สปาฟา : การฝึกอบรมครูศิลปศึกษาที่เชียงใหม่

สปาฟา : การฝึกอบรมครูศิลปศึกษาที่เชียงใหม่

สปาฟา ( SPAFA ) คือศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ภายใต้องคืการรัฐมนตรีศึกษาธิการแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ SEAMEO ( Southeast Asian Ministers of Education Organization) เป็นหน่วยงานที่ต่อเนื่องจากแผนงานเดิม คือ ศูนย์วิจัยประยุกต์เกี่ยวกับโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ ARCAFA ( Applied Research Centre for Archaeology and Fine Arts ) ศูนย์นี้ได้รับการเสนอต่อการประชุมสภาองค์การรัฐมนตรีศึกษาธิการแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ SEAMEC     (Southeast Asian Ministers of Education Council) ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2514 และในปี พ.ศ. 2518 Seamec ได้รับรองแผนงาน ซึ่งกำหนดให้มีสำนักงาน ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา กิจกรรมของศูนย์ ฯ ในระยะแรกเป็นเพียงการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีเท่านั้น และการดำเนินงานนี้ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศกัมพูชา ลาว และเวียดนาม
ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 ในการประชุมสภา SEAMEC สภา ฯ มีมติว่ากิจกรรมทางโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ควรจะต้องดำเนินการต่อไปแต่ต้องปรับปรุงรูปแบบให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจัดตั้งโครงการว่าด้วยการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ขึ้น เรียกว่า SEAMEO Priject in Archaeology and Fine Arts มีชื่อย่อว่า SPAFA โดยประเทศไทยยินดีรับเป็นที่ตั้งประสานงาน ซึ่งตามรูปแบบโครงการจะประกอบด้วยหน่วยประสานงานและศูนย์ย่อย ซึ่งขณะนั้นมีหน่วยงานในประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เท่านั้น
ครั้นในปี พ.ศ. 2528 มีการประชุมสภา SEAMEC โครงการนี้จงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ (SEAMEO Regional Center for Archarology and Fine Arts) แต่ยังคงใช้ชื่อย่อเดิม คือ SPAFA ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพศูนย์ภูมิภาคแห่งใหม่นี้ โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 SPAFA จึงมีฐานะเป็นสถาบันระหว่างประเทศทางด้านโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ มีสมาชิก 6 ประเทศ คือ บรูไน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 มีสมาชิกเพิ่มอีก 3 ประเทศ คือ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม รวมเป็น 9 ประเทศ (สุภัทรดิศ : 2538)


สำหรับเงินทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของ SPAFA จะได้มาจากประเทศสมาชิกร่วมกันสนับสนุน สำนักงาน SPAFA แต่เดิมเป็นเพียงห้องเล็ก ๆ อยู่ที่ชั้น 5 ตึกดาราคาร ถนนสุขุมวิท เอกมัย ต่อมาได้ย้ายมาตั้งอยู่เลขที่ 81 / 1 ถนนศรีอยุธยา สามเสน เทเวศน์ กรุงเทพมหานคร ใกล้หอสมุดแห่งชาติ อาคารสำนักงานมีรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอาคารทรงปราสาทสูงลดหลั่นกันขึ้นไป 6  ชั้น ภายในอาคารประกอบด้วยห้องสมุด ห้องฝึกอบรม ห้องนิทรรศการห้องปฏิบัติการวิจัยโบราณคดี และสำนักงาน ฯลฯ โดยมีการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการจัดฝึกอบรม สัมมานา วิจัยและพัฒนา ห้องสมุดและการบริการข้อมูล ฯลฯ ปัจจุบันมี ดร.เรือง  เจริญชัย  เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ฯ
