โอม มะ อะ อุ

ma ar u ma ar o

จิปาถะ
โอม มะ อะ อุ
คาถา มะ อะ อุ , อะ อุ มะ, อุ มะ อะ, อุ อะ มะ. เป็นคาถาเดียวกัน แต่ท่านเกจิอาจารย์จะเขียน เรียงไปตามลำดับ เช่น ขึ้นต้นด้วย มะ เป็น มะ อะ อุ ขึ้นต้นด้วยอักขระตัวต่อไป เป็น อ ะ มะ อุ ขึ้นต้นด้วยอักขระตัวต่อไป เป็น อุ อะ มะ หรือ เขียนแบบอนุโลม(เป็นไปตามลำดับ) คือ มะ อะ อุ หรือเขียนแบบปฏิโลม(ทวนกลับ) คือ อุ อะ มะ และ ทุกคาถาก็จะเป็นในลักษณะนี้หรือลักษณะอื่นๆอีกหลายลักษณะ ( ภาพประกอบ อักขระตัวบน อุ อักขระตัวซ้าย มะ อักขระตัวขวา อุ)
ส่วนการจารึกบนหลังเหรียญพระหรือบนผ้ายันต์ อาจจารึกเรียงกันไปแบบการเขียนหนังสือ คือจากซ้ายไปขวา หรืออาจจารึกจากขวาไปซ้าย บนมาล่าง ล่างขึ้นบน หรือจารึกตามช่องหรือมุมต่างๆ ซึ่งไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัว ดังนั้นเราจะต้องรู้คาถาและอ่านหาเอาว่าเป็นคาถาอะไรบ้าง
สำหรับ คาถา มะ อะ อุ มาจากคำว่า โอม (ฉ่ำ ทองคำวรรณ.2529 : 47-69. ) ปรากฏอยู่ในคาถาหัวใจพระสูตร ซึ่งจารึกบนแผ่นทองคำ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จารึกด้วยภาษาบาลี อักษรขอมสุโขทัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 ด้วยอักษรขอมสุโขทัย พบที่จังหวัดสุโขทัย ปัจจุบันจารึกแผ่นนี้ เก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กทม.
โอม ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายว่า “คำที่ประกอบด้วยเสียง 3 เสียง คือ อะ อุ มะ รวมกัน ข้างฝ่ายฮินดูหมายถึง พระเจ้าทั้ง 3 คือ อ หมายถึงพระศิวะ อุ หมายถึงพระวิษณุ ม หมายถึงพระพรหม; ข้างพระพุทธศาสนาเลียนเอามาใช้หมายถึง พระรัตนตรัย คือ อะ หมายถึง อรหํ (พระพุทธเจ้า) อุ หมายถึง อุตฺตมธมฺม (พระธรรมอันสูงสุด) มะ หมายถึง มหาสงฺฆ (พระสงฆ์) นับถือเป็นคําศักดิ์สิทธิ์, เป็นคำขึ้นต้นของการกล่าวมนตร์”
พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2548 ให้ความหมายว่า Aum ; Om : คำศักดิ์สิทธิ์ ใช้เป็นคำแรกของคัมภีร์ทั้งหลาย และใช้นำหน้าคำสวดสรรเสริ¬เทพเจ้าทั้งหลาย เช่น นม ศิวาย โอม นม นารายณราย หรือที่ใช้ในโองการแช่งน้ำว่า โอม ชัย ชัย ไขโสฬสพรหมญ¬าณบานเศรียรเกล้า เจ้าคลี่บัวทอง ผยองเหนือขุนห่าน ท่านรังก่อดินก่อฟ้าหน้าจตุรทิศ คำว่าโอม มาจากอักษร 3 ตัว คือ อะ อุ ม อักษร อะ กับ อุ เมื่อออกเสียงเร็วๆจะรวมเป็นเสียง โอ เมื่อผสมกับ ม ก็เกิดเสียง โอม ขึ้น อักษร 3 ตัวนี้ เดิมใช้หมายถึงไตรเพท คือ ฤคเวท สามเวท และ ยชุรเวท ต่อมาใช้หมายถึงมหาเทพ 3 แห่งตรีมูรติ คือ อะ หมายถึงพระวิษณุ อุ หมายถึงพระศิวะ และ มะ หมายถึงพระพรหม คำรวมว่า โอม นี้ มีชื่อว่า อุทคีถะ คัมภีร์ฉานโทคยอุปนิษัท กล่าวว่า คำ โอม หมายถึง คำพูดทั้งหมด หรือเป็นคำรวมของคำทั้งปวงเหมือนส่วนต่างๆของใบไม้รวมกันติดอยู่ที่ก้านใบฉะนั้น
โอม , โอมการ หรือเราเอามาใช้เป็น โองการ นี้ เป็นคำอุทาน มนุษย์เลียนคำนี้มาจากเสียงน้ำทะเล เสียงฟ้าร้อง เสียงลมพัด เป็นเสียงแรกที่มนุษย์รู้สึกว่าเป็นเครื่องแสดงความพิลึกมหึมา มนุษย์เข้าใจว่าเสียงโอมนั้นเป็นเสียงธรรมชาติ หรือเสียงพระเจ้าที่จะประสาทความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่โลก มนุษย์จึงเลียนเอาเสียงนี้มาใช้เริ่มต้นเวทมนตร์พึงแสดงความศักดิ์สิทธิ์ (วิจิตรวาทการ.2553 : 113)
คาถา มะ อะ อุ เป็นการถอดหัวใจพระรัตนตรัยอีกแบบหนึ่ง คือ มะ หมายถึงคุณแห่งพระพุทธเจ้า คือ มนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควาติ อะ หมายถึงคุณแห่งพระธรรมเจ้า คือ อกาลิโก เอหิปสฺสิโก อุ หมายถึง คุณแห่งพระสงฆ์ คือ อุชุปฏิปนฺโน สาวกสงฺโฆ ( สิระ อาสาวดีรส.2553 : 65)
ข้อมูลล้วนๆครับ น่าเบื่อหน่อย คนเขียนยังเบื่อเลย แต่นั่นแหละ อย่างน้อยก็ได้รู้ความหมายและที่มาของ โอม และ คาถา มะ อะ อุ ตามสมควร ครับ
…..
อ้างอิง
ฉ่ำ ทองคำวรรณ. (2529). “จารึกหัวใจคาถาพระสูตร” ใน จารึกในประเทศไทยเล่ม 5 : อักษร ธรรมและอักษรไทย พุทธศตวรรษที่ 19-24. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.
วิจิตรวาทการ,หลวง.(2553). ลัทธิโยคีและมายาศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : บริษัทสร้างสรรค์บุ๊คส์ จำกัด.
สิระ อาสาวดีรส.(2553).หัวใจแห่งพระคาถา ที่มาแห่งพุทธานุภาพ.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฟิลกูด.

Comments are closed.