้ไข คงมีปัญหาในเรื่องที่จะทำให้เกิดผลประโยชน์ของฝ่ายการเมืองเป็นหลัก ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญ หากเปิดให้กว้างขึ้นหรือให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมก็น่าจะดี

@ พันธมิตรฮึ่มเคลื่อนต่อต้าน

นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตร กล่าวว่า พันธมิตรไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลเสนอแนวคิดนิรโทษกรรมคดีการเมือง เพราะพันธ มิตรต้องการให้คดีความต่างๆ ได้เสร็จสิ้นไปเสียก่อน อีกทั้งรัฐธรรมนูญก็ได้รับฉันทามติจากประชาชนส่วนใหญ่ หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องมีการทำประชามติเสียก่อน และการเสนอความคิดนี้ออกมาก็เพื่อให้อยู่เป็นรัฐบาลไปนานๆ จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาให้เกิดสันติอย่าง มีหลักการ หากรัฐบาลยังผลักดันแนวคิดนี้พันธมิตรก็คงต้องต่อต้านกันต่อไป ส่วนจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไรก็ต้องหารือในที่ประชุมแกนนำพันธมิตรก่อน เพราะเรื่องการนิรโทษกรรมให้นักการเมืองนั้นพันธมิตรก็ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านมาตั้งแต่แรกแล้ว

“รัฐบาลต้องเร่งรัดให้คดีความต่างๆ ให้เสร็จสิ้นเสียก่อนจึงค่อยมาปฏิรูปการเมือง หากจะปฏิรูปการเมืองก็ต้องแก้ในเรื่องอื่น ไม่ใช่มานิรโทษกรรมนักการเมืองจำนวน 220 คน ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไปแล้ว” นายสมศักดิ์กล่าว

@ “ประสงค์”ชี้คิดผิด-นำสู่ปฏิวัติ

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เปิดช่องให้สามารถแก้ไขได้ แต่ต้องตระหนักว่ารัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุดของประเทศ ดังนั้น การจะแก้ไขต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่แก้เพื่อปลดโซ่ตรวนให้นักการเมืองเพียงหยิบมือเดียวที่สุมหัวสมคบกันจะแก้ไขอยู่ในเวลานี้ ส่วนที่อ้างกันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการนิรโทษกรรมคืนสิทธิทางการเมืองให้กับนักการเมือง 220 คน จะเป็นทางออกไปสู่ความสมานฉันท์นั้น เป็นการเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นวันนี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องของนักการเมืองที่ติดโซ่ตรวน พยายามช่วงชิงอำนาจทางการเมือง และคนคนนั้นเป็นระดับถุงเงินถุงทอง

“ขอฝากไปยังนายอภิสิทธิ์และพรรค ประชาธิปัตย์ ถ้ายังดึงดันที่จะแก้รัฐธรรมนูญ โดยนักการเมือง จะเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ ในบ้านเมือง นายอภิสิทธิ์จะกลายเป็นคนที่ได้ ทำลายกระบวนการยุติธรรมอย่างน่าละอายที่สุด ไม่เคารพเหตุผล คำตัดสินของตุลาการ เป็นการสร้างตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับการเมืองไทย ต่อไปนักการเมืองที่ทำผิดกฎหมายก็รวมหัวกันออกกฎหมายมายกโทษความผิดให้ตัวเอง การแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นชนวนทำให้เกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต นายอภิสิทธิ์อย่าพาสังคมเดินเข้าสู่จุดนั้น ซึ่งอาจจะเป็นกลียุค หรือมิคสัญญี และสุดท้ายกลุ่มพลังฝ่ายความมั่นคงก็จะออกมาใช้อำนาจนอกระบบมายับยั้งเหตุการณ์อาจจะเป็นการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิด” น.ต.ประสงค์กล่าว

@ นักวิชาการให้คงตัดสิทธิ5ปี

นายทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การนิรโทษกรรมคดีการเมืองมีข้อ เสียคือ เป็นการไม่เคารพนิติรัฐ โดยการให้ประโยชน์ต่อคนที่ทำผิดต่อบ้านเมืองหลายครั้ง แต่ก็ถือเป็นสิ่งที่เคยทำตลอดเมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้น และขณะนี้ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ตลอดที่รัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี กรรมการ บริหารพรรคนั้นก็สามารถนิรโทษกรรมได้ แต่หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็น่าจะคงกฎหมายดังกล่าวไว้ เพื่อลดการซื้อสิทธิขายเสียง แต่อาจจะมีการภาคทัณฑ์ก่อนแล้วถึงค่อยเอาผิดในสถานหนัก

“ผมเห็นด้วยหากจะมีการนิรโทษกรรม และเหตุผลที่นายอภิสิทธิ์เสนอนั้นก็ถือว่าใจกว้างมาก ซึ่งปกติพรรคประชาธิปัตย์จะใจแคบต่อเรื่องเหล่านี้มาตลอด” นายทวีกล่าว

@ ปชป.ปฏิเสธช่วยพันธมิตร

นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอบโต้นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้า พรรคไทยรักไทย ที่ระบุว่ารัฐบาลเปิดทางแก้รัฐธรรมนูญและนิรโทษกรรม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มพันธมิตรว่า ไม่เป็นความจริง นายกรัฐมนตรีไม่มีเจตนาที่จะไปนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มพันธมิตร และกลุ่มพันธมิตรเองก็ไม่เคยออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลนิรโทษกรรมให้กับตัวเอง แต่กลุ่มพันธมิตรพร้อมที่จะเดินเข้าพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรมตลอดมา เพียงแต่กลุ่มคนของนายจาตุรนต์ หรือเจ้านายของนายจาตุรนต์เท่านั้นที่ยังคงดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและนิรโทษกรรมให้กับตัวเองไม่ต้องติดคุก ที่บอกว่ารัฐบาลต้องการกลบเกลื่อนการเข้าควบคุมการชุมนุมนั้น ก็ไม่เป็นความจริง เป็นการพูดเพื่อให้รัฐบาลเสียเครดิต สร้างข่าวบิดเบือนใส่ร้ายรัฐบาล

“นายจาตุรนต์ได้เสนอความเห็นหลายครั้งที่ทำตัวเป็นกูรูทางการเมือง เป็นนักประชา ธิปไตยตลอดเวลา แต่สุดท้ายตัวเองก็ตบะแตกที่สลัดคราบของนักประชาธิปไตยไปขึ้นเวทีของคนเสื้อแดง ที่ทำเนียบรัฐบาล และเป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนปลุกระดมสนับสนุนให้ประชาชนเข้าร่วมการก่อการจลาจลเมื่อวันที่ 13-14 เมษายนที่ผ่านมา พฤติกรรมของนายจาตุรนต์เป็นเรื่องที่พิสูจน์ให้เห็นธาตุแท้ว่า คุณเองเป็นนักประชาธิปไตยที่แท้จริงหรือไม่อย่างไรแล้ว” นายเทพไทกล่าว

หน้า 1