เมื่อระหว่างวันที่ 1-10 พฤษภาคม 2539 ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมครูศิลปะเพื่อพัฒนาหลักสูตรศิลปศึกษาในระดับมัธยมของประเทศในกลุ่มอาเซี่ยน ( Treachers ‘Training on Curniculum Development for Art Education in Southeast Asian Secondary Schools ) ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย โดยศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ SPAFA ร่วมมือกับสถาบันราชภัฏสวนดุสิตและสถาบันราชภัฏเชียงใหม่ พิธีเปิดการฝึกอบรมจัดขึ้นที่ห้องกาลา โรงแรมดุสิตพาเลส สถาบันราชภัฏสวนดุสิต และจัดการฝึกอบรมที่สถาบันราชภัฏเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ การฝึกอบรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมฝึกอบรมซึ่งเป็นข้าราชการจากประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน ดังนี้คือ จากประเทศกัมพูชา 2 คน จากประเทศลาว 2 คน ฟิลิปปินส์ 1 คน อินโดนีเซีย 2 คน มาเลเซีย 2 คน บรูไน 2 คน ประเทศไทย 5 คน และมีครูไทยจากกรมสามัญฯ เข้าร่วมสมทบด้วยอีก 16 คน รวมเป็น 32 คน วิทยากรที่ให้การอบรม มีวิทยากรชาวประเทศฟิลิปปินส์ 3 คน มาเลเซีย 1 คน ไทย 1 คน และวิทยากรชาวไทยเสริมเฉพาะในแต่ละวันอีก 2-3 คน นอกจากนั้นเป็นบุคลากรจาก SPAFA ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางด้านทัศนศิลป์ ชาวฟิลิปปินส์ 1 คน ผู้ประสานงานชาวไทยกับเจ้าหน้าที่ 3 คน คนขับรถ 1 คน รวมทั้งสิ้นกว่า 40 คน   จึงอาจกล่าวได้ว่าการฝึกอบรมครั้งนี้เป็นรายการใหญ่   ที่มีบุคลากรเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งทุกคนเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญทางด้านการศึกษาทั้งสิ้น
จุดมุ่งหมายในการฝึกอบรมครั้งนี้ ก็เพื่อศึกษาหลักสูตรศิลปศึกษาในระดับมัธยมของสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียน และปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอน เทคนิคการสอน วิธีการประเมินผลให้ทันสมัยยิ่งขึ้นโดยเฉพาะ กิจกรรมการเรียนการสอนศิลปะจะเน้นในเรื่องการอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าทางด้านวัฒนธรรมของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
การฝึกอบรมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตรงตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้เพราะผู้เข้ารับการฝึกอบรมและผู้ให้การฝึกอบรมมีความกระตือรือน้นและตั้งใจที่จะปฏิบัติภาระหน้าที่ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือทางด้านการศึกษาของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นอย่างดียิ่ง แต่อย่างไรก็ตามการฝึกอบรมดังกล่าวมีข้อสังเกตหลายประการดังนี้
1.  อาจกล่าวได้ว่าการฝึกอบรมครั้งนี้เป็นการฝึกอบรมของข้าราชการในระดับนานาชาติ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมและวิทยากรที่บรรยายล้วนแต่เป็นบุคคลสำคัญทางด้านการศึกษาของประเทศในกลุ่มอาเซียน แต่ปรากกว่าการจัดฝึกอบรม จัดในลักษณะประหยัดเกินไปโดยให้ทั้งผู้เข้ารับการฝึกอบรมและวิทยากรเดินทางด้วยรถปรับอากาศจากกรุงเทพ ฯ ไปจังหวัดเชียงใหม่ทั้งไปและกลับ โดยเฉพาะเที่ยวขึ้นเชียงใหม่นั้นเดินทางในเวลากลางคืน ซึ่งถือว่าเสี่ยงอันตรายมาก  และเนื่องจากฝนตกหนักเกือบตลอดเส้นทาง  จึงทำให้ทั้งวิทยากรและผู้เข้ารับการฝึกอบรมพากันนอนไม่หลับและหลังแข็งไปตาม ๆ กัน เหตุเพราะเป็นระยะทางที่ยาวไกลประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งเนื่องจากความหวาดเกรงเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างทาง ซึ่งความจริงแล้วการเดินทางที่มีระยะทางไกลเช่นนี้ควรจะจัดให้โดยสารโดยเครื่องบินหรือไม่ก็รถไฟตู้นอน เพราะจะสะดวกแก่ผู้เดินทางและเสี่ยงอันตรายน้อยกว่าการโดยสารรถยนต์ทางไกลที่เดินทางเวลากลางคืนและฝนตกหนัก ทั้งนี้ผู้จัดควรเห็นความสำคัญของทรัพยากรบุคคลให้มากกว่านี้
