สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

makass

makasmaka

จิปาถะ
สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
1
“ตอนนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศ เล่าเรื่องนี้คั่นไปก่อนนะ ถากถาง”
“เรื่องอะไรครับ อาจารย์”
“เรื่องสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หรือไตรตรึงษ์”
“มันคืออะไรครับ” ถากถาง สงสัย
“สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นสวรรค์ชั้นที่ 2 แห่งสวรรค์ 6 ชั้น ตามเรื่องไตรภูมิ มีพระอินทร์หรือท้างสักกะเทวราชเป็นเทพปกครอง (บาลีว่า เตตฺตึส เขียนตามรูปสันสกฤต เป็น ตรัยตรึงศ์ หรือเพี้ยนเป็น ไตรตรึงษ์ (ไตรตรึงษ์ แปลว่า 33) เป็นแดนที่คนทำบุญร่วมกันไปเกิด มีเรื่องตามอรรถกถาอธิบายว่า มีคณะผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมคณะหนึ่ง จำนวน 33 คน มีมฆมานพ เป็นผู้นำ ได้ร่วมกันทำประโยชน์ต่อสังคม เช่น ทำถนน สร้างสะพาน ขุดสระน้ำ ฯลฯ เมื่อตายได้ไปเกิดบนสวรรค์ด้วยกัน มฆมานพเป็นท้าวสักกะ คือ พระอินทร์ พระนามของพระอินทร์อีกนามหนึ่ง คือ มฆวา ภาษาไทยเขียน มฆวัน หรือ มัฆวาน” (ป.อ. ปยุตฺโต : 93)
“เล่าเรื่องแบบนี้ ค่อยยังชั่วหน่อยครับ อาจารย์”
2
“ที่นี้ เมื่อพูดถึง มัฆวาน ก็อดนึกถึง สะพานมัฆวานรังสรรค์ สะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ข้างกระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานครไม่ได้ สะพานนี้เมื่อตอนที่บ้านเมืองมีปัญหา จะเป็นบริเวณหนึ่งที่ทั้งฝ่าย กปปส. หรือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่ สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กับเจ้าหน้าตำรวจตั้งป้อมเผชิญหน้ากันอยู่ ผมได้ไปเดินเตร็ดเตร่แถวนั้นแทบทุกวัน
3
สะพานนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพร้อมกับถนนราช ดำเนินจากสนามหลวงถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม ออกแบบโดย นายการ์โล อัลเลกรี นายช่างชาวอิตาลี อิทธิพลยุโรป โครงสร้างสะพานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เสาที่มุมสะพานทั้งสี่เสาประดับด้วยหินอ่อน ยอดเสาเป็นโคมไฟสำริด ผนังเชิงลาดสะพานประดับด้วยหินอ่อน ราวสะพานเป็นเหล็กหล่อ ลายพันธุ์พฤกษา ตรงกลางมีดวงตรารูปช้างเอราวัณ ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี
พระบาทเสด็จพระจุลจอมเกล้าได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 และพระราชทานนามให้ถนนสายนี้ว่า ถนนราชดำเนิน (เส้นทางดำเนินของพระราชา และ สะพานมัฆวานรังสรรค์ สะพานที่พระอินทร์ทรงสร้าง” ผม อธิบาย
“อ๋อ อย่างนี้นี่เอง เป็นความรู้นะเนียะ” ถากถางชื่นชม
4
“แล้วน้ำพุรูปดอกลำโพงละ ใครออกแบบและสร้างตั้งแต่เมื่อไร” จานจินตั้งคำถาม
“น้ำพุนี้สร้างหลังสะพานเกือบ 50 ปี รูปแบบจึงดูไม่ค่อยกลมกลืนกับสะพานสักเท่าไร”
“เห็นมีสะพานคู่ขนานอีก 2 สะพานด้วย มันคืออะไรครับ” ถากถางถาม
“อ๋อ ! สะพานคู่ขนานทั้ง 2 สะพานนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปัญหาจราจร บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินนอก เพื่อให้การจราจรเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสัมพันธ์กับบริเวณ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศโดยก่อสร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานเดิมโดยไม่ต้องย้าย น้ำพุ และให้มีระดับความสูงน้อยกว่าสะพานมัฆวานรังสรรค์ มีราวสะพานเป็นลายพันธุ์พฤกษาลักษณะคล้ายกับราวสะพานมัฆวานรังสรรค์ แต่ทำเป็นเหล็กดัด สะพานนี้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2537 แล้วเสร็จเปิดการจราจรในวันที่ 2 ธันวาคม 2537
กล่าวได้ว่า สะพานมัฆวานรังสรรค์ สะพานคู่ขนานและน้ำพุรูปดอกลำโพง เป็นสะพานหนึ่งในจำนวนหลายสะพานที่มีความงดงามของกรุงเทพมหานคร ผ่านไปแวะดูเล่นบ้างก็ได้นะครับ”
………..
พระพรหมคุณาภรณ์.(ป.อ. ปยุตฺโต).(2551).พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์.(12) กรุงเทพฯ; โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.