2.  เนื่องจากการจัดอย่างประหยัดดังกล่าว ทั้งวิทยากรและผู้เข้ารับการฝึกอบรมจึงต้องพักโรงแรมที่ถูกที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ และไม่ใช้ห้องประชุมของโรงแรม แต่ใช้ห้องประชุมของสถาบันราชภัฏเชียงใหม่ทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมและวิทยากรต้องมีกิจกรรมในการเดินไปยังสถานที่ฝึกอบรมทั้งเช้าและเย็นตลอดระยะเวลาการฝึกอบรม บางครั้งเป็นเวลาค่ำคืนและเนื่องจากที่พักเป็นโรงแรมที่ถูกที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ (คืนละ 500 บาท ต่อ 2 คน) การบริการทุก ๆ ด้าน  รวมทั้งการบริการอาหารของโรงแรมก็เลยค่อนข้างแย่ไปด้วย ภาพพจน์ของเจ้าภาพ (คือประเทศไทย) จึงถูกมองว่าเป็นการจัดที่ไม่ให้เกียรติแก่สมาชิก ทั้งนี้เพราะ SPAFA เป็นองค์กรระดับนานาชาติมีสมาชิกมาจากหลายประเทศ การรับรองที่เลือกเอาสิ่งที่ถูกที่สุด (ราคา) จึงเสมือนการมองว่าสมาชิกที่มารับการฝึกอบรมมีราคาถูกที่สุดด้วย เช่นกัน การถูกมองเช่นนี้ น่าจะทำให้สมาชิกมีความรู้สึกที่แปลก ๆ กับเจ้าภาพได้
3.  การออกภาคสนามเพื่อศึกษาดุงานทาง SPAFA ได้ขอความอนุเคราะห์ใช้รถของสถาบันราชภัฏเชียงใหม่ซึ่งก็คงไม่ต้องบรรยายว่าสภาพรถที่ได้รับความอนุเคราะห์นั้นมีสภาพอย่างไร ( งานระดับชาติอย่างนี้ทำไมต้องอาศัยรถของหน่วยงานอื่นด้วย )
4.  การฝึกอบรมครั้งนี้จุดมุ่งหมายคงเปลี่ยนมาเน้นในเรื่องปริมาณ เพราะนอกจากผู้ได้รับทุนฝึกอบรมแล้วจะมีครูจากโรงเรียนกรมสามัญ ฯ เข้าร่วมสมทบอีกจำนวนหนึ่ง ( ทราบมาว่ากรมสามัญฯจ่ายให้ SPAFA หัวละ 10,000 บาท ) ความจิงการที่ครูกรมสามัญฯเข้าร่วมฝึกอบรมครั้งนี้ด้วยน่าจะเป้นสิ่งดี แต่ก็ไม่ดีเพราะเป้าหมายเดิมของโปรแกรมไม่ได้เป็นเช่นนั้น การกระทำเช่นนี้เปรียบเสมือนการยิงนก 2 ตัว ด้วยกระสุนนัดเดียว ผู้จัดจะมองว่าเป็นการได้ประโยชน์คุ้มทุน เพราะลงทุนทีเดียวได้ทั้งงานระดับชาติอันเป็นภาระหน้าที่โดยตรงของตนอยู่แล้ว และได้กำไรจากการเอาผู้อื่นสมทบด้วยแต่ถ้ามองกันในระดับงานนานาชาติแล้ว สมาชิกจะมีความรู้สึกว่าเจ้าภาพเป็นคนเห็นแก่ได้การจัดฝึกอบรมให้กับกลุ่มสมาชิกถือว่าเป็นภาระงาน แต่การจับผู้อื่นสมทบด้วยกลายเป็นว่า เป็นการกระทำที่ไม่มีมารยาทคล้ายกับคนเห็นแก่ได้ เป็นการทำงานซ้อนงาน
5.  ในฐานะประเทศไทยเป็นสถานที่จัดการฝึกอบรม จึงควรจะมีข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยและสถานที่สำคัญต่าง ๆ ให้มาก ๆ โดยเฉพาะสถานที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ (ปรากฏว่าไม่มีเลย) เพราะเป็นการให้ข้อมูลพื้นฐานระดับประเทศ และจะเป็นโอกาสสำคัญที่จะให้ผู้อื่นได้รู้จักประเทศไทยในด้านดี อันจะมีประโยชน์ต่อการประชาสัมพันธ์ประเทศในโอกาสต่อไปด้วย
6.  งานระดับชาติอย่างนี้ ควรมีวิทยากรให้มากกว่านี้โดยเฉพาะวิทยากรท้องถิ่น เช่น จาก ม.เชียงใหม่ และหน่วยงานอื่น ๆ การใช้วิทยากรท้องถิ่นจะเป็นการแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างมากมาย แม้แต่ในระดับท้องถิ่นก็มีเป็นจำนวนมาก และอีกประการหนึ่งจะทำให้การฝึกอบรมมีความกว้างขวางและลุ่มลึกในเรื่องที่จัดมากขึ้น
7.  การฝึกอบรมที่มุ่งเน้นกิจกรรมการเรียนการสอนศิลปะ ที่คำนึงถึงระบบคุณค่าทางวัฒนธรรมของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจุดมุ่งหมายหนึ่งของการฝึกอบรมครั้งนี้ แต่ปรากฏว่ามีการพาไปชมสถานที่ทางศิลปวัฒนธรรมน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีสภาพแวดล้อมอันแสดงถึงการดำรงรักษาด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นอันมาก เช่น การดำเนินชีวิต ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี ฯลฯ ที่น่าประหลาดใจก็คือ แม้แต่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ ก็มิได้พาไปชมทำให้สงสัยว่าไปจัดฝึกอบรมที่จังหวัดเชียงใหม่ทำไม
8.  สิ่งที่น่าละอายที่สุดดูเหมือนจะเป็นเสื้อยืดที่ทาง SPAFA แจกให้แก่สมาชิกคนละ 1 ตัว เป็นเสื้อยืดคอกลมสีขาวที่บริเวณอกด้านซ้ายพิมพ์เป็นรูปดอกไม้และคำว่า ART ด้วยสียางทึบ ตอนใต้เป็นเครื่องหมาย SPAFA เป็นเสื้อยืดที่สวยงามทีเดียว แต่ถ้าสังเกตให้ดีรูปดอกไม้นั้นพิมพ์ทับอยู่บนเครื่องหมายของฟิล์มยี่ห้อหนึ่ง เห็นแล้วพูดไม่ออกจริง ๆ
9.  การจัดครั้งนี้ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพแต่ไม่ทราบว่า เพราะเหตุใดการจัดจึงขาดลักษณะของความเป็นไทยไป ในหลาย ๆ ประการ ดังนี้
9.1  คนไทยมีนิสัยในการต้อนรับขับสู้ผู้มาเยือนอย่างให้เกียรติและทุ่มเท แต่การจัดในลักษณะที่เป็นนานาชาติ ( แบบประหยัด ) เช่นนี้ ขาดลักษณะความเป็นไทยในด้านนี้ไป ทำให้เกียรติภูมิของชาติสูญเสียไปเป็นอันมาก
9.2  การพาผู้เข้าอบรมไปทัศนศึกษา ผู้จัดขายเข้าใจถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ ปรากฏว่า เมื่อฝ่ายจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีความสำคัญเป็นอันมากเพราะได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก ผู้จัดมิได้พาเข้าชม ทำให้ทั้งผู้เข้ารับการฝึกอบรมและวิทยากร ( โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ) ผิดหวังไปตาม ๆ กัน จะเปรียบก็เหมือนดังเช่น ถ้าผ่านไปเมืองเสียมเรียบประเทศกัมพูชา แต่ไม่แวะชมนครวัดหรือไปประเทศอินโดนีเซียแล้วไม่ได้ชมโบโรพุทธโธ    ซึ่งถือเสมือนว่ามิได้ไปประเทศนั้น ๆ เป็นต้น    เท่านั้นยังไม่พอ   เมื่อจัดทัศศึกษาที่เชียงใหม่ ยังไม่พาไปวัดพระสิงห์   ดอยสุเทพอันถือได้ว่าเป็นสถานที่สำคัญคู่กันกับจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย แต่พาไปดูวัดต้นเหว๋ง (วัดอิทราวาส)  ให้การมาประเทศไทยและจังหวัดเชียงใหม่ของผู้เข้าฝึกอบรมและวิทยากรขาดความหมายสำคัญไป
แต่อย่างไรก็ตาม  ก็เห็นจะต้องพูดถึงส่วนดีบ้าง  ที่ดีมาก ๆ ก็คือวิทยากรและผู้เข้ารับการอบรมมีความตั้งใจจริงในการปฏิบัติภาระหน้าที่ด้วยความขยันขันแข็ง อดทน ถึงแม้ว่าภาษาจะเป็นอุปสรรคสำคัญ แต่ทุกคนก็พยายามที่จะสื่อความหมายและถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ที่ตนเองมีอยู่แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันจนสามารถสร้างองค์ความรู้  และบรรยากาศของความร่วมมือที่ดีต่อกันได้อย่างแท้จริง  แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอเชียที่สืบสานวัฒนธรรม  และจิตวิญญาณตะวันออกที่มีรากเหง้าอย่างเดียวกัน  เมื่อคิดถึงสิ่งนี้แล้ว  ข้อบกพร่องที่กล่าวมาแต่ต้น  ก็คงเป็นแต่เพียงเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น

หนังสืออ้างอิง

สุภัทรดิศ  ดิศกลุ, มจ.  มรดกไทย.  กรุงเทพธุรกิจ, 2538.